ข่าวประชาสัมพันธ์ช่อง 3

“มูลนิธิตันปัน โดย ตัน-อิง อิชิตัน” มอบเงิน 5.5 ล้านบาท อัดฉีด 69 หมู่บ้านเชียงใหม่ ช่วยกันลดจุดความร้อนต้นเหตุ PM 2.5 กระตุ้นทุกภาคส่วนช่วยขยายโครงการให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาในระยะยาว

โดย thichaphat_d

3 พ.ค. 2567

40 views

“ผมรักเชียงใหม่ ผมคนนึงที่จะไม่ยอมแพ้กับปัญหาฝุ่นPM2.5 ที่ยังวิกฤตมีผลกระทบต่อสุขภาพรุนแรง เป็นความเสียหายที่ประเมินไม่ได้” ตัน อิชิตัน กล่าวในฐานะประธาน “มูลนิธิตันปัน นำโดย ตัน – อิง ภาสกรนที” ที่ได้ร่วมมือกับ มูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันจังหวัดเชียงใหม่ นำโดย นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และนายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงนายอำเภอแม่ริม และนายอำเภอหางดง จัดโครงการท้าดวลชาวบ้านนำร่องใน 69 หมู่บ้าน แข่งกับตัวเองช่วยกันลด “จุดความร้อน” ต้นเหตุฝุ่น PM2.5 ด้วยการ ไม่เผา – แจ้งจับ – ไม่สนันสนุนของป่า มุ่งเป้าลดจุดความร้อนลง 80% เทียบกับข้อมูลจุดความร้อนของปีที่แล้ว หมู่บ้านไหนทำได้รับเลย 1 แสนบาท/หมู่บ้าน เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่น PM2.5 และในกิจกรรมให้ชุมชนมีการสร้างอาชีพที่ยั่งยืนในหมู่บ้าน ตั้งแต่ 20 มีนาคม – 30 เมษายน 2567 (40 วัน) ที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการป้องกันไฟและฝุ่นควันในระดับพื้นที่


หลังจบโครงการ ผลการแข่งสะท้อนถึงจุดเริ่มต้นที่ดี แสดงให้เห็นว่า ถ้าแต่ละหมู่บ้านมีความมุ่งมั่นก็สามารถช่วยกันลดจุดความร้อนได้เห็นผลจริง โดย 54 หมู่บ้านจาก 69 หมู่บ้านใน 2 อำเภอ ทำสำเร็จ ลดจุดความร้อนได้ตามเป้า 80% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกับปีก่อนด้วยความร่วมมือกันในชุมชน

อำเภอหางดง (22 หมู่บ้าน) มีจุดความร้อนทั้งหมด 59 จุดจากเดิม 181 จุดในปีก่อน โดยมีหมู่บ้านที่ไม่เกิดจุดความร้อนเลย 14 หมู่บ้าน ส่วนอำเภอแม่ริม (47 หมู่บ้าน) มีจุดความร้อน 52 จุดเทียบกับ 131 จุดในปีก่อน มีหมู่บ้านที่ไม่เกิดจุดความร้อนเลยถึง 30 หมู่บ้าน รวม 2 อำเภอ 69 หมู่บ้านร่วมมือกันลดจุดความร้อนลงได้ถึง 201 จุด สถิติรวมลดลง 65% “มูลนิธิตันปัน นำโดย ตัน – อิง ภาสกรนที” จึงได้มอบเงินรางวัลให้แก่ 54 หมู่บ้าน/หมู่บ้านละ 1 แสนบาท และเงินรางวัลปลอบใจให้กับอีก 15 หมู่บ้าน ที่ไม่สามารถทำได้ตามเป้าอีกหมู่บ้านละ 10,000 บาท รวมเป็นยอดเงินสนับสนุนในครั้งนี้กว่า 5.5 ล้านบาท เพื่อแทนคำขอบคุณและเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่และชุมชนที่ได้พยายามลดจุดความร้อนกันอย่างสุดความสามารถ


ตัน อิชิตัน ได้พูดถึงโครงการนำร่องที่ประสบผลสำเร็จนี้ว่า “สิ่งที่ยากที่สุดคือการตัดสินใจของชุมชนแต่ละหมู่บ้าน ที่ต้องคิดถึงผลกระทบต่อส่วนร่วมให้มากกว่าผลประโยชน์ส่วนตน จากนั้นก็เหลือเพียงตั้งใจทำต่ออย่างต่อเนื่องจนสามารถลดจุดความร้อนได้สำเร็จ ไม่มีใครรู้ว่าชาวเชียงใหม่จะเผชิญปัญหาฝุ่นPM 2.5 ไปอีกนานแค่ไหน แต่ผมเชื่อว่าถ้าเริ่มต้นดีแล้วก็มีโอกาสดีขึ้นได้ต่อไป ขอให้เราทุกคนช่วยกัน ลองคิดดูว่าเพียงทำนำร่อง 69 หมู่บ้านใน 40 วัน ยังลดจุดความร้อนได้ถึง 201 จุด คิดเป็น 65% เกินครึ่ง ในขณะที่หมู่บ้านที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการสามารถลดจุดความร้อนลงได้เพียง 39%


จังหวัดเชียงใหม่มีทั้งหมด 2,070 หมู่บ้าน หากนำข้อมูลสถิติจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ที่รวมรวมสถิติการเกิดจุดความร้อนในเชียงใหม่ในปี 2566 (1 ม.ค. – 17 เม.ย. 66) ทั้งหมด 11,712 จุด แล้วนำสถิติโครงการนี้ที่สามารถลดจุดความร้อนได้ถึง 65% ไปเทียบ จะเหลือเพียง 4,099 จุด เชื่อว่าถ้าทำได้ตัวเลขนี้หรือน้อยกว่านี้ลงไปเรื่อยๆ จะช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นPM 2.5 ที่ทำให้เชียงใหม่ติดอันดับเมืองที่มีมลพิษเป็นอันดับ 1 เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก ที่ไม่แค่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ แต่สำคัญที่สุดคือส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทุกๆคน ทั้งลูกหลานที่เป็นเด็กเล็กหรือพ่อแม่ผู้สูงอายุของชาวเชียงใหม่เองได้ จึงอยากเชิญชวนทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน ตลอดจนภาคธุรกิจ ให้ช่วยกันจัดทำโครงการลดจุดความร้อนให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำเอาอากาศที่บริสุทธ์กลับคืนมา แก้ปัญหาในระยะยาวจนหมดไป อยากให้ทุกคนร่วมสู้ต่อไปด้วยกันครับ”

คุณอาจสนใจ

Related News