อาชญากรรม

ทลายโกดังผลิตภัณฑ์กันยุงที่ใช้กับเครื่องไฟฟ้าจากจีน มีสารอันตราย มูลค่ากว่า 2.5 ล้าน

โดย nutda_t

17 ก.ย. 2567

308 views

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมแถลงผลการปฏิบัติ กรณีทลายโกดังจัดเก็บกระจายผลิตภัณฑ์กันยุงที่ใช้กับเครื่องไฟฟ้าจากจีน ตรวจยึดยากันยุง พร้อมอุปกรณ์ไฟฟ้าส่วนควบ จำนวนกว่า 7,300 ชิ้น พร้อมทั้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เป็นความผิด 45 รายการ จำนวน 32,627 ชิ้น มูลค่ากว่า 2,500,000 บาท

สืบเนื่องจาก เจ้าหน้าที่กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ตรวจสอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กันยุงพร้อมอุปกรณ์ไฟฟ้าส่วนควบ ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเลขทะเบียนผลิตภัณฑ์ ผ่านแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ ซึ่งผลิตภัณฑ์กันยุงที่ อย.ได้ตรวจเฝ้าระวังตรวจพบสารเมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin) และ ไดมีฟลูทริน (Dimefluthrin) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethriods) ซึ่งจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 (วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน ที่ต้องขออนุญาตนำเข้า ผลิต และขอขึ้นทะเบียน) ซึ่ง อย. ไม่เคยอนุญาตให้นำเข้า ผลิต หรือขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่มีสารดังกล่าว จึงเป็นสารที่ยังไม่ผ่านการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ รวมถึงอัตราการใช้ที่เหมาะสม จึงอาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภคได้



เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้สืบสวน พบว่าตามแพลตฟอร์มออนไลน์ ผู้ขายมักโฆษณาข้อความระบุใช้ได้กับสตรีมีครรภ์และเด็กอ่อน ไม่มีผลหรือเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง ซึ่งอาจทำให้ประชาชนหลงเชื่อเข้าใจผิด คิดว่าไม่มีสารเคมีอันตราย อีกทั้งยังราคาถูกกว่าท้องตลาด จึงเป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป โดยไม่ได้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารเคมีวัตถุอันตรายที่เป็นส่วนผสม

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงร่วมกับ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำหมายค้นของศาล เข้าตรวจค้นโกดังเก็บสินค้า และจุดกระจายสินค้า ในพื้นที่ เขตพระโขนง เขตบางแค และเขตบางขุนเทียน จำนวน 3 จุด ดังนี้

1. นำหมายค้นของศาลอาญาพระโขนง เข้าตรวจค้นอาคารพาณิชย์ภายในซอยสุขุมวิท 54 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึด ดังนี้

1.1 ผลิตภัณฑ์กันยุงที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า ฉลากภาษาจีน บรรจุอยู่ในกล่อง ขนาดบรรจุ 45 มิลลิลิตร จำนวน 2,213 กล่อง

1.2 ผลิตภัณฑ์กันยุงที่ใช้กับเครื่องไฟฟ้า ชนิดขวดยังไม่บรรจุกล่อง ฉลากภาษาจีน ขนาด 45 มิลลิลิตร จำนวน 1,264 ขวด

1.3 หัวปลั๊กไฟฟ้าใช้ประกอบผลิตภัณฑ์กันยุงด้วยไฟฟ้า สีฟ้าและสีเขียว จำนวน 1,545 อัน

1.4 กล่องบรรจุผลิตภัณฑ์จุดกันยุงที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า ฉลากภาษาจีน จำนวน 200 กล่อง

2. นำหมายค้นของศาลแขวงธนบุรี เข้าตรวจค้นอาคารพาณิชย์ บริเวณตลาดสำเพ็ง 2 ถนนกัลปพฤกษ์ แขวงบางแค เขตบางแค กรุงเทพหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์กันยุงที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า ฉลากภาษาจีน สัญลักษณ์เด็กหัวจุกสีขาว (1กล่องประกอบด้วย หัวปลั๊กไฟฟ้า จำนวน 1 หัว ผลิตภัณฑ์กันยุงที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 4 ขวด) รวม 16 กล่อง

3. นำหมายค้นของศาลแขวงธนบุรี เข้าตรวจค้นโกดังเก็บสินค้าจำหน่ายสินค้า ภายในซอยเทียนทะเล 20 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ผลการตรวจค้นพบ

3.1 ผลิตภัณฑ์กันยุงที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า ฉลากภาษาจีน รูปกระต่าย จำนวน 1,600 ขวด

3.2 หัวปลั๊กไฟฟ้าใช้ประกอบผลิตภัณฑ์กันยุงด้วยไฟฟ้า จำนวน 750 อัน

3.3 สเปรย์กำจัดแมลง ไรฝุ่น ยี่ห้อ Spray Green prickly Ash ไม่มีฉลากภาษาไทย จำนวน 20 ขวด

3.4 เครื่องสำอาง ฉลากไม่มีภาษาไทย ไม่มีเลขจดแจ้ง จำนวน 45 รายการ รวม 32,627 ชิ้น



จากการสืบสวนขยายผลเพิ่มเติม พบว่า ทั้ง 3 จุด มีการนำเข้าสินค้ามาจากประเทศจีน จากนั้นนำมาเก็บไว้ที่สถานที่จัดเก็บจุดต่างๆ เพื่อรอคำสั่งซื้อ และแพ็คส่งให้ลูกค้าในประเทศไทย โดยมีการบริหารจัดการในลักษณะ “เก็บ แพ็ค ส่ง” หรือ Fulfillment โดยนำเข้ามาในราคาขวดละ  5-8 บาท แล้วนำออกขายในราคาขวดละ 10 - 20 บาท

ผลการตรวจค้นทั้ง 3 จุด ตรวจยึดผลิตภัณฑ์กันยุงที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่มีฉลากภาษาไทยและไม่มีเลขทะเบียนผลิตภัณฑ์ จำนวน 5,077 ขวด หัวปลั๊กไฟฟ้าใช้กับน้ำยากันยุง จำนวน 2,295 ชิ้น

ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)  ที่ร่วมกันเข้าตรวจสอบสถานที่ลักลอบขายผลิตภัณฑ์กันยุงที่ใช้กับเครื่องไฟฟ้าที่ขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีฉลากภาษาไทยและไม่ระบุเลขทะเบียนวัตถุอันตราย



ผลตรวจวิเคราะห์พบสาร เมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin) และ ไดมีฟลูทริน (Dimefluthrin) ซึ่งเป็นสารกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethroids) จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ ซึ่งผลิตภัณฑ์กันยุงที่ใช้กับเครื่องไฟฟ้า ที่ตรวจพบในครั้งนี้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีฉลากภาษาไทยและไม่ระบุเลขทะเบียนวัตถุอันตราย โดยสารดังกล่าว เป็นสารที่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. จึงเป็นสารที่ยังไม่ผ่านการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ รวมถึงอัตราการใช้ที่เหมาะสม จึงอาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้


นอกจากนี้ ยังพบว่าสารดังกล่าวยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันด้านความปลอดภัย โดยไม่สามารถสืบค้นข้อมูลด้านความปลอดภัยต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมของสารดังกล่าวได้ และพบว่ายังไม่เคยมีการอนุมัติให้ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป และสารเมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin) ไม่อยู่ในรายการสารที่แนะนำให้ใช้โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงขอเตือนผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากเป็นภาษาไทยและระบุเลขทะเบียนวัตถุอันตรายในกรอบเครื่องหมาย

แท็กที่เกี่ยวข้อง  ยากันยุง

คุณอาจสนใจ