เศรษฐกิจ

แบงก์ชาติเปิดสถิติ หนี้ครัวเรือนพุ่งช่วงโควิด พบลูกหนี้พุ่งเฉียด 3 ล้านราย ยอดหนี้พุ่ง 4 แสนล้านบาท

โดย petchpawee_k

12 ต.ค. 2565

32 views

เมื่อวานนี้ (11 ต.ค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดรายงานเสถียรภาพระบบการเงินไทยรายไตรมาส ที่ 3 ประจำปี 2565 โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจ คือ หนี้ครัวเรือนไทย ในช่วงโควิด-19 ที่พบว่า มีลูกหนี้ที่ค้างชำระหนี้เกิน 90 วัน เฉพาะลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยังเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจำนวนลูกหนี้ จำนวนบัญชี และยอดสินเชื่อคงค้างของหนี้เสีย ในปี 2565


โดยในช่วงเดือนมกราคม มีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียเพียง 1.9 ล้านคน และเพิ่มมาเป็น 2.1 ล้านคน ในช่วงไตรมาส 1 ก่อนเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดในช่วงมิถุนายนเป็น 2.9 ล้านคน


ในแง่จำนวนบัญชีที่เป็นหนี้เสีย ก็เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด จาก 2.3 ล้านบัญชี มาเป็น 2.7 ล้านบัญชี และ 4.3 ล้านบัญชี ในเดืนมิถุนายน


สอดคล้องกับมูลค่าหนี้เสีย จาก 2 แสนล้านบาท เป็น 2.2 แสนล้านบาทในไตรมาสแรก และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 4 แสนล้านบาทในช่วงสิ้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมา


ซึ่งสะท้อนว่า ยังมีลูกหนี้ จำนวนมากที่ยังไม่ฟื้น และยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หากไม่เร่งช่วยเหลือ

--------------------------------------------------------------------

ธปท.ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลัง แจงเหตุเงินเฟ้อหลุดกรอบเป้าหมาย


วานนี้ (11 ต.ค.) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ส่งจดหมายเปิดผนึก ชี้แจง การเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อออกนอกกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน เดือนตุลาคม 2565  ลงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 โดยระบุว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีข้อตกลงร่วมกัน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1 - 3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2565 รวมถึงระบุให้ กนง. มีจดหมายเปิดผนึกหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย นั้น


ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาและประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าสูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาสูงกว่ากรอบเป้าหมายจากแรงกดดัน ด้านราคาโดยเฉพาะราคาพลังงานที่สูงขึ้น 


อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 5.23 สูงกว่ากรอบเป้าหมาย นโยบายการเงินจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ ได้แก่ (1) ปัจจัยด้านอุปทานจากต่างประเทศ (global supply shocks) ที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกปรับสูงขึ้นมาก และมีผลต่อเนื่องให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ก๊าซหุงต้ม


และค่าไฟฟ้าปรับขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับฐานที่ต่ำจากมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐในปี 2564 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 26.76 และ (2) ปัจจัย ด้านอุปทานในประเทศ (domestic supply shocks) ที่เกิดจากโรคระบาดในสุกร ทำให้ราคาเนื้อสุกรเพิ่มขึ้นมากตามอุปทานที่ลดลง


สำหรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ร้อยละ 3.9 สูงกว่ากรอบเป้าหมายตามแรงกดดันด้านอุปทาน โดยเฉพาะราคาพลังงานที่แม้จะทยอยลดลงตามราคาในตลาดโลก แต่ยังอยู่ในระดับสูง (ภาพที่ 2) โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานจะอยู่ที่ร้อยละ 12.4 และหมวดอาหารสดที่ร้อยละ 1.7 ในขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.9 โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาที่ร้อยละ 0.46 เนื่องจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นที่ร้อยละ 3.8 ในปี 2566 จะเอื้อให้ประกอบการสามารถส่งผ่านตันทุนที่อยู่ในระดับสูงในช่วงก่อนหน้าไปยังราคาสินค้าได้มากขึ้น

ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในระดับสูงสุดในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 และมีแนวโน้มทยอยลดลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 ตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่มีแนวโน้มลดลง 


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/Ii-tBjlFciw

คุณอาจสนใจ

Related News