เศรษฐกิจ

เอกชนชี้ค่าไฟไทย ไม่ควรเกิน 5 บาท - พลังงานชี้ค่าไฟเวียดนามถูกกว่าไทย เพราะใช้ถ่านหินผลิต

โดย nattachat_c

31 ม.ค. 2566

40 views

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันที่ 31 มกราคมนี้ คณะทำงานค่าไฟฟ้าของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย, สมาคมธนาคารไทย) จะไปหารือร่วมกับนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือสำนักงานกกพ. รวมทั้งตัวแทนจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ประเด็นหาทางออกปัญหาค่าไฟแพง ซึ่งจะพิจารณาเจาะลึกร่วมกันในการคำนวณค่าไฟฟ้าแปรอัตโนมัติ หรือเอฟที ที่เหลือของปี 2566 หรือตั้งแต่พฤษภาคม-ธันวาคมนี้


โดย นายอิศเรศ กล่าวว่า กรณีค่าไฟงวดใหม่ หรือพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ที่ระบุว่า หากสมมติฐานต่างๆ ไม่เปลี่ยนแปลงจากที่คาดการณ์ในงวดก่อน อัตราค่าไฟฟ้าของประเทศ จะอยู่ในระดับ 5.24 บาทต่อหน่วยนั้น เอกชนมองว่า สูงเกินไป ค่าไฟงวดใหม่ไม่ควรเกิน 5 บาทต่อหน่วย


เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ในการคำนวณค่าไฟงวดใหม่ ปรับลดลงต่อเนื่อง อาทิ ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ปรับขึ้นเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากก่อนหน้านี้ 37 บาทต่อเหรีญสหรัฐ เหลือ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำให้ต้นทุนถูกลง รวมทั้งราคาก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจีเหลือ 20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จากที่ผ่านมาราคาเคยสูงถึง 50 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู
------------

วานนี้ (30 ม.ค. 66) นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน ชี้แจงกรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนบางประเทศว่า อัตราค่าไฟฟ้าแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน มีอัตราค่าไฟฟ้าหลากหลายตามประเภทผู้ใช้ ปริมาณการใช้ และช่วงเวลา โดยภาพรวมเป็นผลมาจากปัจจัยที่ต่างกัน อาทิ เรื่องความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน เสถียรภาพของระบบไฟฟ้า และทรัพยากรที่มีในประเทศ


ซึ่งส่งผลต่อประเภทของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ตลอดจนทิศทางนโยบายของภาครัฐโดยเฉพาะหากพิจารณาในมิติความน่าเชื่อถือและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของไทย ธนาคารโลก (World Bank) ได้สำรวจคุณภาพการบริการไฟฟ้าของกลุ่มอาเซียน ซึ่งหมายถึงค่าเฉลี่ยความถี่ที่ระบบเกิดไฟฟ้าขัดข้อง และค่าเฉลี่ยระยะเวลาที่ระบบเกิดไฟฟ้าขัดข้อ


โดยพบว่าประเทศไทยมีดัชนีคุณภาพการบริการไฟฟ้าอยู่ในลำดับต้นๆ และดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียนหลายเท่าตัว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมีเสถียรภาพและคุณภาพของระบบไฟฟ้า ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทำได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการตัดสินใจของนักลงทุน


นอกจากนี้ ในมิติด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสะอาด และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าตามแผนพลังงานชาติ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ.2065 ซึ่งถือเป็นวาระระดับสากลที่สอดรับกับทิศทางความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกที่มุ่งไปสู่การใช้เชื้อเพลิงสะอาด


ทั้งเรื่องคุณภาพของการบริการไฟฟ้า และสัดส่วนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ สำหรับกรณีของประเทศเวียดนาม ซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในขณะนี้ มีสัดส่วนหลักของการผลิตไฟฟ้ามาจากถ่านหิน ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยใช้อยู่เป็นหลัก โดยราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในปีที่ผ่านมา


ย่างไรก็ตามจากข้อมูลที่เผยแพร่โดยสื่อของประเทศเวียดนามคาดการณ์ว่าอาจมีการพิจารณาปรับค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และไม่ได้มีการปรับอัตราค่าไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019 ทำให้ EVN ที่เป็นรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าประสบภาวะขาดทุนและได้ยื่นขอความเห็นชอบในการปรับค่าไฟฟ้าจากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนที่ปรากฏตามข่าวว่าค่าไฟฟ้าของเวียดนามลดลงนั้น เป็นผลการคำนวณเทียบกลับมาเป็นเงินบาทที่อัตราแลกเปลี่ยนของไทยแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา


ปัญหาการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก มากน้อยแตกต่างกันไปตามรูปแบบเชื้อเพลิงที่ใช้ สำหรับประเทศไทยเองเรามีนโยบายสอดคล้องกับทิศทางของโลกที่มุ่งสู่พลังงานสะอาด และภาคอุตสาหกรรมต่างก็ตื่นตัวเน้นการลงทุนที่มีกระบวนการผลิตที่สอดคล้องกับกระแสสีเขียว เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ เป็นกติกาสากลที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคทางด้านการค้าและการลงทุนในอนาคต และทำให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต


นอกจากนี้ในช่วงปี 2566 นี้สถานการณ์เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มดีขึ้นจากการบริหารจัดการในการใช้เชื้อเพลิงที่ต้นทุนต่ำที่สุด และการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่จะมีเพิ่มขึ้น รวมถึงการทำงานที่จะมีขึ้นร่วมกันระหว่างกระทรวงพลังงานกับภาคเอกชน/อุตสาหกรรมจะสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ต้นทุนเชื้อเพลิงได้

------------------

รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/wlZeWHztrsk

คุณอาจสนใจ