สัตวแพทย์ มช. ขึ้นอันดับ 6 ของโลก ด้านผลงานตีพิมพ์ และความเชี่ยวชาญการแพทย์เกี่ยวกับช้าง

เทคโนโลยี

สัตวแพทย์ มช. ขึ้นอันดับ 6 ของโลก ด้านผลงานตีพิมพ์ และความเชี่ยวชาญการแพทย์เกี่ยวกับช้าง

โดย thichaphat_d

9 ก.ย. 2564

72 views

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในส่วนภูมิภาคที่จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐแล้ว ยังเป็นมหาวิทยาลัยที่มีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งแรกในภาคเหนือ เพื่อตอบสนองความต้องการบุคลากรด้านสัตวแพทย์และมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพด้วย


นอกเหนือจากนี้ ยังมุ่งเป้าหมายดำเนินการตามพันธกิจ คือ การบริการวิชาการแก่สังคม และการผลิตผลงานวิจัยทางสัตวแพทย์ โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง ที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญมาโดยตลอด ทั้งในเรื่องภารกิจการดูแลรักษาช่วยเหลือชีวิตช้าง การอนุรักษ์ รวมทั้งงานวิจัยต่างๆ ความร่วมมือทางวิชาการเกี่ยวกับช้างทั้งในและต่างประเทศ




จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่มีศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่าในมหาวิทยาลัย รวมถึงการมีทีมอาจารย์นักวิจัยและทีมสัตวแพทย์ที่เข้มแข็ง ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการได้มาซึ่ง อันดับ 6 ของโลกด้านการตีพิมพ์และความเชี่ยวชาญการแพทย์เกี่ยวกับช้าง


บริษัท Expertscape เป็นบริษัทจัดทำอันดับความเชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ โดยมีเว็บไซต์และเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านการแพทย์ทั่วโลก จากงานตีพิมพ์บทความและงานวิจัยในฐานข้อมูลชั้นนำนานาชาติ “PubMed”




ได้วิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่ปี 2011-2021 (10 ปี) จากบทความทางวิชาการด้านช้าง (ทั้งเอเชียและแอฟริกา) จำนวนมากกว่า 5,000 เรื่อง และจากรายชื่อนักวิจัย มากกว่า 4,000 คน โดยจัดอันดับให้ รศ.น.สพ.ดร. ฉัตรโชติ ทิตาราม จากศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็น Top 1% (อันดับ 6 ของโลก) ที่ได้มีการตีพิมพ์สูงที่สุดในด้านนี้ และได้รับการยกย่องให้เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านช้าง


นอกจากนี้ยังมี ผศ.น.สพ.ดร. เฉลิมชาติ สมเกิด อ.สพ.ญ.ดร. ภัคนุช บันสิทธิ์ รศ.น.สพ.ดร. กรกฎ งานวงศ์พาณิชย์ รศ.น.สพ.ดร. วีระศักดิ์ ปัญญาพรวิทยา รศ.น.สพ.ดร. กฤษฎากร พริ้งเพราะ และ ผศ.ส.พญ.ดร. จารุวรรณ คนมี ซึ่งเป็นสมาชิกในทีม


ส่วนคนที่เป็นอันดับ 1 คือ Dr. Janine L. Brown จาก Smithsonian Conservation Biology Institute, USA ที่มีงานตีพิมพ์ด้านช้างมากที่สุดในโลก และได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ด้านสัตวแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อต้นปี 2563


จากความสำเร็จการดำเนินงานที่ผ่านมาของศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งนำทีมโดย รศ.น.สพ.ดร. ฉัตรโชติ ทิตาราม ไม่ว่าจะเป็นคิดค้นการเก็บพลาสมาช้างด้วยวิธีการแช่แข็ง เพื่อช่วยชีวิตช้างบาดเจ็บได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย การช่วยเหลือช้างในเหตุการณ์ที่ยากลำบาก การดูแลสวัสดิภาพและชุมชนที่ดูแลช้าง


รวมไปถึงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศ ประชุมวิชาการช้างระดับชาติ การทำและตีพิมพ์ผลงานการวิจัย ทั้งหมดนี้ถือเป็นพันธกิจและเจตนารมณ์ของทีมสัตวแพทย์ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์ช้างไทย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป

คุณอาจสนใจ

Related News