เศรษฐกิจ

สำรวจราคาไข่ไก่ ปศุสัตว์ยันมีบริโภคเพียงพอ รับแพงเป็นประวัติการณ์ เหตุต้นทุนอาหารสัตว์พุ่ง

โดย thichaphat_d

18 ส.ค. 2565

36 views

จากการประกาศปรับราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มอีกฟองละ 10 สตางค์ หรือแผงละ 3 บาท ทำให้ราคาจำหน่ายจาก 3.50 บาทต่อฟอง เป็น 3.60 บาทต่อฟอง สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ที่ จ.ขอนแก่น พบราคาไข่ไก่หน้าแผงล่าสุด

ไข่ไก่เบอร์ 0 อยู่ที่ 130 บาทต่อแผง

ไข่ไก่เบอร์ 1อยู่ที่ 125 บาทต่อแผง

ไข่ไก่เบอร์ 2 อยู่ที่ 120 บาทต่อแผง

ไข่ไก่เบอร์ 3 อยู่ที่ 115 บาทต่อแผง

ไข่ไก่เบอร์ 4 อยู่ที่ 110 บาทต่อแผง

ไข่ไก่เบอร์ 5 อยู่ที่ 105 บาทต่อแผง

ส่วนไข่เป็ดตอนนี้ขาดตลาด ซึ่งก่อนหน้านี้ราคาไข่เป็ดแผงละ 120 บาท ตอนนี้ขึ้นมา 140 บาทต่อแผงแล้ว

ด้าน นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ได้ติดตามสถานการณ์การผลิตไข่ไก่อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดการประเมินสถานการณ์ในเดือนสิงหาคม 2565 พบว่าปัจจุบันมีไก่ไข่ยืนกรงจำนวน 50.67 ล้านตัว ให้ผลผลิตไข่ไก่ประมาณ 42 ล้านฟองต่อวัน

ส่วนอัตราการบริโภคทั้งภายในประเทศและการส่งออกรวมกันประมาณ 41.89 ล้านฟองต่อวัน สถานการณ์การผลิตและการบริโภคจึงอยู่ในจุดใกล้เคียงสมดุล จากที่ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ที่เกิดปัญหาไข่ไก่ล้นตลาดและราคาตกต่ำ

พร้อมยืนยันว่า ขณะนี้ไข่ไก่ที่ผลิตภายในประเทศมีปริมาณเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศอย่างแน่นอน ส่วนการที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นเป็นไปตามกลไกการตลาด

โดยในปี 2565 นี้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของต้นทุนการผลิตไข่ไก่ พบว่าราคาไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกรตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2565 มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3.20 บาทต่อฟอง

ส่วนต้นทุนการผลิตเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.97 บาทต่อฟอง และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยจะมีต้นทุนสูงกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าว มีความจำเป็นต้องปรับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มขึ้นเพื่อให้สามารถประกอบกิจการอยู่ได้

สำหรับมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ที่กรมปศุสัตว์ ได้มีการประชุมหารือร่วมกับภาคเอกชนผู้ผลิตไข่ไก่ ทั้งรายเล็ก รายกลางและรายใหญ่มาโดยตลอดนั้น มีความมุ่งเน้นในด้านการปรับสมดุลการผลิตและการบริโภคเป็นหลัก

โดยในเดือนสิงหาคม 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสมดุลและคงตลาดส่งออกไว้ตามสภาพปกติเท่านั้น ส่วนแผนการดำเนินการระหว่างเดือนกันยายนถึงตุลาคม 2565 มีไว้เพื่อรับมือสถานการณ์หลังเทศกาลกินเจ ฝนตกชุก และปิดภาคเรียน ที่ในช่วงนี้ทุกปีมักมีแนวโน้มเกิดปัญหาไข่ไก่ล้นตลาดจากอัตราการบริโภคตกต่ำ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยที่ประสพปัญหาต้นทุนสูงอยู่แล้วให้เดือดร้อนมากยิ่งขึ้น และอาจส่งผลให้บางรายต้องมีการเลิกกิจการตามมา

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์จะมีการประเมินสถานการณ์ร่วมกับภาคเอกชนเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง และมีการปรับมาตรการตามสภาวการณ์เพื่อรักษาสมดุลการผลิตและการบริโภคไข่ไก่ให้ใกล้เคียงจุดสมดุล โดยที่ผู้บริโภคต้องไม่เดือดร้อนและเกษตรกรต้องอยู่ได้


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/vhE6uz8ycoU

คุณอาจสนใจ

Related News