เศรษฐกิจ
ไทย-ญี่ปุ่น ร่วมผลิตแรงงานสู่ตลาดใน 16 สาขา คาด 5 ปี ข้างหน้าต้องการกว่า 8 แสนอัตรา
โดย panwilai_c
21 ธ.ค. 2567
59 views
ในอีก 5 ปี ข้างหน้านี้มีการคาดการณ์ไว้ว่าประเทศญี่ปุ่น มีความต้องการแรงงาน สูงถึงกว่า 820,000 อัตรา ทำให้ทางกระทรวงแรงงานมองเห็นถึงโอกาสนี้ ในการพัฒนากำลังคน ออกไปสู่ตลาดแรงงานในต่างประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่ระดับ ปวช. ปวส. และอุดมศึกษา เพื่อโอกาสในงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็มีความร่วมมือกับองค์กรพัฒนาแรงงาน ระดับนานาชาติ ประเทศญี่ปุ่นหรือ IM japan ในสถานภาพผู้ฝึกปฏิบัติงานทางเทคนิค
เยาวชนไทยวัยแรงงานกลุ่มนี้ อยู่ในช่วงเรียนรู้ภาษา กฎหมาย และ วัฒนธรรมเบื้องต้นของญี่ปุ่น เพื่อนำประสบการณ์ไปใช้ทำงานในสถานประกอบการ ในสถานภาพเป็นผู้ฝึกปฏิบัติงานทางเทคนิค
นี่เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรพัฒนาแรงงานระดับนานาชาติ ประเทศญี่ปุ่น International Manpower Development Organization หรือ IM เจแปน กับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งดำเนินร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2541
ผู้เข้าร่วมโครงการจะเสียค่าใช้จ่ายเบื้องต้น 7,000 บาท โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติม ระหว่างการเข้าฝึกอบรมที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหากผ่านการอบรมจนได้ไปฝึกงาน ก็จะมีรายได้เท่ากับอัตราค่าแรงจริงตามที่ญี่ปุ่นกำหนดไว้
ช่วง 3 ปีมานี้ IM เจแปน มีแรงงานไทย เข้าร่วมโครงการเฉลี่ยปีละ 200 คน ซึ่งทาง CEO ของ IM Japan มองถึงตลาดแรงงานญี่ปุ่นที่ยังมีโอกาสอีกมาก จากความต้องการแรงงานกว่า 820,000 อัตราใน 16 สาขาอาชีพ จึงตั้งเป้าเปิดรับคนไทยให้ได้อย่างน้อยปีละ 300-400 คน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด
คนไทย 2 คนนี้ อบรมอยู่ที่นี่มาได้ครึ่งเดือนแล้ว เหลืออีกครึ่งทางก็จะเข้าสู่การประเมินผลการทดสอบ ก่อนเข้าทำงานจริงที่โรงงานกลึงเหล็ก ในจังหวัดไซตามะ
ตอนนี้กระทรวงแรงงานได้ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา และสถานศึกษา เจาะกลุ่มของเยาวชนในระดับชั้นตั้งแต่ ปวช. ปวส. และอุดมศึกษา เป็นนครราชสีมาโมเดล เพื่อเตรียมความพร้อมของแรงงานตั้งแต่ต้น สู่การพัฒนาความสามารถ และทักษะของเยาวชนให้เหมาะสมกับทักษะวิชาชีพ
ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานระบุว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยถูกกฎหมายทำงานอยู่ในญี่ปุ่น 21,577 คน มากที่สุดเป็นผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค รองลงมาคือ แรงงานทักษะเพาะ แรงงานที่มีฝีมือและอื่นๆ ตามลำดับ
โดย 5 อันดับแรก ประกอบด้วย ภาคการผลิต / ที่พักและบริการอาหาร / ค้าปลีก-ส่ง / การเกษตรและก่อสร้าง
สำหรับภาคบริการ อย่างที่ร้านอาหารชาวไทย ที่โตเกียว ก็พบว่าพนักงานเกือบทั้งหมดเป็นคนไทย โดยหลายคนอยู่ที่นี่มานาน
เช่น ปิยากร สุขตาม ที่อยู่ญี่ปุ่นมา 13 ปี จนได้สถานภาพแรงงานมีฝีมือแล้ว โดยเข้ามาผ่านทางบริษัทจัดหางานที่จดทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน ทำให้ได้เรียนรู้ทั้งภาษา และ วัฒนธรรม ของคนที่นี่ เพื่อการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม ซึ่งเธอยังมองถึงช่องทางความมั่นคง ที่เกิดขึ้นจากการใข้ชีวิตอยู่ที่นี่
กระทรวงแรงงานได้คาดการณ์สถานการณ์ของตลาดแรงงานของญี่ปุ่นในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ หรือ ในปี 2573 พบว่าญี่ปุ่นยังต้องการแรงงานมาถึงกว่า 820,000 อัตรา โดยเฉพาะใน 16 สาขาวิชาชีพ ประกอบด้วย
งานบริบาล / พนักงานทำความสะอาด / งานผลิตสินค้าอุตสาหกรรม / งานก่อสร้าง / อุตสาหกรรมต่อเรือ / งานซ่อมบำรุงรถยนต์ / อุตสาหกรรมการบิน / ที่พักอาศัย / เกษตรกรรม / ประมง / ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม / งานบริการอาหาร / งานคมนาคมทางรถยนต์และรถไฟ / งานป่าไม้ และแปรรูปป่าไม้
ซึ่งยังเห็นได้ว่ามีโอกาสทางตลาดอีกมากในประเทศญี่ปุ่น
แท็กที่เกี่ยวข้อง กระทรวงแรงงาน ,พัฒนาแรงงานไทย ,ตลาดแรงงานญี่ปุ่น