เศรษฐกิจ

'จุลพันธ์' ชี้ ไม่ได้มีนโยบายเดียว เล็งมาตรการอื่น กระตุ้นเศรษฐกิจ หลัง 'เงินดิจิทัล' ไม่ทัน พ.ค. 67

โดย nut_p

29 ม.ค. 2567

49 views

รมช.จุลพันธ์ ยืนยัน เดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตทันที หลังตอบข้อสงสัยปปช.เสร็จสิ้น ยอมรับออกช้ากว่าพ.ค. 67 ฉุดเศรษฐกิจปีนี้โตน้อยกว่าคาด เลื่อนไปโตปีหน้า ชี้ รัฐบาลไม่ได้มีนโยบายเดียว เล็งมาตรการอื่น กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลัง 'เงินดิจิทัล' ล่าช้า ไม่ทัน พ.ค. 67



นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการของคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อเตรียมรับมือกับข้อเสนอแนะของปปช.จะออกมาอย่างไร ก็พร้อมที่จะเดินหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ภายใต้เงื่อนไขเดิมทุกประการ ซึ่งเอกสารปปช. ที่หลุดออกมา ก็พอที่เห็นภาพแต่ละประเด็นว่ามีอะไรบ้าง อะไรที่ตอบได้ก็ตอบ อะไรที่ตอบไม่ได้ก็ต้องเตรียมการว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อที่จะขจัดขอห่วงใยเหล่านั้น ซึ่งหากสิ้นสุดการตอบข้อสงสัยของ ปปช. แล้ว จะเรียกประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่เพื่อเดินหน้าโครงการต่อทันที ซึ่งตนเองก็ได้ยินมาจากข่าวว่า ปปช.จะชัดเจนในอีก 2 สัปดาห์หลังจากนี้

อย่างไรก็ตามยังไม่ได้พูดถึงกรอบเวลาในการออกมาตรการ แต่ล่าช้าจากเดือนพฤษภาคม 67 แน่นอน และยอมรับว่าผลจากมาตรการต่อการผลักดันจีดีพีที่เคยประเมินไว้ว่า จะเกิดขึ้นในปีนี้อาจลดลงและเลื่อนไปส่งผลในปีหน้า แต่รัฐบาลไม่ได้ทำเพียงนโยบายเดียว ได้พูดคุยถึงมาตรการอื่น ๆ ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม



ส่วนกรณีอาจเปลี่ยนจากการออกพรบ.จะเป็นพรก.หรือไม่นั้น แม้ยังไม่มีการพูดคุย แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ว่ากลไกใด ๆ หากอยู่ในอำนาจของรัฐบาล เพื่อผลักดันโครงการก็มีโอกาสเสมอ



สำหรับโพลจากสำนักต่าง ๆ เช่น นิด้า ยินดีรับฟังความคิดเห็น แต่คงไม่นำมาเป็นตัวกำหนดนโยบาย ส่วนใหญ่แสดงความเป็นห่วงในสถานการณ์เศรษฐกิจ ว่าเข้าข่ายวิกฤติหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าคนที่อยู่ในระดับบน ถ้าไม่เดือดร้อนก็ไม่รู้สึก แต่คนระดับล่างหากไปถามก็นับว่าเข้าขั้นอันตรายแล้ว เศรษฐกิจถดถอย จากภาระหนี้ภาคครัวเรือน หนี้เอกชนสูง การลงทุนน้อย คิดแต่เรื่องการประทังชีวิตและลดหนี้สิน ทำให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำมาโดยตลอด ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขของสำนักงานการคลัง หรือ สศค. ที่ประเมินจีดีพีไทย ปี 66 โตเพียง 1.8% และเชื่อว่าตัวเลขจาก สภาพัฒน์ที่กำลังจะประกาศออกมาก็คงใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตามการนิยามคำว่าวิกฤติทางเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคล ซึ่งรัฐบาลประเมินว่าวิกฤติ ทั้งนี้ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ซึ่งจะผลักดันให้กลไกการวิเคราะห์และพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของสภาผู้แทนราษฎรให้แล้วเสร็จเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนดปกติที่ 105 วัน หรือ ก่อนเม.ย. 67 โดยเปิดให้ออก TOR ได้ก่อน กรณีจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเตรียมพร้อม เมื่ออยู่ในวาระ 2 ของการพิจารณา เมื่อเงินพร้อมก็สามารถเปิดช่องให้ดำเนินการได้ทันที



นอกจากนี้ กระทรวงการคลังโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะมีแผนที่จะจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ประจำปี 2567 งวดแรกเดือนมีนาคม วงเงิน 40,000 ล้านบาท วัตถุประสงค์เพื่อรองรับการบริหารการเงินการคลังของภาครัฐ สร้างการกระจายเครื่องมือระดมทุนของรัฐบาลให้หลากหลาย ครอบคลุมนักลงทุนกลุ่มต่างๆ ซึ่งส่วนนี้จะพุ่งเป้ากลุ่มรายย่อย ทั้งนี้แผนการออกพันธบัตรออมทรัพย์ทั้งปีของคลังอยู่ที่ 100,000 ล้านบาท



นอกจากนี้ จากการเยือนเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเพื่อเข้าร่วมการประชุม Asian Financial Forum (AFF) ครั้งที่ 17 ที่ผ่านมา ได้มีแผนจะออกพันธบัตรเงินตราต่างประเทศ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีของไทย โดยมองโอกาสไว้ในหลายสกุลเงิน เช่น ดอลลาร์สหรัฐ หยวน ซามูไรบอนด์ เพื่อเป็นเบนช์มาร์คให้ภาคธุรกิจที่จะออกตราสารหนี้ ออกเงินกู้ต่างประเทศ ซึ่งฮ่องกงแสดงความสนใจที่อยากจะออกพันธบัตรร่วมกับไทย คาดว่าจะเห็นภายใน 1-2 ปี นับจากนี้ อีกทั้ง SME ฮ่องกงยังแสดงความสนใจที่จะลงทุน โครงการ EEC เช่น อู่ตะเภาเฟส 2 ซึ่งไทยจะต้องกำหนดเงื่อนไขไม่ให้ SME ไทยเสียเปรียบ และต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเทคโนโลยีด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News