อาชญากรรม

ปคบ.-อย. ทลายแหล่งผลิตเสริมอาหารลวงโลก อวดอ้างสรรพคุณรักษาโรคร้าย

โดย nutda_t

28 มี.ค. 2567

2.7K views

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. , พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. , พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ. พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เข้าตรวจค้น 2 จุด ยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ADOXY จำนวน 7,327 ขวด มูลค่ากว่า 10,000,000 บาท

สืบเนื่องจาก กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับการประสานงานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ทำการตรวจสอบการโฆษณาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในลักษณะอวดอ้างสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร และไม่ได้รับอนุญาต ด้วยภาพ เสียงและข้อความ ซึ่งได้มีการดำเนินคดีในความผิดฐาน “โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร และโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ต่อมาพบว่า ยังมีการโฆษณาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ โดยการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณในลักษณะที่สื่อหรือแสดงให้เข้าใจว่า เมื่อรับประทานแล้วมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกาย หน้าที่การทำงานของอวัยวะ หรือระบบการทำงานของร่างกาย สามารถบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันความเจ็บป่วย หรืออาการของโรค ซึ่งอาจประชาชนให้เกิดความหลงเชื่อ บางคลิปวิดีโอยังใช้บุคคลมีชื่อเสียง ดารา เป็นพรีเซนเตอร์สร้างความน่าเชื่อถือ ยอมซื้อสินค้ามารับประทานในราคาสูงถึงขวดละ 1,450 บาท (15 มิลลิลิตร) โดยมีการโฆษณาจำหน่ายในลักษณะดังกล่าวมาแล้วประมาณ 4 ปี ซึ่งความจริงแล้ว ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นเพียงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ใช่ยารักษาโรค

จากการตรวจสอบ พบการโฆษณาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผ่านเว็ปไซต์ และเฟสบุ๊ก รวมกว่า 22 เว็ปไซต์ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส่งตรวจ ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร โดยมีลักษณะและวัตถุประสงค์ในการผลิตเป็นอาหาร จึงจัดเป็นอาหารตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 และพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้อง เช่น ฉลากระบุส่วนประกอบสำคัญ ไม่สอดคล้องกับสูตรส่วนประกอบที่ได้รับอนุญาต อีกทั้งฉลากแสดงส่วนประกอบสำคัญไม่ตรงกับที่ขออนุญาต ซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตตามสูตรส่วนประกอบนั้น แต่แสดงเลขสารบบอาหาร ทำให้เข้าใจว่าได้รับอนุญาตแล้ว จัดเป็นอาหารปลอมตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 27(4)

เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงได้ทำการสืบสวนจนทราบถึงกลุ่มผู้กระทำความผิด แหล่งผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ต่อมาในวันที่ 21 มีนาคม 2567 จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออนุมัติหมายค้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 2 จุด ดังนี้

1. บริษัทผู้จัดจำหน่าย พื้นที่ เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นแหล่งจัดเก็บ และกระจายสินค้าให้ตัวแทนจำหน่าย ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 6,480 ขวด รวมทั้งพยานหลักฐานอื่นๆ เพื่อประกอบการดำเนินคดี จากการตรวจสอบพบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจัดจำหน่ายโดยผ่านทางตัวแทนจำหน่ายในลักษณะธุรกิจเครือข่ายเพื่อเพิ่มช่องทางในการกระจายสินค้า เน้นทำการตลาดในเชิงโฆษณาชวนเชื่อ มีตัวแทนระดับต่างๆ และเป็นกลุ่มย่อยกระจายไปหลายกลุ่ม มีการขายเป็นลักษณะการขายตรง ใช้วิธีโฆษณาถึงความสำเร็จ ความร่ำรวยจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายเพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการนำสินค้าไปจำหน่าย โดยผู้บริษัทผู้จัดจำหน่ายเป็นผู้จัดทำข้อความ คลิปวิดีโอโฆษณาชวนเชื่อ ส่งให้ตัวแทนไปทำการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ตามช่องทางการขายออนไลน์ของตน

2. สถานที่ผลิต พื้นที่ ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 847 ขวด , ผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ติดฉลาก, รวมทั้งฉลาก ขวด และกล่องบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิต จากการตรวจสอบพบว่า สถานที่ดังกล่าวได้รับใบอนุญาตผลิตอาหาร แต่เมื่อเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ทำการตรวจสุขลักษณะสถานที่ผลิตอาหาร พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ GMP ตามที่กฎหมายกำหนด (ไม่มีการจัดทำบันทึกควบคุมการผลิต) และพบว่าเอกสารเบิกจ่ายวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ตรงกับสูตรส่วนประกอบที่ได้รับอนุญาตไว้ จึงเข้าข่ายเป็นอาหารปลอม

รวมตรวจค้น 2 จุด ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 7,327 ขวด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ยังไม่ติดฉลากจำนวนหนึ่ง รวมทั้งฉลาก ขวด-กล่องบรรจุภัณฑ์ มูลค่าประมาณ 10,917,230 บาท

ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่าผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบในครั้งนี้ เป็นอาหารที่ได้รับอนุญาตแต่มีการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง และมีพฤติกรรมในการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียล โพสต์รูปภาพ คลิปวิดีโอ และข้อความอันสื่อให้เข้าใจว่าสามารถรักษาโรคต่างๆ ได้ เช่นโรคเบาหวาน ไมเกรน มะเร็ง ภูมิแพ้ เก๊าท์ โรคตับ โรคไต ไทรอยด์เป็นพิษ สะเก็ดเงิน ข้อเข่าเสื่อม ที่โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ ไม่มีหลักฐานหรือผลการทดสอบประสิทธิภาพทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน ขอเตือนไปยังผู้กระทำการโฆษณา ให้หยุดทำการโฆษณาที่เป็นเท็จเกินจริงและหลอกลวงนั้นเสีย

แท็กที่เกี่ยวข้อง  อาหารเสริมลวงโลก

คุณอาจสนใจ