เศรษฐกิจ

ลุ้นข่าวดี! 8 มี.ค. เคาะค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. อาจลดลงต่ำกว่า 5 บาท/หน่วย

โดย petchpawee_k

7 มี.ค. 2566

108 views

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กกพ. วันที่ 8 มี.ค.นี้ จะมีการพิจารณาสรุปตัวเลขค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือน พ.ค.- ส.ค.นี้ ก่อนเปิดรับฟังความเห็น ซึ่งถือเป็นข่าวดีว่าค่าเอฟทีในงวดดังกล่าว มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปัจจัยต่างๆในการคำนวณต้นทุน เมื่อเทียบกับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.นี้ ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.


สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ (ธุรกิจ อุตสาหกรรม บริการ ฯลฯ) อยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วย จากการคำนวณเบื้องต้นค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ จะลดลงต่ำกว่า 5 บาทต่อหน่วย


สำหรับปัจจัยในการคำนวณค่าเอฟที ได้แก่ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น โดยงวดที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 37 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ แต่ขณะนี้ค่าเงินบาทแตะระดับ 34-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เป็นผลดีต่อค่าเอฟทีค่อนข้างมาก รวมไปถึงราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง แต่สิ่งสำคัญคือราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่เป็นตัวแปรสำคัญที่กระทบต่อค่าเอฟทีในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. ที่ผ่านมา ค่อนข้างมาก ทั้งในแง่ปริมาณการนำเข้าที่สูง เพื่อทดแทนปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลงและด้านราคา


ซึ่งงวดที่แล้ว ราคาแอลเอ็นจี อยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 10 เหรียญต่อล้านบีทียู และปริมาณนำเข้าลดต่ำลง เพราะมีการบริหารก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ป้อนให้กับการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น


ขณะที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้บริหารก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและเมียนมา โดยมีการรักษาระดับการผลิตให้กลับมาเท่ากับปริมาณเดิม ที่จัดหามาได้ เพราะก๊าซธรรมชาติในกลุ่มดังกล่าว มีราคาต่ำกว่าราคาแอลเอ็นจีที่เป็นราคาตลาดจร ล่าสุดสถานการณ์ต่างๆที่เริ่มคลี่คลาย ก็ต้องมองในแง่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่แบกรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิง 110,000 ล้านบาท กกพ.จึงต้องมองการแบ่งเบาภาระให้กับ กฟผ. เพื่อความเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิตกับผู้ใช้ไฟฟ้า


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/N6IoCsbTQlw

คุณอาจสนใจ