วัคซีนไทย ChulaCov19 เริ่มทดลองระยะแรกในคน

สังคม

วัคซีนไทย ChulaCov19 เริ่มทดลองระยะแรกในคน

โดย pattraporn_a

16 มิ.ย. 2564

46 views

ศูนย์วิจัยวัคซีนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มทดสอบวัคซีนโคฟไนน์ทีนในมนุษย์ระยะแรก คาดว่าจะรู้ผลประสิทธิภาพเดือนสิงหาคมนี้ หลังประสบความสำเร็จการทดสอบในสัตว์ทดลองสามารถกระตุ้นภูมิได้สูงสุด ลดจำนวนเชื้อในจมูกและในปอดลงไปอย่างน้อย 10 ล้านเท่า 


อาสาสมัครกลุ่มนี้คืออาสาสมัครกลุ่มแรกในการทดลองวัคซีนป้องกันโควิด-19 จุฬาคอฟ19 (ChulaCov19) ของศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา


โดยอาสาสมัครกลุ่มแรกนี้จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มอายุ จำนวน 72 คน คือกลุ่มอายุ 18-55 ปี 36 คน และกลุ่มอายุ 65-75 ปี 36 คน ทดลองฉีดวัคซีนในปริมาณต่างกันจำนวน 10, 25 และ 50 ไมโครกรัม เพื่อดูว่าประสิทธิภาพสูงสุดของวัคซีน


หลังประสบความสำเร็จจากการทดลองระยะแรกในสัตว์ทดลองไม่ให้ป่วยเป็นโรคและยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด รวมทั้งลดจำนวนเชื้อในจมูกและในปอดลงไปอย่างน้อย 10,000,000 เท่า


วัคซีน ChulaCov19 เป็นวัคซีนชนิด mrna หรือ การใช้ชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของไวรัส เหมือนกับวัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอนา โดยแตกต่างกันที่เทคโนโลยีส่วนของขั้นตอนการผลิต ซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าของบริษัทอื่น เบื้องต้นพบว่าสามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) ได้นานถึง 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ได้นาน 2 สัปดาห์ ซึ่งทำให้การจัดเก็บรักษาง่ายกว่าวัคซีนชนิด mRNA ยี่ห้ออื่น เป็นอย่างมาก


ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.โครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจอีก 1 ประเด็น คือการเริ่มพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 แล้วในขณะนี้ ซึ่งจะมีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และ อินเดียได้มากขึ้น


วางแผนใช้วัคซีนรุ่นนี้กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับคนไทยในเข็มที่ 3 คาดว่าจะเริ่มทดสอบในสัตว์ทดลองภายในเดือนมิถุนายนและทดสอบระยะแรกในมนุษย์ช่วงสิ้นปีนี้


ไทม์ไลน์ต่อจากนี้ คาดว่าจะทราบผลการทดสอบในมนุษย์ระยะแรกช่วงเดือนสิงหาคม จากนั้นจะเริ่มการทดสอบในระยะที่ 2 ทันทีกับอาสาสมัคร 150 คน และทดสอบเพิ่มอีก 5,000 คน ในช่วงสิ้นปี


ขณะที่ช่วงตุลาคมจะเริ่มการทดสอบวัคซีนรุ่นที่ 2 ในกลุ่มมีภูมิคุ้มกัน หากวัคซีนทั้ง 2 รุ่นมีประสิทธิผลตามสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ภูิมคุ้มกันที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดก็จะช่วยลดขั้นตอนการยกเว้นการทดสอบทางคลินิกระยะที่สามได้


ทั้งนี้ อาจได้รับอนุมัติให้ผลิตเพื่อใช้ในคนจำนวนมากได้ภายในประเทศก่อนกลางปีหน้า

คุณอาจสนใจ