กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานเพลิงศพ หม่อมปริม บุนนาค และ ศ.จุลชีพ ชินวรรโณ

พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานเพลิงศพ หม่อมปริม บุนนาค และ ศ.จุลชีพ ชินวรรโณ

โดย panwilai_c

27 ก.พ. 2565

156 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพหม่อมปริม บุนนาค และศาสตราจารย์จุลชีพ ชินวรรโณ



วันนี้เวลา 17.10 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ หม่อมปริม บุนนาค ในพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ณ เมรุวัดประยุรวงศาวาส เขตธนบุรี



หม่อมปริม บุนนาค เป็นธิดาของพระยานิพัทธ์กุลพงศ์ (ชิน บุนนาค) กับคุณหญิงเปลื้อง บุนนาค (สกุลเดิม นิพัทธ์กุลพงศ์) เกิดเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2466 เข้าศึกษาที่โรงเรียนผดุงดรุณี และโรงเรียนมิชชันนารีพระคริสตธรรม จบระดับชั้นมัธยมปีที่ 5 และได้ออกมาศึกษาเล่าเรียนอยู่กับบ้าน โดยมีบิดาเป็นครูสอนวิชาต่าง ๆ ให้ และเริ่มหัดพิมพ์ดีด จนสามารถช่วยบิดาพิมพ์จดหมายภาษาอังกฤษโต้ตอบกับชาวต่างประเทศได้



หม่อมปริมเริ่มเข้าสู่วงการการแสดงเมื่ออายุประมาณ 16 ปี ได้แสดงภาพยนตร์ไทยเรื่อง "วันเพ็ญ" กำกับการแสดงโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ซึ่งประสบความสำเร็จสำหรับภาพยนตร์ไทยในสมัยนั้น ต่อมาได้แสดงละครการกุศลให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิราชประชาสมาศัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เรื่อง "ฟ้าแจ้งจางปาง"



จากนั้นได้สมรสกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่มีพระโอรสธิดาด้วยกัน และด้วยเป็นผู้ที่มีฝีมือในการทำอาหารคาวหวาน หลายอย่าง จึงได้รับรางวัลที่1 จากการประกวดการทำขนมลูกชุบในงาน "เคหะสงเคราะห์" ของการเคหะแห่งชาติ ในปี 2511 หลังจากนั้นได้ทำขนมลูกชุบ และท็อฟฟี่กะทิเป็นงานอดิเรก โดยเป็นที่ยอมรับในรสชาติ



หม่อมปริม บุนนาค ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 สิริอายุ 97 ปี



ต่อมาเวลา 17.40 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดธาตุทอง ในการพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์จุลชีพ ชินวรรโณ กีรตยาจารย์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ ซึ่งถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคเนื้องอกในสมอง เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 สิริอายุ 71 ปี



ศาสตราจารย์จุลชีพ ชินวรรโณ เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2493 เป็นบุตรของร้อยตำรวจตรี ชีวิต และนางจงจิตต์ ชินวรรโณ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท จากนั้น ได้รับทุนเล่าเรียนหลวง (King Scholarship) ไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์ ที่สหรัฐอเมริกา ระหว่างปี 2511 ถึง 2515 และทุนมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ศึกษาต่อ ระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ด้านเอเชียตะวันออกศึกษา และด้านรัฐศาสตร์ ที่สหรัฐอเมริกา ระหว่าง ปี 2515 ถึง 2521



เริ่มทำงานเป็นอาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2531เป็นผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อาทิ ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรมนุษย์ , และหัวหน้าสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2554 สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกย่องให้เป็นกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์



นับเป็นหนึ่งในนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ที่เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองและการต่างประเทศของจีน ทั้งเป็นผู้บรรยายพิเศษในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง และมีผลงานตีพิมพ์ทั้งงานวิจัย งานเขียนเชิงวิชาการ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะองค์ความรู้เกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศของไทย



ด้านครอบครัว สมรสกับศาสตราจารย์เกียรติคุณ วริยา ชินวรรโณ