สังคม
ค้นพบ "บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน" บึ้งสกุลใหม่ของโลกในรอบ 104 ปี
โดย nutda_t
2 ก.พ. 2565
311 views
ที่ห้องประชุมคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานเปิดการแถลงข่าว การพบบึ้งปล้องไม้ไผ่ พระเจ้าตากสิน บึ้งสกุลใหม่ของโลก
สำหรับ “บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน” นี้ ถูกค้นพบโดย ดร.นรินทร์ ชมภูพวง อาจารย์ประจำสาขากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับทีมวิจัยประกอบด้วย นายชวลิต ส่งแสงโชติ นักแมงมุมวิทยาจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายวุฒิไกร ใข่แก้ว นักวิชาการอิสระ และนายทรงธรรม สิปปวัฒน์ หรือ โจโฉ ยูทูปเบอร์ชื่อดัง เป็นผู้ค้นพบบึ้งชนิดนี้ในขณะเดินป่าที่จังหวัดตาก หลังจากนั้นได้ทำการสำรวจ เก็บตัวอย่างและศึกษาเพิ่มเติม นำมาสู่การบรรยายลักษณะและตีพิมพ์การค้นพบบึ้งสกุลใหม่ของโลกในครั้งนี้
ดร.นรินทร์ ชมภูพวง กล่าวว่า เหตุผลของการตั้งชื่อว่า “บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน” เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเคยดำรงตำแหน่งพระยาตาก เจ้าเมืองตาก ก่อนที่จะปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวของราชอาณาจักรธนบุรี ทางคณะผู้วิจัยจึงเห็นควรตั้งชื่อสกุลว่า Taksinus เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”
“บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน” ถูกค้นพบห่างไกลออกไปในทางพื้นที่ภูมิศาสตร์ทั้งหมดที่เคยถูกค้นพบมา โดยค้นพบในป่าไผ่บนภูเขาสูงกว่า 1,000 เมตร ในจังหวัดตาก ของประเทศไทย โดยบึ้งชนิดนี้อาศัยดำรงชีวิตอยู่ภายในปล้องของต้นไผ่เท่านั้น ขนาดของรูทางเข้าของบึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสินมีขนาดตั้งแต่ประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร ไปจนถึงขนาดใหญ่ บึ้งเป็นสัตว์ไม่สามารถเจาะรูไม้ไผ่ได้เอง
จากการศึกษาสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากสัตว์ฟันแทะเจาะเข้ามาใช้ประโยชน์ในการหาอาหารจากไผ่เพื่อกินหนอนที่อยู่ภายใน รวมถึงอาจเกิดจากสัตว์อื่น ๆ เช่น แมลงที่เจาะเข้าไป หรือเกิดปริแตกตามธรรมชาติของต้นไผ่เอง รวมทั้งยังเกิดจากการกระทำของคนได้อีกด้วย บึ้งชนิดนี้จะอาศัยอยู่ภายในปล้องไผ่โดยสร้างใยปกคลุมล้อมรอบภายในปล้องและมักออกมาหาอาหารเป็นสัตว์ขนาดเล็กหรือแมลงในช่วงกลางคืน จึงถือได้ว่าเป็นบึ้งที่หายากที่สุดในประเทศไทย และการค้นพบนี้เป็นการค้นพบบึ้งสกุลแรกของเอเชียในรอบ 104 ปี หลังจากการค้นพบครั้งหลังสุดเมื่อปี ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460)
ลักษณะสำคัญในการจำแนกบึ้งสกุล Taksinus มีลักษณะแตกต่างจากบึ้งต้นไม้ในสกุลอื่น ๆ คือลักษณะของอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้ที่สั้นและความชันของส่วนปลายน้อยกว่าบึ้งต้นไม้ในสกุลอื่นที่พบทั้งหมด รวมทั้งบึ้งสกุลนี้ยังมีขนาดเล็กกว่าบึ้งต้นไม้ในสกุลอื่น ๆ อีกด้วย
แท็กที่เกี่ยวข้อง