ข่าวประชาสัมพันธ์ช่อง 3

6 ความเข้าใจผิดเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า

โดย thichaphat_d

13 ก.ค. 2567

105 views

จริงเหรอที่บุหรี่ไฟฟ้า …ปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน …ไม่ใช่ควัน แต่เป็นไอน้ำ …ช่วยเลิกสูบบุหรี่มวนได้ …มีนิโคตินน้อยกว่าบุหรี่มวน อันตรายน้อยกว่าฝุ่น PM 2.5 …ไม่เป็นอันตรายต่อคนรอบข้าง หรือน้องหมาน้องแมว ฯลฯ

เห็นแท่งสวย ๆ คูล ๆ นั้น คุณกำลังถือหรือคล้องระเบิดเวลาไว้ ไม่ว่าคุณจะเคยได้ยินมายังไง วันนี้เรามี 6 เรื่องเข้าใจผิด ที่มักจะถูกยกมาอ้างเพื่อให้บุหรี่ไฟฟ้าดูดี ทั้งที่มีผลกระทบมากกว่าที่คุณเคยได้ยินมาหลายเท่า

1.ที่เห็นควันขาว ๆ นั่นเป็น ไอน้ำ = ผิด บุหรี่ไฟฟ้าทำงานโดยขดลวดทำให้เกิดความร้อน จนน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าระเหยกลายเป็นไอ ซึ่งอยู่ในรูปไอระเหยน้ำมัน (ควันขาว ๆ นั่นแหละ)

ซึ่งในไอระเหยที่ว่านี้มีขนาดอนุภาคเล็กกว่า PM2.5 เสียอีกซึ่งเต็มไปด้วยสารอันตรายจำนวนมาก หลัก ๆ ก็คือ

● VG หรือ Vegetable Glycerin น้ำมันที่เป็นตัวการทำให้ปอดอักเสบรุนแรง

● PG หรือ Propylene Glycol ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองเมื่อสูดดม และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดหอบหืด

● สารเคมีหลายชนิดพบได้ในน้ำมันเบนซิน น้ำยาล้างเล็บ ยาฆ่าแมลง น้ำยาล้างห้องน้ำ ฯลฯ

● สารในไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้า เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคปอดข้าวโพดคั่ว (Popcorn lung) รวมถึง ปอดเป็นฝ้าขาวอย่างรุนแรง หรือ ปอดอักเสบรุนแรง EVALI ซึ่งมีต้นเหตุโดยตรงมาจากบุหรี่ไฟฟ้า (https://resourcecenter-uat.thaihealth.or.th/media/3Wk4?view-item=view_related)


2.ปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน = ผิด

● กลิ่นของน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า มาจากสารแต่งสี แต่งกลิ่น และสารอีกหลายอย่างที่เติมลงไป

● ซึ่งหลายตัวอยู่ในกลุ่มที่ อย. ของสหรัฐ ระบุว่าเป็นสารอันตราย เช่น เบนซิน ฟอร์มาลีน สไตรีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ตามมาด้วยโลหะหนักที่คุณคิดไม่ถึง อย่าง แคดเมียม โคบอลต์ สารหนู เป็นต้น

3.มีนิโคตินน้อยกว่าบุหรี่มวน = ผิด

● นิโคติน ไม่ว่าจะในบุหรี่มวน หรือ บุหรี่ไฟฟ้า เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้หลอดเลือดหดตัว หลอดเลือดหัวใจตีบตัน หลอดเลือดสมองตีบ

● นิโคติน ยังส่งผลต่อสมอง มีผลต่อระบบความจำ พัฒนาการของสมอง (โดยเฉพาะผู้สูบเด็ก) กระทบต่อระบบอารมณ์ และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า และ โรคจิตเภท

● ในบุหรี่มวนมีปริมาณนิโคติน 1 มิลลิกรัม แต่น้ำยาที่ใช้เติมบุหรี่ไฟฟ้าบางชนิด 1 ซีซี มีปริมาณนิโคตินสูงถึง 180 มิลลิกรัม สูงกว่าบุหรี่มวนถึง 180 เท่า

● หากสูบบุหรี่ไฟฟ้า 1 พอต ร่างกายจะได้รับนิโคตินเท่ากับบุหรี่ 1 ซอง (20 มวน = นิโคติน 200 มิลลิกรัม)  (https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=27707)

4.ช่วยเลิกบุหรี่มวนได้ = ผิด

● มีงานวิจัยระบุว่า นิโคตินเป็นสารที่ก่อให้เกิดการเสพติดสูงสุดมากกว่าเฮโรอีน ด้วยซ้ำ

● มีข้อมูลว่า คนที่อยากเลิกบุหรี่ แล้วหันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า กลับเลิกไม่ได้สักอย่าง ร้ายกว่านั้นคือ ติดทั้งสองอย่างไปเลย และอันตรายก็ยิ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าสูบเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยซ้ำ

5.อันตรายน้อยกว่าฝุ่น PM 2.5 = ผิด

● ไอระเหย (ควัน) บุหรี่ไฟฟ้า มีขนาดเล็กกว่าฝุ่น PM 2.5 ที่กลัวกันทั้งบ้านทั้งเมือง และนำพาสารอันตรายเข้าสู่เม็ดเลือดแดงได้เร็วแค่ 20 วินาที

6. ไม่เป็นอันตรายกับคนรอบข้างรวมถึงสัตว์เลี้ยง = ผิด

● ไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าจะทำอันตรายต่อคนรอบข้างเช่นกัน

● นอกจากนี้ไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้า มักลอยต่ำลงสู่พื้น ซึ่งโอกาสที่สัตว์เลี้ยงแสนรัก อย่างน้องหมา น้องแมว ซึ่งมีปอดเล็กกว่าและหายใจเร็วกว่าคน จะรับเข้าไปก็เป็นไปได้ง่ายขึ้น

● มีข้อมูลว่า สัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ไม่ควรได้รับนิโคตินเกิน 9-12 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (เทียบง่าย ๆ ไม่ถึง ¼ ของบุหรี่ไฟฟ้า 1 พอตด้วยซ้ำ)

● การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในห้องปิดที่มีสัตว์เลี้ยงอยู่ด้วย จึงเท่ากับเป็นการหยิบยื่นความตายจากควันบุหรี่มือสอง (secondhand smoke) ให้พวกเขาโดยไม่รู้ตัว

● อีกกรณีก็คือ การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในรถยนต์ทำให้ไส้กรองแอร์ตันเร็วขึ้น แล้วลองคิดดูว่าถ้าเป็นปอดคน ปอดสัตว์เลี้ยงจะเป็นอย่างไร



หากใครอ่าน 6 ข้อมูลนี้แล้วสนใจข้อมูลว่า

“บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายกว่าที่คิดย่างไร?” สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าในทุกแง่มุม ได้ที่นี่ คู่มือ “บุหรี่ไฟฟ้าภัยร้ายซ่อนลึก” คลิกที่นี่

https://creativehealthcampaign.thaihealth.or.th/cms/storage/articles/คู่มือบุหรี่ไฟฟ้าภัยร้ายซ่อนลึก_20240627_140336.pdf

หากต้องการคำแนะนำ ติดต่อ คลินิกฟ้าใส ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือ โทร. 1600  Quitline สายด่วนเลิกบุหรี่ บริการให้คำปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์ เพื่อช่วยเลิกบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตลอด 24 ชั่วโมง



คุณอาจสนใจ