เศรษฐกิจ

5 บริษัทผู้ผลิตบะหมี่กึ่งฯ หวังอนุมัติขึ้นราคาใน 3-4 วัน - เผยกำไรสุทธิของทั้ง 5 บริษัท

โดย nattachat_c

17 ส.ค. 2565

19 views

วานนี้ (16 ส.ค. 65) นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักอำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเด้นท์ฟู้ด ผู้ผลิตมาม่า พร้อมด้วยนายวีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย ผู้ผลิต ไวไว เป็นตัวแทน 5 บริษัทผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป


นำหนังสือที่ได้ลงนามร่วมกัน ยื่นให้นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เร่งรัดการพิจารณาปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตามที่ได้ยื่นขอไป คือ ขอขึ้นซองละ 2 บาท จาก 6 บาท เป็น 8 บาท ตามต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นกว่า 40% จนผู้ผลิตประสบภาวะขาดทุน เช่น

  • แป้งสาลี 250 บาท/ถุง เพิ่มเป็นกว่า 500 บาท/ถุง
  • น้ำมันปาล์ม 18 บาท/ลิตร เพิ่มเป็น 55 บาท/ลิตร


โดยนายพันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า ราคาต้นทุนสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น เป็นการปรับฐานราคาแบบถาวร และส่งผลกระทบหนักต่อผู้ผลิต จึงจำเป็นต้องยื่นขอปรับราคา หลังการปรับครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อปี 2551 หรือ เมื่อ 15 ปีที่แล้ว

เมื่อถามว่าหากให้ขึ้นแค่ 1 บาท จะรับได้หรือไม่ นายพันธ์ กล่าวว่า ปรับขึ้นเท่าไหร่ก็เอาไว้ก่อน แล้วค่อยยื่นขอปรับราคาเพิ่มเติมอีกภายหลัง เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งคาดหวังว่ากรมการค้าภายในจะเร่งอนุมัติภายใน 3-4 วัน หรือ ภายใน 1 สัปดาห์

แต่หากยังไม่ให้ขึ้น ก็จำเป็นต้องเพิ่มการส่งออกต่างประเทศให้มากขึ้น เพื่อหารายได้ชดเชยภาวะการขาดทุนราคาขายในประเทศ แต่ยืนยันจะไม่ทำให้สินค้าในประเทศขาดตลาด ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก จนเกิดการกักตุนสินค้า
-----------
วานนี้ (16 ส.ค. 65) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ผู้ประกอบการบริษัทผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขอปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปว่า ได้พูดคุยกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้ว


หากจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาก็ให้ไปหารือร่วมกัน และพิจารณาถึงสาเหตุความจำเป็น รวมถึงราคาที่จะปรับขึ้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเคยขอขึ้นราคามา 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้ปรับขึ้น ดังนั้นต้องไปดูต้นทุนการผลิต และพิจารณาตามความเหมาะสม

โดยยืนยันไม่ได้เข้าข้างใคร จะดูแลทั้ง 2 ส่วน คือ

1. ประชาชนต้องไม่ได้รับความเดือดร้อน

2. ผู้ประกอบการต้องสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ ไม่อย่างนั้นก็ผู้ประกอบการก็จะได้รับผลกระทบไม่สามารถผลิตสินค้าได้และต้องปิดโรงงาน

จึงขอให้ทั้งสองฝ่ายเห็นใจซึ่งกันและกัน
-----------
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ ประเด็นที่ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของขึ้นราคา จากซองละ 6 บาทเป็น 8 บาท ว่า เป็นเรื่องจริงที่มาม่าได้เคยปรับราคาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วครั้งหนึ่งจากซองละ 5 บาทเป็นซองละ 6 บาท เมื่อปี 2551 ซึ่งล่วงเลยมา 14 ปีแล้ว และได้ขอปรับราคามาตั้งแต่ปีที่แล้วเกือบ 2 ปี และที่กรมการค้าภายใน (คน.) ยังไม่อนุญาต เพราะต้องดูผลกระทบกับภาระของผู้บริโภคด้วย


ตอนนี้ขอปรับจากซองละ 6 บาทขึ้นเป็นซองละ 8 บาท ส่วนตัวคิดว่าอาจจะมากเกินไป ถ้าสูงขนาดนี้จะกระทบผู้บริโภคผู้มีรายได้น้อยมากเกินสมควร แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับกรมการค้าภายใน ต้องไปดูต้นทุน เข้าใจว่าวิเคราะห์ต้นทุนทั้งหมดเสร็จแล้ว ซึ่งให้นโยบายไปว่าถ้าจะต้องปรับราคาขึ้นต้องเป็นตามต้นทุนที่สูงขึ้นจริงและให้เดือดร้อนกับผู้บริโภคให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ไม่ต้องถึงภาวะขาดทุนและหยุดการผลิตหรือส่งออกอย่างเดียวเพราะตลาดต่างประเทศราคาดีกว่า

เพื่อให้ผู้บริโภคมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบริโภคต่อไป โดยอธิบดีกรมการค้าภายใน จะเป็นผู้พิจารณาและถ้าต้องขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริง ถ้าต้นทุนปรับลดลงมา จะต้องมีการปรับราคาลงมาด้วย ให้กรมการค้าภายในติดตามสถานการณ์ต้นทุนโดยใกล้ชิด ขณะนี้ต้องยอมรับความจริงว่าต้นทุนเพิ่มขึ้นทั้งค่าพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซ ค่าขนส่งและต้นทุนการผลิตที่เป็นวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลีและน้ำมันพืช เป็นต้น
------------
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ได้ติดตามต้นทุนวัตถุดิบการผลิตบะหมี่มาตลอด ยอมรับปัจจัยการผลิตหลายตัวมีการปรับขึ้นราคา แต่ผู้ผลิตก็ยังให้ความร่วมมือในการช่วยตรึงราคามาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 ต้องขอขอบคุณผู้ประกอบการ โดยขนะนี้กรมฯ ยังไม่ได้อนุมัติให้ปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ดูต้นทุนทั้งที่เพิ่มขึ้นและลดลง ยังบอกไม่ได้ว่าจะได้ข้อสรุปเมื่อไหร่ ต้องพิจารณา ด้วยความรอบคอบ ดูว่าความสมดุลอยู่ตรงไหน ผู้ประกอบการต้องอยู่ได้ ผู้บริโภคต้องได้รับผลกระทบไม่มากเกินไป ตามหลักการวินวินโมเดล โดยจะพิจารณาเป็นรายสินค้า ทั้งนี้ยอมรับว่าต้นทุน แป้งสาลี และพลังงานปรับเพิ่มขึ้น แต่ต้องดูว่าต้นทุนที่เพิ่มมีสาระสำคัญขนาดต้องปรับขึ้นราคาจำหน่ายหรือไม่

ทั้งนี้ ต้องดูแต่ละราย ไม่ใช่ว่า รวมกันทั้ง 5 บริษัท จะให้ทั้ง 5 บริษัทขึ้นราคาพร้อมกันเลย ต้องดูเป็นรายๆ ไป เพราะต้นทุนแต่ละรายไม่เท่ากัน ไม่ได้ยื้อการขึ้นราคานะ ส่วนกรณีระบุว่า ผู้ประกอบการยังมีกำไรจากการส่งออก ทำให้รมกาค้าภายในยังไม่อนุมัติให้ปรับขึ้นราคานั้นปัจจุบันมีกำไรจากการส่งออกไม่มากเพียง 5 % เท่านั้น
------------
กรุงเทพธุรกิจ ได้รายงาน ตัวเลขผลประกอบการของบริษัท ทั้ง 5 ที่เป็นผู้ผลิต ดังนี

ผู้ผลิตยี่ห้อ มาม่า (งบ 6 เดือนปี 2565 ระหว่าง 1 ม.ค.-30 มิ.ย.)

  • รายได้รวม 13,014.13 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ 1,164.98 ล้านบาท


ผู้ผลิตยี่ห้อ ไวไว (งบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2564)

  • รายได้รวม 6,797,912,990 บาท
  • กำไรสุทธิ 306,035,367 บาท


ผู้ผลิตยี่ห้อ ซื่อสัตย์ (งบการเงินล่าสุดเมื่อไตรมาส 1/2565 สิ้นสุด 31 มี.ค. 2565)

  • รายได้รวม 8,496.89 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ 376.58 ล้านบาท


ผู้ผลิตยี่ห้อ ยำยำ (งบการเงินล่าสุดปี 2565)

  • รายได้รวม 6,106,336,247 บาท
  • กำไรสุทธิ 296,208,877 บาท


ผู้ผลิตยี่ห้อ นิสชิน (งบการเงินล่าสุดปี 2564

  • รายได้รวม 1,615,906,743 บาท
  • กำไรสุทธิ 197,863,484 บาท

------------




รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/YsbeQ1YN2tc

คุณอาจสนใจ

Related News