อาชญากรรม

ผู้การ ปคบ.สั่งลุย! ตรวจสอบดรามา 'หลอกขายทองปลอม' เผยยังไม่มีผู้เสียหายแจ้งความ

โดย paweena_c

23 ก.ย. 2567

1.4K views

ผู้การ ปคบ. สั่งตรวจสอบดรามาหลอกขายทองปลอม เผยขณะนี้ยังไม่มีผู้เสียหายแจ้งความ ส่วนการดำเนินคดีต้องดูว่ามีเจตนาหลอกลวงฉ้อโกงหรือไม่

พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ ปคบ. เปิดเผยกรณี มีผู้ใช้ติ๊กต็อกรายหนึ่งโพสต์คลิปนำกุหลาบทองคำ และสร้อยคอจี้ไอ้ไข่ทองคำ ที่ซื้อมาจากร้านขายทองออนไลน์ช่องดังในติ๊กต็อก เอาไปขายให้ร้านทอง สุดท้ายได้รู้ความจริงว่า “ทองปลอม” ขายไม่ได้ ไม่มีเปอร์เซ็นต์ทองบอก และไม่มีใบรับรอง

จนเกิดกระแสดรามาว่า ในประเด็นดังกล่าวจะเข้าข่ายความผิดหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้จะต้องดูว่าผู้ขายมีเจตนาหลอกลวงหรือฉ้อโกงหรือไม่ ส่วนที่ทางร้านประกาศขายทอง 96.5 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อนำไปขายและนำไปจำนำไม่มีใครรับนั้น ก็อาจเป็นไปได้ว่าร้านค้ามีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภค หรือเป็นไปได้ว่าส่วนผสมของทองไม่ได้เปอร์เซ็นต์ครบ

ต้องดูเจตนารายละเอียดตามข้อเท็จจริงว่าผู้ซื้อมีการตกลงกับทางผู้ขายอย่างไร เช่น มีการโฆษณาชักชวนแบบไหน อ้างถึงคุณภาพลักษณะ น้ำหนัก เปอร์เซ็นต์ของทองที่ขาย หากไม่เป็นไปตามที่โฆษณาไว้ก็จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ

ส่วนที่ทางร้านรับซื้อคืนในราคาที่ต่ำกว่าราคาขายทั้งที่ราคาทองคำน่าจะแพงขึ้นนั้น โดนหลักขึ้นอยู่กับตัวสินค้าหากเป็นทองคำแท่ง หรือทองรูปพรรณ เครื่องประดับ ก็อยู่ที่เงื่อนไขหรือใบรับรองที่ทางผู้ขายออกให้ลูกค้าว่าจะรับซื้อคืนราคาเท่าไหร่ หรือมีการหักเปอร์เซ็นต์อะไรหรือไม่ ปกติจะมีเงื่อนไขตกลงกันอยู่ เช่น หากเป็นทองคำแท่งก็จะมีข้อกำหนดไว้ มีมาตรฐานราคากลางอยู่แล้ว

แต่หากเป็นทองรูปพรรณหรือเครื่องประดับก็อยู่ที่เงื่อนไขที่ทางร้านตกลงกับลูกค้า ว่าจะมีค่ากำเหน็ด ค่าแรง หรือค่างานฝีมือ แต่ละร้านก็มีอัตราไม่เท่ากัน รวมไปถึงเรื่องของเงื่อนไขเวลาอยู่ เช่น ลูกค้าซื้อไป 1 ปี หากจะให้ทางร้านซื้อคืนในราคาเดิมร้านค้าก็คงไม่ยินยอม

พล.ต.ต.วิทยา ย้ำว่า เรื่องของการขายสินค้าออนไลน์ ทางตำรวจ ปคบ.มีการติดตามอยู่ตลอดว่ามีการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ มีการหลอกลวงประชาชนหรือไม่ แต่โดนหลักจะต้องมีผู้เสียหายมาร้องทุกข์กล่าวโทษ เพราะจะไปกล่าวหาโดยไม่มีผู้เสียหายการดำเนินคดีก็จะมีความยุ่งยาก โดนเฉพาะเมื่อเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาล

อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นจากการตรวจสอบในส่วนของตำรวจ ปคบ.ยังไม่ปรากฎมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ส่วนที่มีการเผยแพร่ทางโซเชียลมิเดียกัน ทางตำรวจปคบ.ก็จะต้องมีการพิสูจน์ทราบก่อนโดยฟังข้อมูลและข้อเท็จจริงหลายๆด้าน ซึ่งได้มอบหมายให้ทีมติดตามและรวบรวมข้อมูลของแต่ละฝ่ายไว้แล้ว ว่าข้อเท็จจริงเป็นยังไง ย้ำว่าหากมีผู้เสียหายมาแจ้งความก็จะเป็นเรื่องที่ดีเพราะมีพยานบุคคลประกอบการพิจารณา



แท็กที่เกี่ยวข้อง  ฉ้อโกง ,หลอกขายทองปลอม ,ปคบ.

คุณอาจสนใจ