เปิดแผนเก็บกู้ "อวนยักษ์" ใต้ทะเลเกาะโลซิน ก.ทรัพย์ สั่งแกะลอยเจ้าของ

สังคม

เปิดแผนเก็บกู้ "อวนยักษ์" ใต้ทะเลเกาะโลซิน ก.ทรัพย์ สั่งแกะลอยเจ้าของ

โดย pattraporn_a

17 มิ.ย. 2564

84 views

กรณีกลุ่มนักถ่ายภาพใต้น้ำ ดำลงไปสำรวจแนวปะการังบริเวณเกาะโลซิน ที่ปัตตานี กระทั่งพบอวนล้อมขนาดใหญ่แผ่ทับแนวปะการัง ครอบคลุมพื้นที่หลายร้อยตารางเมตร ล่าสุด กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับกองทัพเรือ และภาคเอกชน สรุปแผนเตรียมส่งผู้เชี่ยวชาญดำลงไปเก็บกู้ ประเด็นนี้เรื่องใหญ่ หลายฝ่ายกังวลว่าถ้าไม่รีบดำเนินการ อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลในระยาว


อวนล้อมผืนยักษ์ แผ่สยายทับแนวปะการัง ครอบคลุมพื้นที่หลายร้อยตารางเมตร ประเมินจากสายตา ว่ากันว่าอวนที่พบครั้งนี้ อาจกว้างพอๆ กับสนามฟุตบอล หรืออาจมากกว่านั้น ถูกเปิดเผยครั้งแรกจากน้ำถ่ายภาพใต้น้ำ เจ้าของเพจ I Man Camera ดำลงเจอในช่วงวันที่ 11-13 มิถุนายนที่ผ่านมา เรื่องนี้ถูกพูดถึงกันมากในกลุ่มนักดำน้ำ และนักอนุรักษ์


หนึ่งในนั้น คือนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมาประณามพฤติกรรมความมักง่าย สั่งการกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งเก็บกู้ และหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ


นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือทช. เปิดเผยเรื่องนี้กับข่าว 3 มิติ บอกว่านี่คือภารกิจสำคัญระดับประเทศที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ล่าสุด ทช.ร่วมกับกองทัพเรือภาคที่ 2 ผู้เชี่ยวชาญทางทะเล และนักดำน้ำอาสามากประสบการณ์ ร่วมกำหนดแผนการเก็บกู้


เกาะโลซิน อยู่ห่างจากชายฝั่งอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานีราว 72 กิโลเมตร ที่นี่แตกต่างจากเกาะทั่วไป เพราะมีเพียงโขดหินโผล่พ้นน้ำ และมีประภาคารสูง 10 เมตร เป็นสัญลักษณ์ ความน่าสนใจของเกาะนี้ ก็คือความสมบูรณ์ของระบบนิเวศใต้ทะเล ที่มีแนวปะการังยาวไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร เป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ทะเลหายาก โดยเฉพาะฉลามวาฬ หลายฝ่ายกังวลว่า หากไม่เร่งดำเนินการ จะส่งผลต่อปะการังและสัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ใต้อ้วน ถูกขัง ออกไม่ได้


จากแผนภาพจำลอง จะเห็นว่าบริเวณที่พบอวน มี 3 จุด กรอบแดง พบอวนใหญ่ 2 ผืนคลุมปะการังแข็ง พาดจากความลึกประมาณ 13–22 เมตร ซึ่งพบอวนที่มีทั้งลักษณะรวบเป็นมัด พันกับปะการังโขด และปกคลุมปะการังเขากวาง แนวลึกประมาณ 15–20 เมตร และพบอวนใหญ่กางคลุมทุ่งปะการังเขากวาง ความลึกประมาณ 10-26 เมตร นอกจากนี้ ยังพบอวนปกคลุมแนวหิน ดักทางว่ายของสัตว์น้ำหลายจุด


สำหรับแผนเก็บกู้ ทช.จะแบ่งทีมนักประดาน้ำ เริ่มจากลงไปสำรวจ กำหนดเขตพื้นที่ดำเนินการ ซึ่งต้องค่อยๆ ทำทีละส่วน ตามหลักวิชาการด้วยความระมัดระวัง วิธีการขึ้นกับลักษณะของแนวปะการังและสภาพอวนที่พบ


เกาะโลซิน เป็นหนึ่งในพื้นที่คุ้มครอง ตามประกาศของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 24 มีนาคม 2564 ห้ามมิให้บุคคลใดเข้าไปทำการประมง บริเวณปะการังและกองหินใต้น้ำ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับและจำคุก คาดว่าคนกลุ่มนี้ อาศัยช่วงที่โควิด-19 ระบาด ลอบนำอวนเข้ามาจับสัตว์น้ำ การเก็บกู้ จะเริ่มออกเดินทางในช่วงค่ำวันที่ 18 มิถุนายน นี้เป็นต้นไป

คุณอาจสนใจ