ไฟเขียวเอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด ตอบข้อสงสัย ทำไมไทยไม่รับวัคซีนฟรีโคแวกซ์จาก WHO

สังคม

ไฟเขียวเอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด ตอบข้อสงสัย ทำไมไทยไม่รับวัคซีนฟรีโคแวกซ์จาก WHO

โดย

25 ม.ค. 2564

859 views

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้เอกชนสามารถนำเข้าวัคซีน โควิด-19 ได้ โดยขอให้ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนวัคซีนกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ถูกต้อง

โดยทาง อย.จะประเมินทั้งในด้านคุณภาพ ด้านความปลอดภัย และด้านประสิทธิผลของวัคซีน ว่าเหมาะสมกับคนไทย โดยผู้ที่ต้องการขึ้นทะเบียนจะต้องแสดงข้อมูลเอกสารหลักฐานเพื่อประเมินคุณสมบัติของวัคซีนทั้ง 3 ด้านดังกล่าว

ทั้งนี้  อย. ได้ปรับการทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 อย่างเต็มที่ ด้วยการระดมเพิ่มผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกมาร่วมพิจารณา เพื่อให้สามารถอนุมัติวัคซีนได้โดยเร็วที่สุด แต่ยังคงไม่สามารถผ่อนคลายกฎเกณฑ์หรือลดหย่อนการกำกับดูแล เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงข้อสงสัย ทำไมประเทศไทยถึงไม่ได้รับวัคซีนฟรีโคแวกซ์ (COVAX) จากองค์การอนามัยโลก โดยชี้แจงว่า ในการจัดหาวัคซีนมีการวางแผนเข้าร่วมกับโครงการโคแวกซ์ตั้งแต่แรก แต่ในการเจรจานั้น โครงการนี้เป็นโครงการที่ให้วัคซีนฟรีกับประเทศยากจน ซึ่งทางโครงการจัดประเทศไทยอยู่ในประเทศรายได้ปานกลาง จึงไม่ได้รับฟรีตรงนี้

ซึ่งหากจะเข้าร่วมก็ต้องนำเงินไปร่วมลงขัน แต่ทางโครงการก็ยังไม่ได้ระบุว่า จะเอาวัคซีนตัวไหนมา และก็ยังไม่มีวัคซีนตัวใดที่มีความคืบหน้ามาก เพียงแต่บอกให้ไทยเอาเงินไปร่วมลงขัน เมื่อได้มาแล้วก็จะได้วัคซีนในรูปแบบของการซื้อในราคาตามปกติ ถ้าไม่สำเร็จก็ไม่ได้เงินคืน จึงเป็นเรื่องยากในการที่จะเอาเงินไปลงตรงนั้น

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมินข้อเรียกร้องของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่ให้เปิดสัญญาการจัดซื้อวัคซีนที่ทำกับบริษัท แอสตร้าเซนเนกา จำกัด กับสยามไบโอไซเอนซ์

โดยนายอนุทินกล่าวว่า ไม่สามารถทำได้เนื่องจากคู่สัญญาเป็นเอกชนทั้งคู่ และอยู่เหนือการควบคุมของรัฐ ยืนยันไม่ใช่วัคซีนผูกขาด เพราะมีการเจรจาซื้อหลายบริษัท ซึ่งเรื่องวัคซีนคนที่รู้ดีที่สุดคือหมอและ คณะกรรมการวิชาการที่ตั้งขึ้นมาศึกษาการใช้วัคซีนโดยเฉพาะ รัฐมนตรีมีหน้าที่เห็นชอบตามที่คณะกรรมการวิชาการเสนอเรื่องมา ซึ่งข้อมูลที่นายธนาธรนำมาเปิดเผยปราศจากข้อเท็จจริง

ยืนยันว่าการดำเนินการไม่ได้ล่าช้ากว่าประเทศอื่น แต่ต้องยึดหลักความปลอดภัย และคุณภาพของวัคซีน ซึ่งการจัดซื้อมีขั้นตอน ไม่ใช่สั่งซื้อแล้วจะได้ของทันที และยังติดเงื่อนไขของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ที่การจ่ายเงินซื้อจะต้องมีสินค้าอยู่จริงซึ่งแตกต่างกับบางประเทศที่ยอมเสี่ยงจ่ายเงินไปก่อน โดยยังไม่ทราบว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ไม่ใช่การจดทะเบียนเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ พร้อมย้ำถึงนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่เพียงกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น

รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/-SZaApfCgFA

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ