อาชญากรรม

อ.เจษฎา ไม่แนะนำใช้ไซยาไนด์ กำจัดสัตว์มีพิษ-สัตว์เลื่อยคลาน เสี่ยงอันตรายต่อคนใช้

โดย JitrarutP

5 พ.ค. 2566

99 views

อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูล "ในประเทศไทยยังไม่เคยมีการศึกษา ว่าไซยาไนด์ กำจัดสัตว์มีพิษหรือสัตว์เลื่อยคลานได้" ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะมีความเสี่ยงและอันตรายต่อบุคคลที่ใช้

ในเรื่องนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า การนำไซยาไนด์มาใช้ฆ่าสัตว์เลื่อยคลาน เคยมีทดลองในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นการใช้สารแคลเซียมไซยาไนด์ ไปโรยบริเวณโพรงหรือรูงู เมื่อมีความชื้น สารเคมีจะระเหย ทำให้งูตาย แต่การศึกษาดังกล่าว เป็นเพียงการทดลอง ไม่มีการนำไปใช้จริง

ส่วนในประเทศไทย ไม่เคยศึกษาในเรื่องนี้ ไซยาไนด์ที่พบว่ามีการซื้อ ก็ไม่ใช่แคลเซียมไซยาไนด์ที่ศึกษาในต่างประเทศ ไม่รู้ว่าจะได้ผลกับสัตว์เลื่อยคลานหรือไม่ ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ไม่แนะนำให้ใช้สารพิษรุนแรงเพื่อกำจัดสัตว์เลื่อยคลาน เพราะยังไม่มีข้อแนะนำการใช้ที่ถูกต้อง ว่าจะใช้การโรยหรือการคลุกในอาหาร ดังนั้นผู้ใช้จะมีความเสี่ยงและอันตรายมาก

สำหรับโทษการครอบครองไซยาไนด์ จากกองควบคุมวัตถุเสพติด กรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า "ไซยาไนด์ เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3" ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 บทลงโทษ ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยมิได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนโทษการใช้ไซยาไนด์ ในแง่ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ดูแลด้านอาหาร ยา และเครื่องสำอาง เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า ไซยาไนด์ เป็นสารเคมีที่ใช้ในทางอุตสาหกรรม ไม่ใช้ทางยา สารไซยาไนด์จึงจัดเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ห้ามนำเข้า ห้ามครอบครอง และห้ามนำมาผสมใส่อาหาร ยา และเครื่องสำอาง หากพบผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/_DMKnThyh5w



คุณอาจสนใจ

Related News