เศรษฐกิจ

วันนี้มีลุ้น! กกพ.เคาะลดค่าเอฟที ค่าไฟจาก 4.77 เหลือ 4.70 - ก.พลังงานแจง ไทยสำรองไฟแค่ 36%

โดย nattachat_c

21 เม.ย. 2566

857 views

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า วันที่ 21 เมษายนนี้ อนุกรรมการค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) จะพิจารณาเรื่องการปรับลดค่าไฟฟ้าเอฟที สำหรับงวดที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2566)


ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำหนังสือฉบับใหม่ ขอรับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้าแทนประชาชนจาก 5 งวด เป็น 6 งวด ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดที่ 2 ของปีนี้ ลดลงจาก 4.77 บาทต่อหน่วย เป็น 4.70 บาทต่อหน่วย โดยอนุกรรมการมีตัวแทนจากหลายส่วน อาทิ กระทรวงการคลังที่ดูแลเรื่องวินัยการเงินการคลังและหนี้สินร่วมอยู่ด้วย


ซึ่งในปัจจุบัน (งวด ม.ค. - เม.ย. 66) การคิดค่าไฟเป็นดังนี้ 

  • ภาคครัวเรือน 4.72 บาทต่อหน่วย
  • ภาคเอกชน 5.33 บาทต่อหน่วย

--------------

วานนี้ (20 เม.ย. 66) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงสถานการณ์ราคาค่าไฟแพงช่วงหน้าร้อน ว่า


ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนพบว่าแพงขึ้นในเดือน เม.ย. เนื่องจากเดือน เม.ย. เป็นเดือนที่ร้อนที่สุด ทำให้การใช้เครื่องปรับอากาศใช้กำลังไฟมากขึ้น ในการที่จะรักษาอุณหภูมิให้ปกติ


ยืนยันว่า ค่าไฟฟ้าไม่ได้มีการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากยังคงอยู่ในช่วงคิดอัตราค่าไฟฟ้าเดิมคือ 4.72 บาทต่อหน่วย สำหรับกลุ่มครัวเรือน (1 ม.ค. – 30 เม.ย.) ยังไม่มีการปรับอัตราค่าไฟฟ้า แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า ปัจจุบันอัตราค่าไฟฟ้าจะมีอัตราเริ่มต้น และปรับอัตราเพิ่มเป็นขั้นบันได


ประเภทผู้ใช้ครัวเรือน อัตราที่ยังไม่รวมค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) และภาษีมูลค่าเพิ่ม การคิดค่าไฟเริ่มจะอยู่ที่

  • 1-150 หน่วยอยู่ที่ 3.2484 บาทต่อหน่วย
  • 151-400 หน่วย อยู่ที่ 4.2218 บาทต่อหน่วย
  • เกิน 400 หน่วยอยู่ที่ 4.4217 บาทต่อหน่วย


ดังนั้น แม้ประชาชนจะไฟฟ้าเปิดเวลาเท่าเดิม แต่เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศทำงานหนัก จะกินไฟฟ้าหลายหน่วยเพิ่มมากขึ้น ทำให้อัตราเพิ่มสูงขึ้นจึงเกิดค่าไฟแพงขึ้น


สำหรับประเด็น อัตราการสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin : RM) ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นอีกสาเหตุทำให้ค่าไฟแพงนั้น ปัจจุบันสำรองไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ 36% ไม่ได้สูงถึง 50-60%


โดยตัวเลขดังกล่าว เป็นการนำค่ากำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญามาคำนวณ จึงไม่สะท้อนอัตราการสำรองไฟฟ้าแท้จริง เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล กลุ่มนี้ไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากปัจจัยช่วงเวลา ฤดูกาล ถูกคำนวณเป็นสำรองไฟฟ้า แต่ไม่ใช่สำรองไฟฟ้าที่แท้จริง

--------------



คุณอาจสนใจ