ข่าวประชาสัมพันธ์ช่อง 3

ช่อง 3 มั่นใจผลประกอบการทั้งปีเติบโต 2 หลัก มุ่งสู่ผู้นำผลิตคอนเทนต์ ลุยตลาดต่างประเทศเพิ่มรายได้

โดย nicharee_m

8 มิ.ย. 2566

244 views

ช่อง 3 มั่นใจรายได้ทั้งปีเติบโต 2 หลัก หลังประสบความสำเร็จทั้งละครและรายการข่าว เดินหน้ากลยุทธ์ Single Content Multiple Platform สร้างรายได้เพิ่ม พร้อมจับตาภาวะเศรษฐกิจ และการเมือง กดดันการใช้เม็ดเงินโฆษณา

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.66 นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธ์ กรรมการผู้อำนวยการ สายโทรทัศน์ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยทิศทางอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในช่วงครึ่งปีหลังว่า ภาพรวมมีแนวโน้มดีกว่าปีที่แล้ว ที่มีปัจจัยลบเข้ามากดดัน ทั้งเงินเฟ้อ กำลังซื้อหดตัว กดดันเม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรม แต่ในปีนี้ภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว นักท่องเที่ยวเดินทางมากขึ้น กิจกรรมต่างๆ สามารถทำได้ปกติ ถือว่ามีปัจจัยบวกเข้ามา แต่อย่างไรก็ตามต้องจับตาภาวะเศรษฐกิจ และการฟอร์มรัฐบาล ที่ยังมีความไม่แน่นอน รวมถึงนโยบายการควบคุมราคาสินค้าอาจกดดันเม็ดเงินโฆษณาในภาพรวม

สำหรับแนวโน้มรายได้ของช่อง 3 ปีนี้ คาดว่าจะเติบโตได้เป็นเลข 2 หลัก (Double Digit) หรืออย่างน้อยปลายเลขหลักเดียว (High Single Digit) จากปีก่อนที่มีรายได้ 5,115 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 และ สถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งหากการฟอร์มรัฐบาลทำได้ถูกใจประชาชน เกิดความเชื่อมั่นได้ ก็จะส่งผลดีต่อการตัดสินใจใช้เม็ดเงินโฆษณาของเจ้าของสินค้า และส่งผลดีต่อเนื่องกับรายได้อุตสาหกรรมโทรทัศน์

อย่างไรก็ตามตัวเลขกำไรของช่อง 3 ปีนี้ อาจเติบโตได้น้อยกว่าปีที่แล้วที่มีกำไรสุทธิ 607 ล้านบาท เป็นผลจากผลประกอบการไตรมาสแรกที่ลดลง แต่เมื่อดูในอุตสาหกรรมเดียวกันก็ถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาด ที่ปกติไตรมาสแรกจะมีผลประกอบการที่ต่ำกว่าไตรมาสอื่นๆ อยู่แล้ว

ประกอบกับช่อง 3 มีการเลื่อนออกอากาศละครเรือธง อย่าง “หมอหลวง” มาอยู่ในช่วงปลายเดือนมีนาคม เนื่องจากมีการนำละครดังกล่าวลงในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ตามกลยุทธ์ Single Content Multiple Platform ทำให้การรับรู้รายได้ มาอยู่ในไตรมาส 2 แทน

ส่วนทิศทางรายได้ในไตรมาส 2 มองว่า หากเทียบไตรมาสต่อไตรมาส จะเห็นผลในทางบวก คาดว่าจะเติบโตจากไตรมาสแรกเป็นเลข 2 หลัก เพราะความสำเร็จของละคร​ “หมอหลวง” ที่ถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุดในรอบ 3 ปี ทั้งในเชิงรายได้และเรตติ้ง ทำให้คาดว่า หากในช่วงครึ่งปีหลังมีละครที่ทำรายได้แบบนี้ ซึ่งมีอีกหลายเรื่อง เช่น เกมรักทรยศ และ พรหมลิขิต ที่จะออกอากาศช่วงต้นเดือน ตุลาคม ประสบความสำเร็จได้ ก็น่าจะสามารถสร้างรายได้มาชดเชยสิ่งที่หายไปในไตรมาส 1-2

ส่วนการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ทางช่อง 3 ก็มีรายการ “เปลี่ยนใหม่ หรือ ไปต่อ”​ ที่ถือว่าประสบความสำเร็จทั้งกระแสและรายได้เช่นกัน โดยสัดส่วนรายได้ของรายการข่าวไตรมาสแรกปีนี้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 36% เพิ่มจากปีที่แล้ว 27-28% ส่วนละคร สัดส่วนเหลือที่ 51% เมื่อรวมรายได้จากข่าวและละคร รวมกันก็จะมีสัดส่วนรายได้มากกว่า 80%

ส่วนรายการข่าวดังของช่อง เช่น เรื่องเล่าเช้านี้ หรือ โหนกระแส มีการขยายเวลาออกอากาศไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์ มองว่ามีส่วนทำให้แบรนด์ของช่อง 3 มีความชัดเจนขึ้นและรายการข่าวสามารถนำเสนอเนื้อหาได้มากขึ้น

เบื้องต้น ใน 5 ปีข้างหน้า บริษัทฯวางเป้าขยายสัดส่วนรายได้จากดิจิทัลและการขายคอนเทนต์ไปต่างประเทศอยู่ที่ 25% และรายได้จากทีวี 70% และรายได้อื่นๆ อีก 5%

สำหรับทิศทางของธุรกิจโทรทัศน์ในอนาคต ที่ขณะนี้เหลืออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์อีก 5 ปีกว่าๆ ช่อง 3 จะเข้าร่วมประมูลต่อใบอนุญาตหรือไม่ โดยนายสุรินทร์ มองว่า หากอีก 5 ปีข้างหน้ายังมีความจำเป็นต้องใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการ ก็ต้องพิจารณาอีกครั้ง แต่ขณะเดียวกันสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ทั้งในเชิงเทคโนโลยี และพฤติกรรมการรับชมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก็จะต้องพิจารณาประกอบด้วย

อย่างไรก็ตาม บีอีซี เวิลด์ ยังคงเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำด้านการผลิตคอนเทนต์ เป็น Total Entertainment Company ภายใต้กลยุทธ์ Single Content Multiple Platform คือการลงทุนผลิตคอนเทนต์เพียงครั้งเดียว แต่สามารถหารายได้ได้หลายแพลตฟอร์มและหลายช่องทาง รวมถึงส่งขายในต่างประเทศ โดยมีการใช้งบผลิตละครปีละ 2,000 ล้านบาท ผลิตละครได้ 25 เรื่อง ตั้งเป้าส่งขายต่างประเทศ 2,500 ชั่วโมง หรือ 40 เรื่อง เป็นการเปิดตลาดใหม่และสร้างรายได้เพิ่ม

ทั้งนี้ ปัจจุบันช่อง 3 ผลิตละครโดยใช้บทละครจาก 3 แหล่งหลัก คือ บทประพันธ์นวนิยายดั้งเดิม, พัฒนานักเขียนบทรุ่นใหม่ สร้างคอนเทนต์ใหม่ และซื้อบทละครจากต่างประเทศ เช่น เรื่องเกมรักทรยศ ซึ่งเป็นซีรีส์ดังจากอังกฤษ มาผลิตในเวอร์ชั่นไทย โดยมองว่าการซื้อบทละครต่างประเทศมาผลิต จะเป็นโอกาสให้การวางแผนการตลาดได้ง่ายขึ้น

โดยจากนี้จะมีการปรับแผนงานผลิตคอนเทนต์ละครให้อยู่ภายใต้โมเดล IMC คอนเทนต์ คือ หารายได้จากการลงทุนผลิตละครตั้งแต่ต้นน้ำ โดยการดึงเจ้าของสินค้ามาวางแผนไทอินในละครร่วมกันตั้งแต่เริ่มผลิต ซึ่งโมเดลนี้จะต่อยอดรายได้ไปส่วนอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น เพลง, การดูแลศิลปิน และการเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้า เป็นต้น


คุณอาจสนใจ

Related News