อาชญากรรม

ผู้บริหารชิปปิ้งนำเข้า 41 ตู้ เข้าพบ DSI พร้อมแจงรายละเอียดปมหมูเถื่อน ด้วยความบริสุทธิ์ใจ

โดย kanyapak_w

1 ธ.ค. 2566

286 views

จากกรณีที่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ดำเนินคดีกับขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบ คดีพิเศษที่ 59/2566 หลังจากได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (เนื้อสุกรแช่แข็ง) ตั้งแต่ปี 2564 - ปัจจุบัน กระทั่งขอศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหา ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าสินค้าหรือชิปปิ้งเอกชน จำนวน 10 ราย (จับกุมครบแล้ว) ในความผิดฐาน นำของผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดเกี่ยวกับของนั้น ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และความผิดฐานนำเข้า ส่งออกหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และได้จับกุม 2 ผู้ต้องหาในกลุ่มนายทุน


ล่าสุด ออกหมายเรียกนายทุนเพิ่มอีก 1 ราย (โดยเป็นหนึ่งในกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด) และเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้มีการสรุปสำนวนผู้ต้องหาล็อตแรกกว่า 20 ราย โดยเป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่ราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบริษัทเอกชนที่นำเข้าสินค้าประเภทซากสุกร ต่อสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อไต่สวนข้อเท็จจริง


พร้อมขยายผลเตรียมรับกรณีขบวนการองค์กรอาชญากรรมที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดที่ส่งผลต่อความมั่นคงด้านอาหาร (สุกร) ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ เป็นคดีพิเศษอีกคดี หลังพบว่าเกี่ยวข้องกับการนำเข้าตู้หมูเถื่อนเกือบ 1 หมื่นตู้ในช่วงปี 2564 - ปัจจุบัน เงินหมุนเวียนในกิจการกว่า 7 พันล้านบาท มีทั้งข้าราชการประจำและนักการเมือง เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง



ความคืบหน้าช่วงสายวันนี้ นายบริบูรณ์ กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม บริษัทฯ แห่งหนึ่ง เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อชี้แจงรายละเอียด ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ว่าไม่ได้อยู่ในขบวนการ หรือรู้เห็นในการประทำความผิด เนื่องจากตามรายงานระบุว่า นายบริบูรณ์ รับหน้าที่เป็นทั้งบริษัทชิปปิ้งเอกชนและนายทุน



ภายหลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ นำโดย พันตำรวจตรีณฐพล ดิษฐธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน ได้มีการขยายผลในคดีหมูเถื่อน จำนวน 161 ตู้ มาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถติดตามจับกุมผู้ต้องหากลุ่มบริษัทชิปปิ้งเอกชนได้ทั้งสิ้น 10 ราย และอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเตรียมขอศาลออกหมายจับอีก 2 บริษัท (1 กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม) เนื่องจากพบว่าทั้งสองแห่งนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเข้าตู้หมูเถื่อน รวม 41 ตู้ มีเงินหมุนเวียนหลักพันล้านบาท และกรรมการรายนี้ยังเกี่ยวข้องกับข้าราชการฝ่ายการเมือง อักษรย่อ ป.



ซึ่งภายหลังจากที่เข้าให้ปากคำเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนเตรียมแจ้งข้อหา ในความผิดฐานนำของผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดเกี่ยวกับของนั้น ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และความผิดฐานนำเข้า ส่งออกหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558



คณะพนักงานสอบสวน นำโดย พันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ รองอธิบดีดีเอสไอ และในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ ยังอยู่ระหว่างการสอบปากคำนายบริบูรณ์ และตรวจสอบวัตถุพยานเอกสารที่เกี่ยวข้อง



คุณอาจสนใจ

Related News