เศรษฐกิจ

กทม.เดินหน้าสอบทุจริตเครื่องออกกำลังกาย หลังสังคมตั้งข้อสังเกต แพงกว่าราคาจริงหลายเท่า

โดย panwilai_c

6 มิ.ย. 2567

40 views

กรณีการตั้งข้อสังเกตของโครงการจัดซื้อ"เครื่องออกกำลังกาย"ของศูนย์กีฬากรุงเทพมหานคร ในราคาที่แพงผิดปกติ โดยเฉพาะลู่วิ่งที่ราคาสูงถึงกว่า 7 แสน 5 หมื่นบาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดทั่วไป



ล่าสุดผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน ขณะที่วันนี้คุณธีรุตม์ นิมโรธรรม ผู้สื่อข่าว 3 มิติ ไปดูเครื่องออกกำลังกายทั้งหมดนี้ที่สวนวชิรเบญจทัศ และได้สอบถามราคา กับบริษัทผู้จำหน่ายสินค้ายี่ห้อนี้โดยตรง พบว่าราคากลางและมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างสูงกว่าราคาที่ขายจริงถึงกว่า 6 เท่า



อุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกายในโซนเวทเทรนนิงยิม ของสวนวชิรเบญจทัศทั้งหมดนี้ เป็นรายการตามโครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 11 รายการ ที่ชมรม Strong ต้านทุจริตไทยนำมาเปิดเผย ร่วมกับโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์เดียวกัน ที่ศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ ถึงความผิดปกติของราคาเครื่องออกกำลังกายที่สูงกว่าราคาทั่วไปของตลาด

โดยจากการสอบถามผู้ใช้งานประจำ และ เจ้าหน้าที่ที่นี่ ระบุว่ามีการส่งมอบตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา และ ใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน



ข้อมูลราคากลางที่ถูกเปิดเผย ออกมาพบว่าของสวนวชิรเบญจทัศน์ มีจักรยานนั่งเอนปั่น ราคา 483,000 บาท 3 เครื่อง จักรยานนั่งปั่นแบบนั่งตรง 4510000 บาท 2 เครื่อง อุปกรณ์บริหารกล้ามเนื้อแขน 466000 บาท กล้ามเนื้อขา 477500 บาท กล้ามเนื้อหัวไหล่ อก 483000 บาท และอื่นๆ รวม 11 รายการ 4,999,500 บาท



ขณะที่ของศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ มี 11 รายการเท่ากันในราคา 4999990 บาท ต่างกันที่เพิ่มลู่วิ่งไฟฟ้าเข้ามา แต่ในราคาที่สูงถึง 759000 บาท โดยอุปกรณ์ทั้งหมดนี้ถูกตั้งข้อสังเกตถึงราคากลางที่สูงกว่าท้องตลาดทั่วไป ซึ่งเข้าข่ายการทุจริตหรือไม่



เนื่องจากบริษัทที่เข้าร่วมประมูลมีเพียง 2 บริษัทเท่านั้น ซึ่งบริษัทที่ชนะการประมูลก็เสนอราคามาต่ำกว่าราคากลางเพียง 700 บาท ขณะที่บริษัทที่แพ้ไป ก็เสนอราคามาเท่ากับราคากลางพอดี



ข่าว 3 มิติ ตรวจสอบข้อมูลจาก actai.co พบว่า บริษัทผู้ชนะการประมูลแห่งนี้ เคยเข้าร่วมประมูลงานของภาครัฐมาตั้งแต่ปี 2565 รวมแล้ว 10 ครั้ง ชนะการเสนอราคาทั้งหมด 9 ครั้ง โดยเป็นงานของ กทม.ทั้งหมด



นอกจากนี้ทีมข่าวได้สังเกตถึงเครื่องหมายเตือนของระบบ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์บ่งชี้ว่าโครงการทั้ง 2 อาจเข้าข่ายการทุจริต ตามที่ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มนี้ระบุไว้ตามเงื่อนไข



นาย ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ชี้แจงไทม์ไลน์ของโครงนี้ว่า บริษัทที่ชนะประกวดราคา เคยเข้าสู่กระบวนการสอบราคา TOR การแข่งขันราคา และ ร่วมงานกับ กทม. มาตั้งแต่ เดือนมีนาคม ปี 2565 และทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างในปีเดียวกัน ก่อนที่คณะบริหารชุดปัจจุบันจะเข้ามาทำงานในเดือนมิถุนายน ก่อนมีการจัดซื้ออุปกรณ์โครงการใน ปี 2566 และรับมอบปี 2567 ผ่าน E bidding



นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม ได้สั่งการให้ทางศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร ตรวจสอบทันที คู่ขนานไปกับ การตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมตั้งกรรมการตรวจสอบความผิดพลาดของกระบวนการ เพื่อขยายผลไปยังโครงการอื่นๆ



นายสมบูรณ์ หอมนาน รองปลัดกทม. อธิบายถึงขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างว่า เบื้องต้นที่ได้ตรวจสอบ โครงการได้ประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง ด้วยวิธีการ e-bidding เป็นการซื้อโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน



ซึ่งกำหนดราคากลาง กทม.ไม่ได้เป็นผู้ตั้งราคาขึ้นมาเอง โดยให้คณะกรรมการสืบราคาจากท้องตลาดไม่น้อยกว่า 3 ราย จากผู้ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ๆ และภายหลังกระบวนการสืบราคา จะใช้ราคากลางตามระเบียบกฎหมายกำหนด



ข่าว 3 มิติ สอบถามราคาไปยังผู้นำเข้าเครื่องออกกำลังกายยี่ห้อดังกล่าวนี้ ซึ่งได้รับการยืนยันราคาสินค้าในรุ่นเดียวกัน เช่น ตัวอย่างของจักรยานปั่นแบบนั่งตรง ที่ในสัญญาระบุราคากลาง 451,000 บาท แต่ราคาที่บริษัทขายอยู่ที่ 79,000 บาทเท่านั้น เท่ากับราคากลางสูงกว่าความเป็นจริงถึงเกือบ 6 เท่า เช่นเดียวกับอุปกรณ์อื่นๆ ที่มีราคาไล่เลี่ยกัน แม้จะนำเงื่อนไขด้านการประกันความเสี่ยงต่างๆ มาร่วมคำนวณแล้วก็ยังพบว่าราคากลางนี้อาจสูงกว่าความเป็นจริงได้หรือไม่



ล่าสุด กทม. เตรียมรื้อโครงการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องออกกำลังกายอีก 5 โครงการ ออกมาตรวจสอบใหม่อีกครั้ง หลังพบพฤติการณ์ที่อาจเข้าข่ายทุจริตในลักษณะเดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะทราบข้อเท็จจริงในเร็วๆ นี้

คุณอาจสนใจ

Related News