อาชญากรรม

ตบเท้าแฉยับ 'ส่วยสติกเกอร์' สหพันธ์ขนส่งฯ จ่อยื่นหลักฐานให้ก้าวไกล - 'วิโรจน์' ซัดไม่ว่าต้นเหตุไหน ก็เก็บส่วยไม่ได้

โดย nattachat_c

30 พ.ค. 2566

122 views

จากกรณี นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมรถบรรทุกหลายคัน ถึงมีสติ๊กเกอร์แบบเดียวกันติดเอาไว้ ซึ่งบางส่วนยืนยันว่า เป็นระบบ 'อีซี่พาส' (Easy Pass) 


วานนี้ (29 พ.ค. 66) เวลา 10.52 น.

นายวิโรจน์ ได้เผยแพร่คลิป ซึ่งรถขนส่งได้ลอกสติกเกอร์พิสดารออก พร้อมระบุว่า “กระต่ายน้อย เริ่มถูกปล่อยคืนสู่ป่าแล้วครับ” ซึ่งในคลิประบุว่า “ปล่อยน้องคืนสู่ป่า โชคดีนะ ดูแลตัวเองด้วย”


วานนี้ (29 พ.ค. 66) เวลา 02.52 น. 

นายวิโรจน์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุข้อความว่า

สติ๊กเกอร์ #พระอาทิตย์ยิ้มแฉ่ง เดือน 5 เอ๊ย! version 5.0 ยังอยู่ระหว่างการเช็คบิลแท้ๆ นี่ก็ยังอุตส่าห์กล้า Update Firmware เป็นเดือน 6 เอ๊ย! version 6.0 อีกหรือครับเนี่ย


ผู้ผลิตสติกเกอร์ ก็คงแค่ผลิตออกมา ตามความเคยชินที่ทำมาเป็นสิบๆ ปี แต่ผมเชื่อว่า กรมทางหลวง และกองบังคับการตำรวจทางหลวง ไม่น่าจะยอมให้สติกเกอร์ #พระอาทิตย์ยิ้มแฉ่ง version 6.0 มาติดบนกระจกรถบรรทุก เย้ยกฎหมาย อย่างแน่นอนครับ

-------------

วานนี้ (29 พ.ค. 66) พลตำรวจตรีเอกราช ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้กำกับการ และสารวัตร สถานีตำรวจทางหลวงทั่วประเทศ ว่า


เนื่องจากวันนี้ มีวาระการประชุมประจำเดือนของกองบังคับการตำรวจทางหลวงทั่วประเทศอยู่แล้ว จึงถือโอกาสชี้แจงการปฏิบัติงาน กรณีส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ด้วย


โดยในการประชุมวันนี้ ได้สอบถามกับทุกสถานีตำรวจทางหลวง ยืนยันว่า ที่ผ่านมา ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเก็บส่วยดังกล่าว


จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบ หากพบว่ามีผู้ประกอบการรายใดกระทำผิดกฎหมายก็จะต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด รวมไปถึงหากมีเจ้าหน้าที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้อง นอกเหนือจากการดำเนินการทางกฎหมายแล้วก็ต้องถูกดำเนินการทางวินัยด้วยอย่างเคร่งครัด โดยยืนยันว่าจะทำอย่างจริงจังแบบถอนรากถอนโคน


สำหรับเรื่องของสติกเกอร์หรือป้ายต่างๆ จากข้อมูลที่ได้มีการประสานกับสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยมาก่อนหน้านี้ ก็พบว่า มีภาคเอกชนและกลุ่มผู้ประกอบการขนส่ง ได้รวมกลุ่มกันจัดทำสติกเกอร์หรือป้ายต่างๆ แต่ที่ต้องมาตรวจสอบดูก็คือ เรื่องดังกล่าวมีตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องของการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ถ้าหากพบก็ต้องดำเนินการ


ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่มีข้อมูลว่ามีเจ้าหน้าที่กระทำความผิด แต่หากประชาชนมีข้อมูลเบาะแสก็สามารถส่งเข้ามาให้ตรวจสอบได้ ยืนยันว่า กองบังคับการตำรวจทางหลวงจะทำอย่างเต็มที่


พล.ต.ต. เอกราช กล่าวต่อไปว่า ปัญหาเรื่องส่วยเป็นปัญหาที่มีมานาน แต่เรื่องส่วยคือปลายเหตุ ปัญหาที่เป็นต้นเหตุก็คือเรื่องรถบรรทุกบรรทุกเกินกำหนด จึงมองว่าการแก้ไขจำเป็นต้องแก้ในภาพรวม โดยเฉพาะเรื่องการแก้กฎหมาย โดยในปัจจุบันกฎหมายให้ดำเนินคดีกับผู้ขับขี่ ไม่ใช่ผู้ประกอบการรถบรรทุก ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการไม่ได้รับผลกระทบ จึงเกิดการกระทำความผิดซ้ำ


ดังนั้น อาจต้องพิจารณาเรื่องการแก้ไขกฎหมาย เช่น หากจับรถบรรทุก 1 คัน พบว่าบรรทุกหนักเกิน 20% ก็ให้สั่งยึดรถของผู้ประกอบการรายดังกล่าวทุกคัน เชื่อว่าคงสามารถยึดรถบรรทุกได้หลายหมื่นคัน ก็อาจจะทำให้ผู้ประกอบการเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้ากระทำผิด รวมถึงอาจต้องย้อนถามไปยังสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยด้วยว่า อะไรคือปัญหาที่แท้จริง ที่ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความเห็นแก่ตัว จนต้องบรรทุกหนักเกินกำหนด ก็ต้องไปแก้ไขในมิติอื่นๆ ด้วย


พล.ต.ต. เอกราช กล่าวต่ออีกว่า ในวันนี้เวลา 13.00 น. ได้เรียกผู้กำกับการและสารวัตรของสถานีตำรวจทางหลวงทั่วประเทศเข้ามาประชุมเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในการกำหนดทิศทางการทำงาน และยืนยันว่ากรณีดังกล่าวหากมีเจ้าหน้าที่คนใดกระทำความผิดก็ต้องรับผิดชอบผลการกระทำของตัวเอง


“จะมาอ้างว่าอาชีพตำรวจไม่พอกินไม่ได้ เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็ให้ไปเลือกอาชีพอื่น ไม่ใช่มาใช้อาชีพตำรวจไปหากิน ตนขอให้ความมั่นใจในฐานะผู้นำของกองบังคับการตำรวจทางหลวงว่าจะแก้ปัญหาให้ดีที่สุด” พล.ต.ต. เอกราชกล่าว

-------------

วานนี้ (วันที่ 29 พ.ค.) ทีมข่าว ได้ข้อมูลจากคนขับรถบรรทุก 1 ราย และยอมให้ข้อมูลกับทีมข่าวว่า ระบุว่าไม่มีใครกล้าให้ข้อมูล เพราะหลายคนกลัวว่าจะมีปัญหา และกระทบต่องาน


คนขับรถบรรทุกรายนี้ ยอมรับว่า ส่วยสติกเกอร์ส่วยรถบรรทุกยังมีอยู่จริงในปัจจุบัน ตนเองก็เสียค่าส่วยสติกเกอร์ เป็นสติกเกอร์รูป “ไจแอนท์” ที่เอาไว้เคลียร์วิ่งแบก หมายถึงการเคลียร์เวลารถที่ขนดิน ขนทรายวิ่งน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด ก็จะไม่ถูกเจ้าหน้าที่เรียกตรวจ  แต่ตนเองต้องเสียรายเดือน


พร้อมอ้างว่า ตนจ่ายค่าสติกเกอร์ส่วย ลายไจแอนท์ไปเดือนละ 7,000 บาท โดยจ่ายให้กับคนที่ไปรับเคลียร์ และหากต้องการเคลียร์กับทางหลวงเพิ่ม ก็เสียอีกประมาณ 2,000 รวม เฉลี่ยที่ต้องเสียเดือนละ 9,000 บาท


ซึ่งสติกเกอร์ลายนี้ จะใช้ประมาณ 3-4 เดือน แล้วค่อยเปลี่ยนลายใหม่ แต่เมื่อ 2 วัน ที่ผ่านมา หลังจากเริ่มมีข่าว ก็ได้สั่งให้ลอกสติกเกอร์ 'ไจแอนท์' ออกแล้ว

-------------

นอกจากนี้ ทีมข่าวลงพื้นที่สำรวจรถบรรทุก 10 ล้อ ที่บรรทุกสินค้าในพื้นที่ต่างๆ ย่านปริมณฑล แต่ไม่พบสติกเกอร์ลายต่างๆ ที่เรียกกันว่า 'ส่วยสติกเกอร์' ตามที่มีการปรากฏเป็นข่าว ติดอยู่ที่หน้ารถ


จึงตระเวนไปสอบถามคนขับรถบรรทุกหลายคัน เมื่อทีมข่าวแสดงตัว และสอบถามเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ปรากฎว่า ผู้ขับรถบรรทุกหลายคนอ้ำอึ้ง ก่อนจะยืนยันว่า เมื่อก่อนยอมรับว่ามีส่วยสติกเกอร์จริงๆ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว เพราะไม่คุ้ม เนื่องจากต้องเสียรายเดือนแลกกับการไม่ถูกเรียกเวลาบรรทุกเกินน้ำหนัก ซึ่งเมื่อก่อนที่เคยมี จะเป็นสติกเกอร์สีๆ ที่จะรู้กัน พอใกล้หมดเดือน ก็จะมีการเตือนให้เปลี่ยนสีสติกเกอร์ และจ่ายรายเดือน
-------------

นายวิชัย สว่างขจร นายกสมาคมขนส่งสินค้าภาคอีสาน ได้เปิดเผยว่า เรื่องสติ๊กเกอร์ Easy Pass พิสดารแบบนี้ มีมานานแล้ว โดยมีหลายแบบ


เมื่อสติกเกอร์แบบเดิมหมดอายุหรือถูกกวาดล้าง ก็จะมีการปรับเปลี่ยนเป็นสติกเกอร์ใหม่ขึ้นมาอีกเรื่อยๆ ซึ่งเป็นวงจรการทำมาหากินของขบวนการนี้ และต้องเป็นขบวนการที่มีขนาดใหญ่มาก โดยมีผู้ร่วมขบวนการตั้งแต่ระดับนักการเมืองใหญ่ ไล่ลงมาหาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการระดับกลาง และเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในแต่ละพื้นที่ เพราะถ้าไม่ทำเป็นขบวนการอย่างนี้ จะไม่สามารถเคลียร์ค่าผ่านทางได้อย่างแน่นอน


ซึ่งกลุ่มรถบรรทุกที่ใช้บริการสติกเกอร์เหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ ที่ต้องบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากทุกวันนี้ การแข่งขันด้านการขนส่งสินค้า ลูกค้าที่มาใช้บริการส่วนใหญ่จะแข่งขันกันที่ราคา ใครขนส่งสินค้าได้ราคาถูกกว่า ก็จะมีลูกค้าให้ความสนใจเรียกใช้บริการมากขึ้น


ส่วนใครที่บรรทุกตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ก็จะมีค่าขนส่งที่แพงกว่า เพราะจริงๆ แล้วถ้าจะบรรทุกตามกฎหมายไม่เกิน 21 ตัน จะบรรทุกได้ไม่ถึงครึ่งกระบะ (สำหรับรถบรรทุกหิน บรรทุกทราย) จึงทำให้เกิดขบวนการหากินใต้ดินลักษณะนี้ขึ้นมา


นายวิชัยกล่าวอีกว่า เรื่องสติกเกอร์ Easy Pass พิสดารนี้ มีการพูดถึงกันมานานแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นสมาคมรถขนส่งสินค้าแต่ละภาค ยังแยกกันอยู่ แต่เมื่อไม่นานมานี้ สมาคมรถขนส่งสินค้าต่างๆ ทั่วประเทศ 10 องค์กร ได้จับมือรวมกันเป็นสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย จึงได้มีการแชร์ข้อมูลกัน


และพบว่า สติกเกอร์เหล่านี้มีหลากหลายมาก กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าขบวนการนี้ใหญ่โตมาก ถ้าไม่ใหญ่จริงคงไม่สามารถทำได้ทั้งประเทศแน่ๆ ต้องมีผู้ใหญ่ระดับชาติอยู่เบื้องหลัง และทำเป็นขบวนการจนถึงระดับนายตำรวจระดับล่างๆ

-------------

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงประเด็นที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล โพสต์กรณีรถบรรทุกหลายคัน ติดสติกเกอร์ที่เป็นสัญลักษณ์ให้ผ่านทางได้แบบไม่ต้องเสียเงิน ว่า


ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ทางสหพันธ์จะนำข้อมูลและหลักฐานไปมอบให้ที่พรรคก้าวไกล และยืนยันว่าสมาชิกของสหพันธ์ทั้ง 10 สมาคม ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เพราะได้ลงนามในสัญญา (เอ็มโอยู) ร่วมกันไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าสมาชิกจะไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับเรื่องผิดกฎหมาย แต่ยอมรับว่าเรื่องนี้มีอยู่จริง และผมมีหลักฐานทั้งรายชื่อบริษัท และเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดกฎหมาย


“เรื่องนี้ถือเป็นความผิดร้ายแรง และมีการกระทำผิดเช่นนี้มาตั้งแต่ปี 2539 แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเรารับรู้ถึงเรื่องการซื้อขายสติกเกอร์ และสู้เรื่องนี้มาโดยตลอด ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่จะสามารถช่วยพรรคก้าวไกลได้คือ เราต้องให้ความร่วมมือโดยการให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง อาทิ ที่มาของสติกเกอร์กว่า 50-60 แบบ


คลิปเสียง และคลิปวิดีโอที่มีการแอบถ่ายเอาไว้ว่าเรื่องนี้มีจริง แต่เราไม่สามารถโพสต์ลงในสื่อโซเชียลได้ เพราะเกรงว่าจะผิด พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จึงจะนำข้อมูลไปให้พรรคก้าวไกล เพื่อหาผู้กระทำผิดมารับโทษต่อไป” นายอภิชาติกล่าว


นายอภิชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่ามีรถบรรทุกที่จ่ายค่าสติกเกอร์อยู่ประมาณ 150,000-200,000 คัน จากจำนวนรถบรรทุกที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ประมาณ 1,500,000 คัน ซึ่งในจำนวนที่จ่ายสติกเกอร์ส่วยรถบรรทุกเฉลี่ยต่อเดือน มีมูลค่านับพันล้านบาท


ดังนั้น จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้น ตรวจสอบควบคุมผู้ว่าจ้าง และผู้รับจ้างไม่ให้บรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด เพราะปัจจุบันนี้ เหมือนกฎหมายเอาผิดได้แต่ผู้รับจ้าง เมื่อเจอกระทำผิดดำเนินการตามกฎหมาย อาทิ จับ ปรับเงิน ยึดรถ และจำคุก


ส่วนผู้ว่าจ้างและผู้ที่มีอิทธิพลเกี่ยวกับส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก เมื่อมีเบาะแสอยากให้ตรวจสอบ หากกระทำผิด อยากให้ดำเนินการลงโทษตามกฎหมายด้วย เพราะปัญหาการกระทำผิดเกี่ยวกับการบรรทุกน้ำหนักเกิน ส่งผลให้โครงข่ายถนน และสะพานเกิดชำรุด พังเสียหาย ก่อนถึงอายุการใช้งาน


ถนนมีอายุการใช้งาน 20 ปี แต่เมื่อมีการบรรทุกน้ำหนักเกินใช้งาน 2-3 ปี พังแล้ว รวมทั้งเกิดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุบนท้องถนน ภาครัฐต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงถนนทั่วประเทศปีละหมื่นล้านบาท และเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยกับผู้ใช้รถใช้ถนน

-------------

วานนี้ (29 พ.ค. 66) เวลา 23.12 น. 

นายวิโรจน์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุข้อความว่า

ต้นเหตุจะเป็นอะไรก็ช่าง แต่ตำรวจจะเอามาอ้างเป็นเหตุในการรีดไถ เก็บส่วยไม่ได้!!!


ผิดกฎหมาย ก็จับ ปรับ ดำเนินคดี


กฎหมายไม่สอดคล้องในทางปฏิบัติ ไม่ทันสมัย โทษไม่สมสัดส่วน มีช่องว่างให้เรียกรับผลประโยชน์ ก็แก้ไขกฎหมายให้เหมาะสม


ต้นทางจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่ปลายทาง มันต้องไม่ใช่ "ส่วย" แน่ๆ

-------------


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/5WFlV49i5To


คุณอาจสนใจ

Related News