เศรษฐกิจ

เปิด 10 ธุรกิจดาวเด่น ส่งท้ายปลายปี 2565 รับเปิดประเทศ-เทรนด์สุขภาพ-ชีวิตวิถีใหม่

โดย thichaphat_d

20 ต.ค. 2565

449 views

เปิด 10 ธุรกิจดาวเด่นส่งท้ายปลายปี 2565 ส่วนใหญ่สอดรับกับการเปิดประเทศ ความสนใจดูแลสุขภาพผู้บริโภค และพฤติกรรมรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ มูลค่าตลาดรวมกว่า 2 ล้านล้านบาท คาดโตต่อเนื่องถึงปีหน้า

กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า วิเคราะห์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจ และถือว่าเป็นธุรกิจดาวเด่นที่น่าจับตามองปลายปี 2565 จำนวน 10 ธุรกิจ และคาดว่า ปี 2566 ธุรกิจดังกล่าวก็ยังคงมีความโดดเด่นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลทางธุรกิจของกรมฯ ตั้งแต่สถิติจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ จำนวนธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ สถานที่ตั้ง งบการเงิน ผลการประกอบธุรกิจ ข้อมูลปัจจัยทางธุรกิจและเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกกรมฯ

พบว่า 10 ธุรกิจ ที่น่าสนใจและมีความโดดเด่นช่วงปลายปี 2565 สามารถจัดประเภทธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจที่สอดรับกับปัจจัยการเปิดประเทศ ได้แก่

1) ธุรกิจร้านอาหาร

2) ธุรกิจจองที่พักและการเดินทาง

3) ธุรกิจผับบาร์และสถานบริการกลางคืน


และ 4) ธุรกิจ MICE ซึ่งธุรกิจในกลุ่มนี้ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการเปิดประเทศ และมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน อีกทั้ง ฤดูกาลท่องเที่ยวสำคัญของประเทศในช่วงสิ้นปี ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจกลุ่มนี้เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

เมื่อพิจารณาจำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ในกลุ่มธุรกิจดังกล่าว ช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค. - ก.ย.) ของปี 2565 พบว่า

1) ธุรกิจร้านอาหาร มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจ ทั้งหมด 2,288 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 59.67

2) ธุรกิจจองที่พักและการเดินทาง มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด 722 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ถึง 261 เท่า

3) ธุรกิจผับบาร์ สถานบริการกลางคืน มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจ ทั้งหมด 102 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ถึง 200 เท่า

และ 4) ธุรกิจ MICE มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจ ทั้งหมด 1,202 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 10.17


กลุ่มธุรกิจที่สอดรับกับการหันมาดูแลสุขภาพของผู้บริโภค ได้แก่

5) ธุรกิจขายปลีกสินค้าทางเภสัชภัณฑ์

6) ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงาม


และ 7) ธุรกิจปลูกพืชประเภทเครื่องเทศเครื่องหอมยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์ โดยธุรกิจในกลุ่มนี้ได้รับแรงกระตุ้นจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้ประชาชนหันมาใส่ใจในสุขภาพของตนเองมากขึ้น และมีความต้องการใช้สมุนไพรเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้สมุนไพรไทยในการรักษาหรือบรรเทาอาการของโรคโควิด-19 เช่น ฟ้าทะลายโจร สารสกัดหอมแดงในรูปแบบนาโน (HomHom Balm Gel) โดยมีการเติบโตของการส่งออกสมุนไพรอย่างต่อเนื่อง


เมื่อพิจารณาสถิติการจดทะเบียนของกลุ่มธุรกิจนี้ ช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค. - ก.ย.) ปี 2565 พบว่า

5) ธุรกิจขายปลีกสินค้าทางเภสัชภัณฑ์ มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด 33 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ถึง 200 เท่า นอกจากนี้ในปี 2564 ธุรกิจนี้ยังมีกำไรสูงถึง 155.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 2

6) ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงาม มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด 506 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ถึง 1 เท่า มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่กว่า 1,270.08 ล้านบาท

และ 7) ธุรกิจปลูกพืชประเภทเครื่องเทศเครื่องหอมยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์ มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด 245 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 57 และมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ 620.20 ล้านบาท


กลุ่มธุรกิจที่สอดรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ ธุรกิจในกลุ่มนี้มีการเติบโตสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน ได้แก่

8) ธุรกิจการค้าออนไลน์ (e-Commerce) ที่นิยมซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์แทนการซื้อสินค้าหน้าร้าน

9) ธุรกิจอาหารแช่แข็ง ที่ให้ความสะดวก ง่าย และรวดเร็ว ตอบสนองวิถีชีวิตในรูปแบบปัจจุบัน

และ 10) ธุรกิจยานยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภค ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมโดยสร้างมลพิษน้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงรูปแบบอื่น

เมื่อพิจารณาสถิติการจดทะเบียนของกลุ่มธุรกิจนี้ ช่วง 9 เดือนแรก ปี 2565 พบว่า

8) ธุรกิจการค้าออนไลน์ (e-Commerce) มีการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด 1,214 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 12.51 และมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 13.83 นอกจากนี้ ธุรกิจดังกล่าวยังมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีรายได้สูงถึง 135,856.52 ล้านบาท

9) ธุรกิจอาหารแช่แข็ง มีการจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 คิดเป็น 1 เท่า และมีมูลค่าทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นคิดเป็น 2.7 เท่า

และ 10) ธุรกิจยานยนต์ มีการจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 คิดเป็น 1.26 เท่า และมีมูลค่าทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นคิดเป็น 133 เท่า สอดคล้องกับธุรกิจผลิตรถยนต์ส่วนบุคคลที่กว่าร้อยละ 60 ของนิติบุคคลจัดตั้งมีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ธุรกิจดาวเด่น 10 ธุรกิจ ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 2,018,062.10 ล้านบาท และมีธุรกิจคงอยู่ทั้งสิ้น 55,612 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 474,274.66 ล้านบาท คาดว่าปี 2565 นี้ การประกอบธุรกิจของภาคธุรกิจมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นและเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น และส่งผลถึงปี 2566 อย่างต่อเนื่อง


คุณอาจสนใจ

Related News