เศรษฐกิจ

เปิดขึ้นทะเบียนแรงงาน 4 สัญชาติ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

โดย panwilai_c

10 ก.ค. 2565

398 views

นายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าว ผิดกฎหมายอยู่ในการดูแลหรือว่าจ้างอยู่ตอนนี้ รวม 4 สัญชาติ คือ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม กำลังจะมีโอกาสนำแรงงานเหล่านั้นมาขึ้นทะเบียนทำงานอย่างถูกต้องอีกครั้ง หลังจากภาคเอกชนสะท้อนปัญหา ว่าแรงงานที่นำเข้าตามเอ็มโอยูในขั้นตอนปกติ มีจำนวนน้อยกว่าความต้องการแรงงานของนายจ้าง และตามข้อมูลที่เป็นจริงก็ยังพบว่ามีกิจการหลายแห่งตอนนี้ว่าจ้างแรงงานผิดกฎหมายอยู่ กระทรวงแรงงานจึงจะเปิดให้นายจ้างนำแรงงานเหล่านี้มาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง



ภาคธุรกิจที่ขับเคลื่อนเต็มรูปแบบตอนนี้ ทำให้กิจการหลายประเภท ขาดแคลนแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นภาคบริการ ร้านอาหาร ซึ่งทะยอยเปิดตัวตามแนวโน้มการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรม และกิจการก่อสร้าง ซึ่งต้องการแรงงานฝีมือมาขับเคลื่อนโครงการ แต่แรงงานเหล่านี้ยังมีน้อย โดยข้อมูลที่ยังขาดแคลนแรงงานมีมากถึง 1 แสน 2 หมื่นคน



นี่คือหนึ่งในประเด็นที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าไทย/สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างแห่งประเทศไทย, สมาคมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นต้น ส่งหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อให้เร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจ



ที่จริงแล้วกระทรวงแรงงาน ได้เปิดให้นำเข้าแรงงานตาม MOU 3 สัญชาติมาแล้วในช่วงที่วิกฤติโควิดเริ่มคลี่คลาย คือเมียนมา ลาว และกัมพูชา แต่จำนวนแรงงานที่เข้ามายังน้อยกว่าที่ต้องการ โดยเฉพาะปัญหาขัดแย้งในเมียนมา ทำให้แรงงานในประเทศดังกล่าวเดินทางตาม MOU ลำบาก



อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานระบุว่า มีหลายกิจการโดยเฉพาะตามแนวชายแดนที่ว่าจ้างแรงงานต่างด้าวโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้อง และมักอ้างถึงความจำเป็นที่ขาดแคลนแรงงานถูกต้อง ทำให้ต้องมีแรงงานผิดกฎหมายอยู่ กระทรวงแรงานจึงเสนอคณะรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบให้นำแรงงานเหล่านี้ขึ้นทะเบียนได้ แต่จากเดิมมีเพียง ลาว เมียนมา กัมพูชา แต่ตอนนี้เพิ่ม เวียดนาม ด้วย



การเปิดให้ขึ้นทะเบียนรอบนี้ กรมการจัดหางาน กำหนดให้แรงงานทั้ง 4 สัญชาติอยู่ และทำงานในไทยได้ ไม่เกิน 13 กุมภาพันธ์ 2556 หรือปีหน้า และหากได้รับอนุญาตทำงานครบถึง 13 กุมภาพันธ์ปีหน้แล้วต้องการจะทำงานต่อ ก็อยู่ทำงานแบบชั่วคราวต่อไปได้ไม่เกิน 13 กุมภาพันธ์ 2568 แรงงานลาว เมียนมา และกัมพูชา ที่จะได้สิทธิ์ดังกล่าว ต้องทำอยู่กับนายจ้างก่อนวันที่ครม.มีมติเห็นชอบแนวทางนี้ ซึ่งก็คือก่อนวันที่ 5 กรกฏาคมที่ผ่านมา และแรงงานเวียดนามก็เช่นกัน และต้องมีหนังสือเดินทางที่มีอายุและรอยตราประทับถูกต้อง



แนวทางปฎิบัติตามนโยบายดังกล่าว จะเริ่มได้ ภายใน 2 สัปดาห์นับจากนี้ เพราะต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามมาด้วยประกาศของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงาน



ขั้นตอนจากนี้คือนายจ้างต้องยื่นรายชื่อพร้อมรูปถ่ายแรงงานที่ต้องการจ้างภายใน 15 วัน นับจากที่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงานออกประกาศ จากนั้นก็ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนแรงงานภายใน 60 วัน หลังจากเสร็จสิ้นการยื่นรายชื่อเพื่อขอจ้าง เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการขึ้นทะเบียน ซึ่งกรมการจัดหางานชี้แจงรายละเอียดขั้นตอนไว้แล้ว

คุณอาจสนใจ