เศรษฐกิจ

เช็ก 8 มาตรการลดค่าครองชีพ! 'กลุ่มโรงกลั่น' พร้อมร่วมมือแบ่งกำไร หากไม่ขัดข้อ กม.-ผู้ถือหุ้น

โดย nattachat_c

22 มิ.ย. 2565

38 views

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมครม. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน กรณีสถานการณ์วิกฤตพลังงานที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน


ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบหนักหน่วงในหลายมิติ ขณะที่ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่บางประเทศ ก็งดส่งออกโภคภัณฑ์ที่จำเป็น ทำให้ห่วงโซ่อุปทานขาดแคลนทั่วโลก ซึ่งมีผลผูกพันธ์ทั้งสิ้น ทำให้เงินเฟ้อสูงกว่าร้อยละ 8 ในรอบหลายสิบปี โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกา รวมถึงปัญหาค่าครองชีพประชาชนปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทำให้สินค้าราคาแพง ซึ่งคาดว่าอาจใช้เวลานานในการฟื้นตัว


โดย ครม.มีมติเห็นชอบ มาตรการลดค่าครองชีพ เดือนกรกฎาคม - เดือนกันยายน 2565 ดังนี้ 


1. ตรึงราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวี 15.59 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับเอ็นจีวีภายใต้โครงการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน สำหรับแท็กซี่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือนตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.-15 ก.ย. 65


2. กำหนดกรอบการขายปลีกแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค. - ก.ย.


ทั้งนี้ มติ กบง. 'ขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม' เดือนละ 1 บาท/กก. (3 เดือน) ทำให้ราคาก๊าซ มีดังนี้ 

  • 1 เม.ย. ราคา 333 บาท
  • 1 พ.ค. ราคา 348 บาท
  • 1 มิ.ย. ราคา 363 บาท
  • 1 ก.ค. ราคา 378 บาท
  • 1 ส.ค. ราคา 393 บาท
  • 1 ก.ย. ราคา 408 บาท

โดย ทั้งหมดนี้ ยังไม่ถึงราคาตามความเป็นจริง ที่ควรจะเป็น


3. ขยายเวลาให้ส่วนลดราคาแอลพีจี

  • ร้านค้า หาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่เกิน 100 บาทต่อราย/เดือน ต่อไปอีก 3 เดือน ถึงเดือน ก.ย.65
  • ส่วนผู้มีรายได้น้อยซึ่งถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่จะได้รับส่วนลดการซื้อก๊าซหุงต้มจำนวน 100 บาท/3 เดือน

4. อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลร้อยละ 50 ในส่วนที่ราคาขายสูงกว่า 35 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ถึง ก.ย. 65


5. คงค่าราคาตลาดน้ำมันดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร (พูดง่ายๆ ค่าปั๊มน้ำมันที่จะได้)


6. ขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมัน นำส่งกำไรจากค่าการกลั่น ส่วนหนึ่งเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อลดภาระค่าน้ำมันให้กับประชาชนทั้งดีเซลและเบนซิน ในช่วง 3 เดือน ก.ค. - ก.ย.  (อันนี้เป็นการขอความร่วมมือ ก็ต้องขอขอบคุณบรรดาสถานประกอบการ ที่ให้ความร่วมมือต่อเรื่องนี้)


เรื่องนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุถึง มาตรการขอความร่วมมือจากโรงกลั่นเอกชนนำเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเวลา 3 เดือน 


ได้มีการพูดคุยกันและคาดว่าจะหาข้อยุติได้ภายในสัปดาห์นี้ ส่วนที่มีตัวเลขออกมา 7-8 พันล้าน/เดือน นั้น  อย่าเพิ่งกดดัน ขอใช้เวลาหารือ เพื่อหาตัวเลขที่เหมาะสม และรับได้ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่าจะมากกว่าหรือน้อยกว่าตัวเลขดังกล่าว ทั้งนี้ ทางตัวแทนน้ำมันเชื้อเพลิง กระทรวงพลังงานได้ชี้แจง และขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการโรงกลั่น


ต้องดูความร่วมมือให้เข้าใจตรงกันและเข้าไปดูวิธีทางช่องทางการกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลยังไม่อยากใช้อำนาจในการไปบังคับโรงกลั่น แต่อาศัยความร่วมมือแ ละจำนวนเงินที่ตกลงกันได้ที่จะช่วยสนับสนุนผ่านช่องทางไหน ก็ต้องไปดูกันอีกครั้ง


ซึ่งการพูดคุยในตอนนี้ คุยกันบนพื้นฐานความร่วมมือของ ผู้ประกอบของผู้ประกอบการโรงกลั่นที่ยินดีให้ความร่วมมือขออย่าสร้างเงื่อนไข ส่วนผลลัพธ์จะเป็นยังไงขอให้รอผลการประชุมภายในสัปดาห์นี้


ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์”เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ว่า กระทรวงพลังงานได้หารือกับผู้ประกอบการโรงกลั่นในไทย 6 รายเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา


โดยทั้งหมดพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐ แต่ความร่วมมือจะต้องดูวิธีการที่ไม่ขัดกับกฏหมาย เนื่องจากกลุ่มโรงกลั่นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงต้องขอให้กระทรวงฯตรวจสอบข้อกฏหมายให้ชัดเจนก่อน เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ถือหุ้น ซึ่งคาดว่าจะหาข้อสรุปได้ชัดเจนภายใน 1-2 สัปดาห์นี้


ความร่วมมือ 2 ฝ่ายก็ต้องมาดูรายละเอียดทำแล้วสามารถจะดำเนินการทั้งฝ่ายรัฐและเอกชน ถ้าทำแล้วขัดกฏหมายอีกส่วนก็ทำไม่ได้ เขาทำแล้วขัดกฏหมาย ขัดผู้ถือหุ้นก็ทำไม่ได้ เลยต้องหาทางร่วมกัน โดยมีแนวทางร่วมกันเบื้องต้นโดยจะตั้งทีมมาหารือกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เรียนได้ทั้งโรงกลั่นและรัฐยึดผลประโยชน์ให้สิ่งที่เกิดขึ้นไปแบ่งเบาภาระประชาชนเป็นสำคัญบนพื้นฐานที่เป็นความร่วมมือรัฐไม่อยากบังคับแต่เขาก็พร้อมร่วมมือ


ส่วนกรณีที่กระทรวงพลังงานจะอาศัยอำนาจพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ม.14 (4) และม.27 (1)ในการเรียกเก็บเงินโรงกลั่นเข้ากองทุนน้ำมันฯได้นั้น เรื่องนี้ไม่ได้ถอย แต่หากดำเนินการทุกฝ่ายจำเป็นต้องเห็นด้วย หากมีการแย้งว่าทำไม่ได้จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ จึงต้องทำให้เกิดความชัดเจน ซึ่งกระบวนการต่างๆ ต้องใช้เวลาโดยพยายามหาวิธีที่จะดำเนินการให้เร็วขึ้นโดยโจทย์แรก

1) จะต้องตกลงร่วมกันได้ภายใต้กฏหมาย

2) วงเงิน เพราะค่าการกลั่นแต่ละแห่งไม่เท่ากัน จึงต้องดูให้เหมาะสม


นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า กระทรวงพลังงานรายงานว่า กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับกลุ่มโรงกลั่น ถึงแนวทางในการดำเนินการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป รวมทั้งขอความร่วมมือ ปตท. นำส่งกำไรส่วนหนึ่งของโรงแยกก๊าซธรรมชาติเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งคาดว่าจัดเก็บได้ 500-1,000 ล้านบาท/เดือน


7. มาตรการภาษีสนับสนุนการท่องเที่ยว เอกชนนำค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว อบรม สัมมนา จัดงาน ในเมืองหลักหักภาษีได้ 1.5 เท่า เมืองรองหักภาษีได้ 2 เท่า (ตั้งแต่ 15 กรกฎาคม ถึง 31 ธันวาคม 2565)


8. ขอความร่วมมือการประหยัดพลังงานทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ และภาคขนส่ง

-----------


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/mcN2yv-PelQ

คุณอาจสนใจ

Related News