เศรษฐกิจ

'กฤษฎีกา' ยืนกราน ไม่ออกความเห็น ควบรวม 'ทรู-ดีแทค' เหตุ กสทช.เป็นองค์กรอิสระ

โดย nattachat_c

22 ก.ย. 2565

51 views

ตามที่ สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย เพื่อตีความอำนาจพิจารณาการรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค นั้น


โดยเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ส่งหนังสือตอบกลับไปยังสำนักงาน กสทช. เรียบร้อย โดยมีความเห็นสรุปเป็นสาระสำคัญได้ว่า


การรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรูและดีแทค ต้องยึดตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 เนื่องจากกฎหมายรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ที่กำหนดให้การรวมธุรกิจต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช.ก่อนนั้น ได้ถูกยกเลิกแล้ว โดยมีประกาศ กสทช. ปี 2561 ขึ้นมาแทน ซึ่งกำหนดให้การรวมธุรกิจกระทำได้โดยจัดทำรายงานส่งให้ กสทช.

----------

วานนี้ (21 ก.ย. 65) นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. ได้รับทราบหนังสือตอบกลับจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องอำนาจของ กสทช. ในการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) แล้ว ซึ่งที่ประชุมจะได้นำไปประกอบในการพิจารณาเรื่องการรวมธุรกิจฯ ต่อไป


สำหรับกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อมวลชนเกี่ยวกับ หนังสือของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ตอบกลับข้อกฎหมายกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) นั้น ขอยืนยันว่า สำนักงานฯ ไม่ได้มีการส่งข่าวและเปิดเผยรายละเอียดของหนังสือดังกล่าวไปยังสื่อมวลชน มีแต่เพียงสื่อมวลชนบางสำนักได้โทรศัพท์มาสอบถาม ซึ่งได้ตอบไปว่า มีหนังสือตอบมาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานฯ จะต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการทุกท่านให้รับทราบต่อไป

-------------

ต่อมาได้ มีเอกสารลับบันทึกสำนักงาน คณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง อำนาจดำเนินการของ กสทช. ในการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ส่งถึงนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และในฐานะรักษาการแทนเลขาธิการกสทช.ลงนามโดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการกฤษฎีกา จำนวน 5 หน้า


คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงาน กสทช. โดยมีผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการแช่งขันทางการค้า และผู้แทนสำนักงาน กสทช. เป็นผู้ชี้แจงขัอเท็จจริงแล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ได้กำหนดให้มี กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ เพื่อทำหน้าที่ดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุทรทัศน์ และกำกับการประกอบกิจการโทรคมนาคม


โดยในการกำกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมนั้น พระราซบัญญัติตังกล่าวและพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ได้กำหนดให้ กสทช. มีหน้าที่ และอำนาจกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม แต่ข้อที่หารือมานี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้ดุลยพินิจตามกฎหมายของ กสทช.


ดังนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงไม่อาจให้ความเห็นในส่วนที่เป็น การใช้ดุลพินิจรวมทั้งการกำหนดมาตรการหรือเงื่อนไขต่าง ๆ อันเป็นหน้าที่และอำนาจของ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระได้ 

------------



คุณอาจสนใจ

Related News