เศรษฐกิจ

'ชัยธวัช' แนะ รบ.คิดแผนสำรอง 'เงินดิจิทัล' - 'หมอเลี้ยบ' ชี้เศรษฐกิจไทยอ่อนแอ เลือดไหลไม่หยุด ต้องอัดฉีด

โดย nattachat_c

15 พ.ย. 2566

65 views

วานนี้ (14 พ.ย.) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้หยิบยกการชี้แจงของ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรีต่อกระแสสังคมที่มีข้อห่วงกังวลในโครงการ Digital Wallet ดังนี้


โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ต่อข้อสังเกตว่าการใช้เงินในโครงการ Digital Wallet อาจจะขัดต่อข้อกฎหมายนั้น โดย นพ.พรหมินทร์ ชี้แจงว่า ได้มีการพิจารณาข้อจำกัดของกฎหมายและความเห็นต่างๆ ของนักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน จำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเมื่อเทียบกับประเทศข้างเคียง ประเทศไทยยังมีปัญหา ล้าหลัง ภาวะหนี้สิ้นของประชาชนเพิ่มขึ้นในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา จากร้อยละ 70 เป็นร้อยละ 90 ของ GDP จึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยหลังจากออกเป็นนโยบาย ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้พูดคุยหารือและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ อย่างรอบด้าน ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เนื่องจากสามารถขอฉันทามติผ่านกระบวนการในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถทำได้และเคยทำมาก่อนในหลายรัฐบาล


กรณีกระแสสังคมว่า รายละเอียดหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการไม่ตรงปกเหมือนตอนหาเสียงไว้ นพ.พรหมินทร์ ชี้แจงว่า รัฐบาลมีการปรับแก้ไขตามเสียงคัดค้านให้เหมาะสม ซึ่งโจทย์ของ Digital Wallet คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น ในบรรดาของกลุ่มประชาชนที่แบ่งตามรายได้ต่างๆ รายได้กลุ่มที่น้อยที่สุด 20% ที่น้อยที่สุด หรือกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำที่สุด เวลาที่รัฐบาลให้เงินไป กลุ่มดังกล่าวเกิดการใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 5 เท่า ขณะที่กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่ 3 อยู่ที่ประมาณ 3.5 – 4.5 เท่า ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่มีเงินเดือนมากกว่า 7 หมื่นบาท เมื่อรัฐบาลให้เงินไปแล้ว จะเกิดการใช้ประมาณ 1.2 เท่า


ดังนั้น จากข้อพิจารณา และข้อเสนอต่างๆ ทำให้ได้ตัดคนส่วนนี้ออกไป เพราะว่าเป็นส่วนที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อย อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ละทิ้ง โดยมีการหาวิธีที่คล้ายๆ กัน จึงมีการใช้ e-Refund ซึ่งกลุ่มนี้สามารถนำเงินของตนเองไปใช้จ่ายแล้วนำเงินมาคืนของหลวง จึงขอยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ละทิ้งกลุ่มใด แต่ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการและมาตรการให้เหมาะสมเพื่อตอบโจทย์แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจ


ส่วนกรณีที่มีข้อสังเกตถึงการกู้เงินของรัฐบาลนั้น เป็นการหาทางลง เนื่องจากเสี่ยงต่อกฎหมายต่าง ๆ หรือไม่ เลขาฯ ได้ชี้แจงว่า ข้อสังเกตดังกล่าวการหาทางลงเป็นวิธีคิดของคนที่เป็น Loser ของคนที่ปรารถนาความพ่ายแพ้ แต่คนที่อยากจะเอาชนะใช้ Winner attitude ซึ่งจะคล้ายกับการหา solution ร่วม หรือ “ทุกปัญหามีทางออก” ซึ่งรัฐบาลพยายามหาทางออกที่ดีที่สุดและต้องการทำให้โครงการนี้สำเร็จ เพราะเชื่อมั่นว่า ประชาชนกำลังรอโครงการนี้อยู่กว่า 60% – 70% รวมทั้งจะส่งผลให้เกิด micro investment โดยเงินจำนวนนี้จะนำไปใช้ในการลงทุน สอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจวิจัยของมหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งพบว่ากว่าร้อยละ 40.23 ระบุว่า จะนำเงินไปรวมกับครอบครัวเพื่อไปใช้จ่ายในการลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น เกษตรกรอาจนำเงินไปรวมในครอบครัวเพื่อใช้ทำมาหากินในภายภาคหน้า หรือหากมีจำนวน 2 – 3 คนในครอบครัว อาจเปิดร้านขายของในเมืองได้ จึงขอเน้นย้ำว่า รัฐบาลจะนำเงินเพื่อไปกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยไม่ใช่การใช้จ่ายอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการลงทุนในระยะยาวเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมากขึ้นด้วย


“โครงการ Digital Wallet ตอบโจทย์แก้ปัญหาเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว เชื่อมั่นว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจมหภาคฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ รัฐบาลเชื่อมั่นว่าทุกภาคส่วนมีความหวังดีกับประเทศ และขอชี้แจงว่า รัฐบาลได้ดำเนินโครงการนี้ผ่านการพิจารณา วิเคราะห์ ทุกปัจจัย ตัวแปร และศึกษาข้อมูลทางสถิติ และเชื่อมั่นว่ามีประชาชนจำนวนมากรอคอยเงินจากโครงการนี้เพื่อพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น” นายชัย กล่าว

-------------

วานนี้ (14 พ.ย.) ที่พรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ตนคิดว่าประเด็นหลักตอนนี้ เรามีความกังวลว่าการดำเนินนโยบายเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตอาจจะไม่สำเร็จ เพราะวิธีการที่จะเสนอการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ซึ่งทางพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะนางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ได้ให้ความเห็นไปแล้ว ว่าถ้ารัฐบาลเลือกทางนี้ อาจมีข้อกังวลว่ารัฐบาลอาจสะดุดขาตัวเอง และทำให้ไม่สามารถดำเนินนโยบายนี้ได้


เมื่อถามว่าหากผ่านเข้ามาถึงสภา มีการวางตัวคนอภิปรายเรื่องนี้หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ยังไม่ได้ไปถึงขั้นนั้น เพราะตอนนี้เข้าใจว่าอันดับแรกก่อนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเสนอได้ต้องฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน เราคงต้องดูขั้นนั้นก่อน ยอมรับว่าเป็นความกังวลของพรรคก้าวไกลเหมือนกันว่าร่าง พ.ร.บ.นี้ จะถูกล้มโดยขั้นตอนของกฤษฎีกาเลยด้วยซ้ำ


“ผมว่าทางรัฐบาลหากจะผลักดันนโยบายนี้ต่อต้องคิดแผนสำรองไว้” นายชัยธวัช กล่าว


เมื่อถามว่าคนในพรรคเพื่อไทยก็มีการตอบโต้ความเห็นของนางสาวศิริกัญญา ว่าพรรคก้าวไกลเคยสนับสนุนนั้น นายชัยธวัช กล่าวว่า ต้องเรียนว่าถ้าฟังเนื้อหาสาระของพรรคก้าวไกลอย่างวางอคติ ความเห็นทั้งหมดไม่ได้เป็นการขัดขวางนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เพียงแต่เราวิพากษ์วิจารณ์มีความเห็นท้วงติงว่าด้วยความเป็นห่วงว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ ไม่สามารถตอบโจทย์เป้าหมายในทางนโยบายได้อย่างจริง


เมื่อถามว่าหากผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา พรรคก้าวไกลพร้อมสนับสนุนหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ขอให้ถึงตอนนั้นก่อน

-------------
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพราะเป็นช่องทางที่สะอาดที่สุด ไม่มีแผนสองรองรับเพราะมั่นใจว่าสภาจะโหวตให้ผ่าน เนื่องจากรัฐบาลเป็นเสียงข้างมากในสภา ไม่คิดว่าจะถูกคว่ำ เรายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้องเสียงประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน สิ่งที่ประชาชนคาดหวังคือการทำตามที่ได้หาเสียงไว้ สมัยรัฐบาลก่อนหน้านี้ออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท ไม่ถูกตั้งคำถาม แต่พอรัฐบาลนี้จะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท กลับถูกจับตามองและตั้งคำถามมากมาย สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท หากไม่ถูกเบรกไว้ก่อนถนนคงไม่เป็นลูกรังอยู่แบบนี้ ดังนั้น โครงการดิจิทัลวอลเล็ตไหนๆ ใช้เงินเยอะแล้ว ก็ทำให้สะอาดไปเลย โครงการนี้จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 3.33 รอบ หนุนให้เศรษฐกิจในปี 2567 โตได้ 1-1.5% หรือคิดเป็น 1.7 ล้านล้านบาท หากจีดีพีโตตามที่คาดการณ์ไว้ จะทำให้ตลอดการบริหารงานของรัฐบาลกรอบหนี้สาธารณะกลับมาอยู่ที่ 61% ตามเดิม

-------------

ด้าน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุข้อความว่า


เศรษฐกิจไทยเหมือนคนไข้อ่อนแอที่เลือดกำลังไหลไม่หยุด


เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา นักวิชาการ 99 คนออกมาคัดค้านนโยบาย Digital Wallet โดยให้เหตุผลว่า เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวและคาดว่า จีดีพีจะขยายตัว 2.8% ในปีนี้และ 3.5% ในปีหน้า จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องกระตุ้นการบริโภคเพราะการบริโภคภายในประเทศขยายตัวถึง 7.8% สูงที่สุดในรอบ 20 ปี อีกทั้งการกระตุ้นการใช้จ่ายจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นหลังจากลดลงมาจาก 6.1% เหลือ 2.9%


นักวิชาการเหล่านี้เป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยบ้าง อดีตรัฐมนตรีบ้าง อาจารย์มหาวิทยาลัยบ้าง ทุกคนจึงเชื่อมั่นว่าข้อมูลที่ท่านเหล่านั้นให้มาถูกต้อง เป็นเหตุให้น่าเชื่อว่า ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบาย Digital Wallet อีก


คำถามที่ผุดขึ้นมาในใจของผม คือตัวเลขของนักวิชาการ 99 คนกับตัวเลขของ ดร.ชาติชัย พาราสุข นักเศรษฐศาสตร์และคอลัมนิสต์อิสระของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ที่ผมติดตามอ่านเป็นประจำนั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ผมควรจะเชื่อใครดี


ผมคิดว่า ตัวเลขก็คือตัวเลข ตัวเลขเศรษฐกิจย่อมฟ้องในตัวเองอยู่แล้ว ยกเว้นแต่ว่ามีใครตั้งใจปกปิดหรือดัดแปลงตัวเลขเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ ซึ่งคนคนนั้นต้องรับผิดชอบหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากการปกปิดตัวเลขเหล่านั้น เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540


จากการอ่านหลายบทความของ ดร.ชาติชัย ผมสรุปเป็นความกังวลของผมต่อเศรษฐกิจไทยได้อย่างน้อย 3 ประการคือ


1.กังวลว่า จีดีพีในปี 2566 จะไม่สามารถเติบโต 2.8% (ตามที่นักวิชาการ 99 คนบอก) แต่จะเติบโตต่ำกว่า 2% (ดร.ชาติชัยคาดการณ์ว่า 1.8%)


2.กังวลว่า ปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นในระบบ (Money supply growth) เพิ่มน้อยลงทุกเดือน จนทำให้สภาพคล่อง (Liquidity) ติดลบแล้วกว่า 1 ล้านล้านบาท ในเดือนสิงหาคม 2566 และจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง ถ้าเปรียบเศรษฐกิจเหมือนร่างกายคน สภาพคล่องก็เหมือนเลือดที่หล่อเลี้ยง ถ้าเสียเลือดมากขึ้นเรื่อยๆ ร่างกายจะช็อค และต้องมีการให้เลือดด่วน


3.กังวลว่า “หนี้ท่วมหัว ประชาชนกำลังเอาตัวไม่รอด” - คนส่วนใหญ่ของประเทศนี้เป็นหนี้เพราะกู้มาจับจ่ายใช้สอย แต่ในช่วงหลังตัวเลขการกู้ใหม่กลับลดลง เพราะไม่มีใครยอมปล่อยกู้ให้อีกแล้ว (แม้แต่เจ้าหนี้นอกระบบเอง) ถ้าเปรียบเหมือนคนป่วยไข้ ที่เคยหยิบยืมเงินเพื่อซื้ออาหารประทังชีวิตมาตลอด ตอนนี้ไม่มีใครยอมให้ยืมอีกแล้ว


ผมขอขยายความข้อกังวลทั้ง 3 ประการที่ได้จากตัวเลขซึ่ง ดร.ชาติชัย นำเสนอไว้ในบทความ ดังนี้


1. จีดีพีในปี 2566 จะเติบโตต่ำกว่า 2% (น้อยกว่าที่นักวิชาการ 99 คนคาดการณ์ไว้อย่างน้อย 0.8%)


ปลายปีที่แล้ว สำนักงานเศรษฐกิจการคลังของกระทรวงการคลัง คาดการณ์ว่า จีดีพีปี 2565 จะเติบโต 3.4% และจีดีพีปี 2566 จะเติบโต 3.8%


แต่ปรากฏว่า ในความเป็นจริง จีดีพีปี 2565 เติบโตเพียง 2.6% (น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 0.8%) ในขณะที่ปัจจุบัน สำนักงานเศรษฐกิจการคลังลดการคาดการณ์จีดีพีปี 2566 เหลือเติบโตเพียง 2.7% (น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อปลายปีที่แล้วถึง 1.1%) ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยก็คาดการณ์ว่า ปีนี้จีดีพีจะเติบโต 2.8%


แต่เมื่อย้อนดูข้อมูลการเติบโตของจีดีพีในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2566 พบว่า เติบโตเพียง 2.6% ในไตรมาสที่สองเติบโตเพียง 1.8% ส่วนไตรมาสที่สามซึ่งยังไม่มีการประกาศออกมา ดร.ชาติชัยคาดการณ์ว่าจะเติบโตเพียง 1.4%


ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จีดีพีรวมทั้งปี 2566 จะสามารถเติบโตถึง 2.8% ได้


ทำไม ดร.ชาติชัยถึงคาดการณ์ว่าจีดีพีในไตรมาสที่สามจะเติบโตเพียง 1.4% และจีดีพีปี 2566 จะเติบโตต่ำกว่า 2% (ตัวเลขที่ดร.ชาติชัยคาดการณ์คือ 1.8%)


เหตุผลอยู่ในความกังวลข้อที่ 2


2.ปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นในระบบ (Money supply growth) เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยลงทุกไตรมาส สภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity) ลดลงจนกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง


Milton Friedman กูรูทางเศรษฐศาสตร์เคยเสนอวิธีการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณเงินกับจีดีพีไว้ว่า ถ้ามีการเติบโตของปริมาณเงินสูง การเติบโตของจีดีพีก็จะสูงตาม แต่ถ้าการเติบโตของปริมาณเงินลดลง จีดีพีก็จะเติบโตน้อยลงด้วย


ในไตรมาสที่หนึ่งปี 2566 พบว่า ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้น 3.3% จีดีพีเติบโต 2.6%


ในไตรมาสที่สอง ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น 2.0% จีดีพีเติบโต 1.8%


เริ่มไตรมาสที่สาม

ในเดือนกรกฎาคม ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น 1.6%

ในเดือนสิงหาคม ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น 1.4%

ในเดือนกันยายน ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น 1.8%

ดังนั้น ดร.ชาติชัยจึงคาดการณ์ว่าจีดีพีในไตรมาสที่สามน่าจะเติบโตเพียง 1.4%


สำหรับไตรมาสที่สี่ พบว่า เพียงสามสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม มีปริมาณเงินไหลออกนอกประเทศอีก 77,300 ล้านบาท


ดังนั้น จึงน่าสงสัยว่า จะมีการเติบโตของจีดีพีอย่างก้าวกระโดดในไตรมาสที่สี่จนทำให้จีดีพีรวมในปี 2566 เติบโตถึง 2.8% (อย่างที่นักวิชาการ 99 คนบอกไว้) ได้อย่างไร


ใช่หรือไม่ว่า ในท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกเช่นนี้ การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย จะทำได้ถูกต้องต่อเมื่ออยู่ในภาวะปกติที่ไม่มีเงินไหลออกนอกประเทศอย่างผิดปกติเท่านั้น


เศรษฐกิจของไทยเริ่มพบปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity) ติดลบมาตั้งแต่กลางปี 2566


ในเดือนพฤษภาคม 2566 สภาพคล่องทางการเงินติดลบ 715,600 ล้านบาท จนธนาคารต้องรอการคืนเงินจากลูกหนี้เก่า กว่าจะสามารถปล่อยกู้ใหม่ได้


ในเดือนกรกฎาคม สภาพคล่องทางการเงินติดลบ 858,000 ล้านบาท


ในเดือนสิงหาคม สภาพคล่องทางการเงินติดลบเกิน 1,000,000 ล้านบาท


สภาพคล่องทางการเงินติดลบเนื่องจาก 2 สาเหตุ คือ


สาเหตุแรกคือ มีเงินไหลออกจากประเทศไทย


สาเหตุที่สองคือ ธนาคารไม่ปล่อยเงินกู้


และสาเหตุที่สองนี้เอง นำมาสู่ข้อกังวลที่ 3


3.หนี้ท่วมหัว ประชาชนกำลังเอาตัวไม่รอด


บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโร ให้ข้อมูลว่า หนี้ครัวเรือนซึ่งมีขนาด 90.6% ของจีดีพีนั้น ในจำนวนนี้มีอยู่ถึง 7.4% ของหนึ้ครัวเรือน เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไปแล้วตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2566


และหนี้ครัวเรือนอีก 480,000 ล้านบาทกำลังจะกลายเป็นเอ็นพีแอลในอีกสองสามเดือนข้างหน้า


หรือหมายความว่า 11% ของหนี้ครัวเรือนจะเป็นเอ็นพีแอล


มีตัวเลขที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีกว่า ในปี 2565 หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 139,000 ล้านบาทต่อไตรมาส แต่ในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2566 หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเพียง 88,000 ล้านบาทและมีเพียง 1,100 ล้านบาทเท่านั้นที่เป็นหนี้ซึ่งกู้จากธนาคาร


ความหมายของตัวเลขข้างบนคือ เกิดการก่อหนี้ครัวเรือนลดน้อยลงเพราะผู้ต้องการเงินเริ่มไม่สามารถขอกู้หนี้ยืมสินได้อีกแล้ว และมีผู้สามารถกู้จากธนาคารได้เพียง 1.2% ของเงินกู้เท่านั้น ที่เหลือต้องกู้หนี้นอกระบบ ซึ่งตอนนี้เจ้าหนี้นอกระบบก็เริ่มไม่ปล่อยกู้แล้วเช่นกัน


สรุป


ผมกังวลว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้จะไม่สามารถเอาตัวรอด และดำรงชีวิตเป็นปกติสุขอยู่ได้ โดยการบริหารประเทศด้วยแนวทางปกติ แบบเดิมๆ ที่ทำกันมา 9 ปีได้อีก


ผมกังวลว่า สภาพคล่องทางการเงินที่ติดลบมากขึ้น กำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นทุกที ถ้าไม่มีมาตรการเพิ่มปริมาณเงินด้วยการอัดฉีด “เงินใหม่” ก้อนโตเข้าหมุนเวียนในระบบ (ไม่ใช่แค่การเกลี่ยวงเงินงบประมาณเดิมที่เตรียมไว้อยู่แล้ว)


ผมกังวลว่า จีดีพีปี 2566 ที่อาจเติบโตต่ำกว่า 2% เป็นสัญญาณเตือนภัยวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังรออยู่ข้างหน้า ถ้าเรายังวางเฉย ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่


ข้อกังวลทั้ง 3 ประการนี้ ผมควรกังวลต่อไปหรือไม่ วานผู้รู้ทั้งหลายช่วยบอกทีว่า ผมควรเชื่อตัวเลขของใคร - นักวิชาการ 99 คน หรือ ดร.ชาติชัย พาราสุข


และที่สำคัญซึ่งผมอยากย้ำอีกครั้งคือ คนที่ตั้งใจปกปิดหรือบิดเบือนตัวเลขทางเศรษฐกิจต้องรับผิดชอบ หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นแล้วสร้างความเสียหายต่อประชาชนและประเทศชาติ

-----------

ด้าน ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ได้รายงานข่าวว่า


นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยถึงกรณีคณะกรรมการดิจิทัลวอลเลต ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังเป็นประธาน เตรียส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อมาใช้ในนโยบายดิจิทัลวอลเลต คนละ 10,000 บาท จำนวน 50 ล้านคนทำได้หรือไม่


นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยถึงกรณีคณะกรรมการดิจิทัลวอลเลต ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังเป็นประธาน เตรียส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อมาใช้ในนโยบายดิจิทัลวอลเลต คนละ 10,000 บาท จำนวน 50 ล้านคนทำได้หรือไม่


นายปกรณ์กล่าวว่า โดยคณะอนุฯ เสนอมา 3 ทางเลือก ได้แก่ หนึ่ง ใช้งบประมาณอย่างเดียว สอง ใช้งบประมาณกับเงินกู้ และ สาม ใช้เงินกู้ทั้งหมด ซึ่งการใช้เงินแต่ละประเภทมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน โดยคณะอนุฯ คิดว่าเป็นไปได้มากที่สุด คือ กู้เงินตรง ๆ 5 แสนล้านบาท


โดยการออกเป็น พ.ร.บ.เพื่อให้สภาพิจารณาด้วย เพราะถ้าออกเป็น พ.ร.ก.ก็เป็นการเร่งรัดจนเกินไป ใครทักท้วงไม่ได้ นายกรัฐมนตรีบอกว่าไม่อยากทำอย่างนั้นจึงอยากให้ออกเป็นพ.ร.บ.


นายปกรณ์กล่าวว่า สิ่งที่กฤษฎีกาต้องพิจารณา คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง หน้าที่ของครม.ที่เกี่ยวกับวินัยการเงินการคลัง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ กฎหมายวินัยการเงินการคลัง กฎหมายหนี้สาธารณะ กฎหมายเงินตรา เงินคงคลัง อะไรที่เกี่ยวข้องกับการเงินต้องพิจารณาทั้งหมดว่า มีเงื่อนไขอะไรที่จะทำได้ หรือ ทำไม่ได้บ้าง และทำได้ภายใต้เงื่อนไขอะไร


“รัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไรเลย เป็นแต่เพียงไอเดียของคณะอนุฯ ว่าจะกู้เงิน โดยจะใช้พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 แต่ยังไม่ได้มีมติอะไรออกมาชัดเจน ถ้ากฤษฎีกามีความเห็นอย่างไรก็ต้องนำเข้าคณะกรรมการฯชุดใหญ่อีกครั้งว่าทำได้หรือไม่ได้อย่างไร ซึ่งคณะกรรมการฯชุดใหญ่ก็คงต้องตัดสินใจอีกทีว่าจะเอาอย่างไรต่อ จะใช้ช่องทางไหน”นายปกรณ์กล่าวและว่า


“ไม่หนักใจ กฎหมายก็คือกฎหมาย เราตีความตรงไปตรงมา เราไม่ได้เป็นผู้กำหนดนโยบาย เพียงแต่ว่านโยบายเป็นอย่างนี้แล้วทำได้ตามกฎหมายหรือไม่”นายปกรณ์กล่าว


เมื่อถามว่า มีการเสนอข่าวว่า เลขาฯกฤษฎีกาไม่ทราบมาก่อนว่าจะออกเป็น พ.ร.บ. นายปกรณ์กล่าวว่า เราไม่รู้รัฐบาลจะเอาแนวทางไหน ซึ่งมีหลายแนวทาง แนวทางที่ใช้เงินงบประมาณปกติก็ไม่ต้องทำอะไร แต่พอจะต้องกู้เงิน ซึ่งมีอะไรต้องดูหลายอย่าง


“ผมก็เลยบอกว่า ขอรับมาดูก่อน เพื่อความชัวร์ว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และกฎหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ ท่านนายกฯบอกว่าใช้เวลาให้เต็มที่ ดูดี ๆ ท่านไม่ได้เร่ง ท่านนายกฯโทรศัพท์มาบอกกับผมเอง ว่า ดูให้ละเอียด ผมไม่อยากทำผิดกฎหมาย ว่าไงก็ว่าอย่างนั้น” นายปกรณ์กล่าวตบท้าย

-------------


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/jZNIaZ4uQDc














คุณอาจสนใจ

Related News