เศรษฐกิจ

ภาคประชาชนรุกยื่นหนังสือ กสทช. ค้านควบรวม "ทรู-ดีแทค"

โดย kanyapak_w

29 ส.ค. 2565

118 views

กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง ขอให้พิจารณาการควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือดีแทค ตามอำนาจของ กสทช. อย่างถูกต้องและเป็นธรรม โดยมีเนื้อหาระบุว่าตามที่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) ได้ประกาศแจ้งต่อสาธารณะว่าจะมีการควบรวมธุรกิจ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร และเครือข่ายภาคประชาชน มีความกังวลต่อการควบรวมธุรกิจดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้



จากการที่ กสทช. ได้ทำหนังสือไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 และคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบกลับ กสทช. มาแล้วเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ว่า ไม่สามารถรับข้อหารือไว้พิจารณาได้เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลและเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 กสทช. ก็ได้มีการทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ในการพิจารณาการควบรวมธุรกิจดังกล่าว ด้วยเนื้อหาเดียวกันซ้ำอีกครั้ง อาจทำให้ประชาชนสับสนและเข้าใจคลาดเคลื่อนไปได้ว่า กสทช. มีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยยินยอมให้ฝ่ายบริหารเข้ามามีบทบาทแทรกแซง และครอบงำการใช้อำนาจของ กสทช. อาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 60 และส่งผลให้นายกรัฐมนตรีมีความเสี่ยงในการปฏิบัติที่ขัดต่อกฎหมายอีกด้วย



กสทช. ในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมาตรา 60 ที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม เพื่อสนับสนุนการแข่งขันเสรีที่เป็นธรรม ดูแลผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติ จึงต้องป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระต่อผู้บริโภคเกินความจำเป็น ซึ่งการควบรวมครั้งนี้ จะทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระราคาค่าบริการที่เพิ่มขึ้น 2.03-244.50% (อ้างอิงผลการศึกษา กสทช.) หรือไม่มีโอกาสที่จะปรับราคาลดต่ำลงได้ เหมือนเช่นในอดีตที่มีการแข่งขันสูง




การควบรวมครั้งนี้ นอกจากเป็นการลดทางเลือกของผู้บริโภคแล้ว ยังอาจทำให้เกิดการดำเนินธุรกิจแบบ Cross Industry การบริการจะถูกย้ายจากร้านค้าลูก ไปยังร้านค้าปลีกในเครือ เพราะไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายค่านายหน้าในการขายสินค้าให้ร้านค้าอีกต่อไป ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดขายส่งและขายปลีก Sim card ต่อเนื่องไปถึง Vender/Supplier ผู้ให้เช่าสถานที่ และพนักงาน รวมไปถึงผู้ประกอบการต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาบริการโทรคมนาคมในการขายสินค้าหรือบริการของตนผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย



คุณอาจสนใจ

Related News