อาชญากรรม
ยึดอายัดทรัพย์กว่า 116 ล้าน แก๊งหลอกลงทุนฟาร์มเห็ดทิพย์ เตรียมเฉลี่ยคืนผู้เสียหาย
โดย olan_l
24 ก.ค. 2567
516 views
ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ให้ความสำคัญในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีรวมถึงการกระทำผิดเกี่ยวกับการหลอกลงทุนออนไลน์ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. มอบหมายให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพชร์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. ร่วมกันเร่งรัดขับเคลื่อนผลการปฏิบัติของตำรวจทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศให้ดำเนินการ ดังนั้น ภายใต้การอำนายการของ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์ครบัญชา ผบช.สอท. จึงได้ดำเนินการตามนโยบายจนมีการเปิดปฏิบัติการตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด พร้อมทั้งขยายผลเพื่อจับกุมผู้กระทำผิดให้ได้ทั้งขบวนการและนำไปสู่การยึดอายัดทรัพย์เพื่อนำไปเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้เสียหาย
วันนี้ (24 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ณ อาคารสัมมนาและฝึกอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (เมืองทองธานี) นำโดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. คุณกมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย รองเลขาธิการ ปปง. พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผบก.ตอท. และ พ.ต.อ.คัมภีร์ พรหมสนธิ รอง ผบก.สอท.3 ร่วมกับ คุณ Bryan Anderson รองผู้ช่วยทูต ประจำภูมิภาค สำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา (HSI) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าว ปฏิบัติการยึดอายัดทรัพย์ขบวนการหลอกลงทุน TURTLE FARM ส่งมอบทรัพย์สินกว่า 116 ล้าน เตรียมเข้าสู่กระบวนการเฉลี่ยคืนผู้เสียหาย
สืบเนื่องจากเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2565 ได้มี หจก.สถานีหลักสี่ ร่วมกับกลุ่มผู้ต้องหาที่ร่วมขบวนการรวมทั้งสิ้น 11 ราย ได้ชักชวนประชาชนผ่านสื่อโซเชียลให้ร่วมลงทุนธุรกิจฟาร์มเห็ดในชื่อ “Turtle Farm” โดยอ้างว่าเป็นการลงทุนเพาะเห็ด ปลูกพืชกระท่อม เลี้ยงผึ้ง รวมทั้งการลงทุนฟาร์มเกษตรรูปแบบต่างๆ และยังอ้างว่าได้ผลกำไรตอบแทนในการลงทุนสูง โดยมีบริษัทหนึ่งรับหน้าที่ผลิตโฆษณาชวนเชื่อให้แก่กลุ่มผู้ต้องหา เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือต่อเหยื่อในการนำเงินมาลงทุน
ต่อมามีเหยื่อหลายรายหลงเชื่อจึงได้โอนเงินลงทุน จากนั้นกลุ่มผู้ต้องหาได้นำเงินที่ลงทุนดังกล่าวไป โดยไม่ได้นำไปลงทุนในฟาร์มตามที่โฆษณากล่าวอ้างแต่อย่างใด ต่อมากลุ่มผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในขบวนการดังกล่าว โดยจากข้อมูลพบว่าคดีนี้ มีผู้เสียหายกว่า 1,885 ราย สร้างความเสียหายรวมกันกว่า 1,290,483,471 บาท
ต่อมา บช.สอท. ได้แต่งตั้งชุดทำงานเพื่อรับผิดชอบคดีดังกล่าวโดยเฉพาะ ตามคำสั่ง บช.สอท. ที่ 115/2565 ลงวันที่ 2 ส.ค.65 และได้ร่วมเข้ากันนำกำลังเข้าตรวจค้น Turtle Farm ณ บ้านเลขที่ 102/3 ถนนสกลทวาปี ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งจดทะเบียนโดย หจก.สถานีหลักสี่ และ บจก.ไมน์นิ่ง มายน์ เอ็กซ์
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รวบรวมพยานหลักฐานจนสามารถดำเนินคดีกับผู้ต้องหา จำนวน 11 ราย โดยดำเนินคดีผู้ต้องหาที่ 1 – 5 ได้แก่ หจก.สถานีหลักสี่ (ผู้ต้องหาที่ 1), บจก.ไมน์นิ่ง มายน์ เอ็กซ์ (ผู้ต้องหาที่ 2) น.ส.ฐานวัฒน์ (ผู้ต้องหาที่ 3) น.ส.พลอยฐิตา (ผู้ต้องหาที่ 4) และน.ส.นันทวดี (ผู้ต้องหาที่ 5) ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อความอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ในฐานะที่ได้ร่วมกันออกอุบายชักชวนผ่านสื่อออนไลน์เพื่อให้ประชาชนมาร่วมลงทุน และเป็นกลุ่มผู้รับผลประโยชน์ในคดีนี้ และได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาอื่นที่เกี่ยวข้องอีก 6 ราย ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน”
ภายหลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านหรูย่าน ถ.รามอินทรา-นมิวนทร์และบริษัทที่รับผลิตสื่อโฆษณาให้แก่ขบวนการดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ซอยสุเหร่าคลองหนึ่ง 15 แขวงบางชัน แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งแจ้งข้อหาคดีฟอกเงินเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องอีกจำนวน 3 ราย
ต่อมาวันที่ 21 ธ.ค.65 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้มีคำสั่งยึดทรัพย์ ครั้งที่ 1 รวมทั้งสิ้นจำนวน 21 รายการ มูลค่าประมาณ 12,333,074.47 บาท วันที่ 8 ก.พ.66 ได้มีคำสั่งยึดทรัพย์ ครั้งที่ 2 จำนวน 3 รายการ มูลค่าประมาณ 5,856,840 บาท พร้อมดอกผล วันที่ 14 มี.ค.66 ได้มีคำสั่งยึดทรัพย์ ครั้งที่ 3 จำนวน 4 รายการ รวมมูลค่าประมาณ 1,291,700 บาท พร้อมดอกผล
วันที่ 21 ธ.ค.66 ศาลจังหวัดสกลนคร ได้มีคำพิพากษาว่าจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และ ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งประกอบด้วย หจก.หลักสี่ (จำเลยที่ 1), บริษัท ไมน์นิ่ง มายน์ เอ็กซ์ จำกัด (จำเลยที่ 2) และกรรมการอีก 3 คน (จำเลยที่ 3-5) โดยตัดสินให้จำคุกกระทงละ 5 ปี ซึ่งคดีนี้มีผู้เสียหาย 1,117 คน รวมความผิด 1,117 กระทง รวมโทษจำคุก 5,585 ปี แต่ตามกฎหมายจำคุกได้ไม่เกิน 20 ปี และยังพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึง 5 คืนเงินค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายรายละ 550,000 บาท ผู้เสียหาย 1,117 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 614,350,000 บาท
ในส่วนคดีความผิดฐานฟอกเงิน พนักงานสอบสวนได้สรุปความเห็นสั่งฟ้อง หจก.หลักสี่, บริษัท ไมน์นิ่ง มายน์ เอ็กซ์ จำกัด และกรรมการอีก 3 คน รวมถึง บริษัท พี เอ็น มาร์เก็ตติ้ง ออนไลน์ จำกัด (บริษัทที่รับผลิตสื่อโฆษณา) และผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 8 ราย เสนอพนักงานอัยการ
จากนั้น เมื่อวันที่ 9 ก.ค.67 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้มีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.133/2567 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว(เพิ่มเติม) รายห้างหุ้นส่วนจำกัด สถานีหลักสี่ กับพวก จำนวน 30 รายการ รวมราคาประเมินมูลค่ากว่า 116,350,439.10 บาท พร้อมดอกผล ได้แก่ เงินสด รถยนต์ ทองรูปพรรณ เครื่องประดับ นาฬิกา ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง อาคารชุด และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร ซึ่งหากรวมทรัพย์สินที่ยึดและอายัดจำนวน 4 ครั้ง รวมราคาประเมินจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 139,914,596,10 บาท พร้อมดอกผล
โดยล่าสุด เมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่ 24 ก.ค.67 พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.อรุณณพันธ์ วานิช์ชานันท์ ผกก.4 บก.สอท.3 และ พ.ต.อ.อดิชาต อมรประดิษฐ ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.3 นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ ปปง. เข้าตรวจยึดบ้านหรูพร้อมที่ดินและคอนโด ในพื้นที่ กทม. จำนวน 2 แห่ง ตามคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมฯ ดังกล่าว ดังนี้
1. บ้านหรูหลังหนึ่งในหมู่บ้านลลิล กรีนวิลล์ ลักซ์ ซอยพระยาสุเรนทร์ 40 ถนนรามอินทรา-นวมินทร์ แขวงคลองสามวา เขตสามวาตะวันตก กทม.
2. ห้องชุด ชั้น 8 คอนโด ยูนิโอ เสรีไทย แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กทม. จนนำมาสู่การส่งมอบทรัพย์สินที่ บช.สอท. สามารถตรวจยึดและอายัดได้จากการกระทำผิดของขบวนการหลอกลงทุน Turtle Farm ครั้งที่ 4 รวมมูลค่ากว่า 116 ล้านบาท ให้แก่ ปปง. เพื่อเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย และเตรียมเข้าสู่กระบวนการนำทรัพย์สินทั้งหมดมาเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้เสียหายที่โดนหลอกลวงต่อไป
แท็กที่เกี่ยวข้อง อายัดทรัพย์ ,หลอกลงทุน ,ฟาร์มเห็ดทิพย์