เศรษฐกิจ
เคาะแผนสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N1 ยอมขุดอุโมงค์ผ่าน ม.เกษตร-งามวงศ์วาน ดันค่าก่อสร้างพุ่ง 3.6 หมื่นล้าน
โดย paranee_s
4 ก.ย. 2566
742 views
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 เพื่อสรุปผลการคัดเลือกแนวสายทาง งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือส่วนทดแทนตอน N1 (ช่วงทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน-ถนนประเสริฐมนูกิจ)
โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจ ถึงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก ระยะทาง 11.3 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 16,960 ล้านบาท มีความพร้อมเริ่มก่อสร้างก่อน อยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่
ส่วนระยะที่ 2 ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 อยู่ในระหว่างศึกษา ความเหมาะสม ซึ่งก่อนหน้านี้ กทพ.ได้หารือร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในส่วนที่ได้รับผลกระทบเพื่อพิจารณาและแนวทางเลือกเส้นทางและรูปแบบก่อสร้างที่เหมาะสม และมีผลกระทบน้อยที่สุด
ทั้งนี้พบว่าแนวสายทางที่เป็นอุโมงค์ใต้ดินทั้งหมด เป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษศรีรัชตัดกับถนนงามวงศ์วาน ไปตามแนวถนนงามวงศ์วานผ่านแยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร เข้าถนนประเสริฐมนูกิจจนเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และเชื่อมต่อ E-W Corridor ระยะทาง 6.7 กม. ค่าลงทุนประมาณ 36,000 ล้านบาท
ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ จะดำเนินการศึกษาอย่างละเอียด เพื่อความชัดเจนในด้านค่าก่อสร้าง ค่าเวนคืน ผลตอบแทนในการลงทุน คาดว่าผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจะมากกว่า 17% โดยเบื้องต้น กทพ.จะลงทุนเอง โดยใช้รายได้มาดำเนินการ คาดว่าจะสรุปการศึกษาและรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเดือนพ.ค. 2567
จากนั้น เป็นขั้นตอนการเสนอครม.และขออนุมัติ รายงาน EIA คาดใช้เวลาประมาณ 1.5-2 ปี คาดประมูลในปี 2569 เริ่มก่อสร้างปี 2570 ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี เปิดบริการปี 2575 โดยคาดการณ์ปริมาณจราจรปีเปิดบริการที่ 7 หมื่นคัน/วัน ขณะที่สายทางมีความจุประมาณ 1.4 แสนคัน/วัน
สำหรับทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ใช้เวลาในการศึกษามากกว่า 25 ปี เนื่องจากมีการปรับแนวเส้นทางและรูปแบบให้เหมาะสมที่สุด โดยรูปแบบม.เกษตร ซึ่งจะเป็นอุโมงค์ทางด่วนสายแรกของประเทศที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 เมตร ซึ่งใหญ่ กว่าอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน โดยภายในจะมีอุโมงค์ใต้ดิน 2 ชั้น เป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร ซ้อนกันอยู่ ประเมินระดับความลึกที่สุด อยู่ที่ประมาณ 44 เมตร จากผิวดิน หรือเท่าๆ กับระดับความลึกอุโมงค์รถไฟฟ้าสีน้ำเงินช่วงลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา และมีจุดระบายอากาศ จุดอพยพ 4 จุด โดยประเมินค่าก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน สูงทางด่วนยกระดับประมาณ 5 เท่า
แท็กที่เกี่ยวข้อง