อาชญากรรม

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ เรียก "รัชฎา" อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ เข้าไต่สวน 23 ก.พ. นี้ ปมยื่นฟ้องเอาผิด ผู้การ ปปป. - ชัยวัฒน์

โดย kanyapak_w

14 ก.พ. 2566

100 views

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ เรียก รัชฎา อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ เข้าไต่สวน 23 ก.พ. นี้ ปมยื่นฟ้องเอาผิด ผู้การ ปปป. - ชัยวัฒน์ ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีเข้าจับกุมคาห้องทำงาน พร้อมทำหนังสือสั่ง บช.ก. ส่งเอกสารชี้แจงการจับกุมโดยละเอียด



จากกรณีที่นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เอาผิดพลตำรวจตรีจรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ปปป. และนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมพวกรวม 7 คน หลังจากที่ตำรวจ ปปป. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เข้าจับกุมนายรัชฎา กรณีเรียกรับเงินจากหัวหน้าหน่วยงานในสังกัด โดยมีการล่อซื้อ และพบเงินสดภายในห้องทำงานประมาณ 5 ล้านบาท



คดีนี้นายรัชฎา ได้ยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ , ความผิดต่อเสรีภาพ ,ทำพยานหลักฐานเท็จฯ , เป็นเจ้าพนักงานแกล้งให้ต้องรับโทษ ,บุกรุก , ซ่องโจร , และความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 โดยในคำฟ้อง นายรัชฎา อ้างว่า จำเลยทั้งหมดวางแผนพูดคุยล่อให้ตกลงรับเงิน และยังมีการบันทึกวิดีโอนำไปให้สื่อมวลชนเพื่อนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน ทำให้ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง และนายรัชฎา ยังกล่าวอ้างว่า นายชัยวัฒน์ เป็นผู้มาติดต่อพบตนในวันเกิดเหตุที่ห้องทำงาน โดยไม่ได้นัดหมายไว้ล่วงหน้า และมีการนำซองสีขาวบรรจุเงิน จำนวน 3 ซอง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 98,000 บาท มามอบให้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม



ล่าสุด วันนี้ (14 กุมภาพันธ์) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้นัดฝ่ายโจทก์มาฟังคำสั่งว่าจะรับคดีไว้ไต่สวนหรือไม่ โดยหากพบว่าคดีไม่มีมูล ศาลจะพิพากษายกคำร้อง



โดยวันนี้ นายรัชฎาไม่ได้เดินทางมาศาลด้วยตนเอง มีเพียงทนายความเดินทางมาฟังคำสั่งของศาลเท่านั้น ซึ่งศาลพิจารณาจากคำฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่า ยังมีบางส่วนที่ยังฟ้องไม่ถูกต้อง ได้แก่ ความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจากโจทก์ยังไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดว่าผู้ถูกฟ้องกระทำการละเมิดอย่างไร ดังนั้น ศาลจึงสั่งให้โจทก์แก้คำฟ้องใหม่ และต้องชี้ช่องพยานหลักฐานเพื่อให้ศาลนำสืบ โดยต้องยื่นฟ้องใหม่ภายใน 15 วัน



ส่วนการฟ้องในฐานความผิดที่เหลือ ศาลมีคำสั่งให้นายรัชฎาในฐานะโจทก์ ต้องมาไต่สวนถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ก่อน - ขณะ - หลังถูกจับกุม โดยเรียกมาไต่สวนในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ นี้ เวลา 09.30 น. หากนายรัชฎาไม่เดินทางมาไต่สวนด้วยตัวเองถือว่าไม่ประสงค์ฟ้องคดีต่อ



นอกจากนี้ ศาลยังมีคำสั่งให้ออกหนังสือสอบถามไปยังกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อให้ทำรายงานมายังศาลใน 4 ประเด็น คือ 1.มูลเหตุการเข้าจับกุมนายรัชฎาที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา รวมถึงรายละเอียดพฤติการณ์ทั้งก่อน - ขณะ - หลังเข้าจับกุม ,2.การเข้าจับกุมมีหมายค้น หรือหมายจับนายรัชฎาหรือไม่ , 3.มีการบันทึกภาพ และเสียงขณะตรวจค้นและจับกุมหรือไม่ หากมี ได้มีการนำภาพไปเผยแพร่หรือไม่ ซึ่งการนำไปเผยแพร่เกี่ยวข้องกับการทำคดีหรือความลับทางราชการหรือไม่ หรือขัดต่อระเบียบของตำรวจหรือไม่ , 4.เงินจำนวน 98,000 บาท รวมทั้งพยานหลักฐานที่ตรวจยึดในห้องทำงานที่ยึดไปมีการบันทึกจับกุมไว้หรือไม่ มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง



โดยศาลได้ให้ตำรวจทำรายงานส่งให้ศาลภายใน 30 วันหลังจากได้รับหนังสือ และศาลได้นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาทางคดีอีกครั้งในวันที่ 30 มีนาคมนี้ เวลา 09.30 น.



ขณะที่นายวราชันย์ เชื้อบ้านเกาะ ทนายความของนายรัชฎา เปิดเผยว่า เตรียมแก้คำฟ้องตามคำสั่งของศาลและจะยื่นฟ้องใหม่ให้ทันตามกรอบเวลาที่ศาลกำหนด และนายรัชฎา จะมาไต่สวนที่ศาลด้วยตัวเองในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ พร้อมยังยืนยันว่าการเข้าตรวจค้นจับกุมของเจ้าหน้าที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีพฤติการณ์การล่อซื้อโดยคนกลางที่ผิดวิสัยชัดเจน ทำให้ต้องมาฟ้องให้ศาลดำเนินคดีตามข้อหาดังกล่าว



นายวราชันย์ ยังบอกอีกว่า นายรัษฎา เชื่อว่าสาเหตุของการเข้าจับกุมของตำรวจและนายชัยวัฒน์ในครั้งนี้ เกิดขึ้นมาจากกรณีที่มีการร้องเรียนให้ตรวจสอบกรณีที่นายชัยวัฒน์ มีการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อนำไปทำโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 4,200 ไร่ ภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มูลค่ากว่า 14 ล้านบาท เมื่อปี 2561 สมัยที่นายชัยวัฒน์ยังอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี แต่เมื่อมีการเบิกจ่ายงบประมาณแล้ว กลับไม่มีการดำเนินการปลูกป่าจริงตามโครงการดังกล่าว จึงมีผู้ไปร้องปปท. ให้ตรวจสอบ ซึ่งทาง ปปท. ได้ส่งเรื่องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตรวจสอบ กระทรวงจึงดำเนินการต่อ แต่เมื่อนายชัยวัฒน์เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ คดีได้ส่งมาถึงสำนักงาน ป.ป.ช. แล้ว และอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาชี้มูลความผิด ซึ่งกำลังจะหมดอายุความในเดือนมีนาคม 2566 ดังนั้น เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ที่นายรัษฎาได้เข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานฯ จึงได้ถูกเสนอเรื่องนี้ให้ดำเนินการหาผู้รับผิด และชดใช้ค่าเสียหาย นายรัษฎา จึงได้มีการเซ็นแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการละเมิด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งเชื่อว่าเหตุการณ์นี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้นายชัยวัฒน์ ไปร่วมกับตำรวจ ปปป. วางแผนล่อซื้อให้เข้าจับกุมนายรัชฎา จนทำให้เกิดความเสียหาย



นายวราชันย์ ยังระบุเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ทีมทนายความของนายรัษฎา เตรียมที่ยื่นฟ้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. เพิ่มเติมอีก 1 สำนวน เนื่องจากเข้าข่ายความผิดปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเช่นกันเกี่ยวกับการสร้างพยานหลักฐานเท็จ ส่วนสำนวนคดีนี้เป็นการฟ้องนายชัยวัฒน์ และตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ



ส่วนกรณีที่นายรัชฎา อ้างว่าเงินที่ได้รับจากหน่วยงานในสังกัดเป็นการนำไปสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 เพื่อหาเงินเข้าไปในกองทุนของข้าราชการสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติฯ นั้น นายวราชันย์ ยืนยันว่า ข้อมูลในส่วนดังกล่าวยังไม่ขอเปิดเผย เนื่องจากเป็นข้อมูลในการใช้ต่อสู้ทางคดี




คุณอาจสนใจ

Related News