จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย หายากใกล้สูญพันธุ์ โผล่อวดโฉมที่อุทยานฯ แก่งกระจาน

สังคม

จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย หายากใกล้สูญพันธุ์ โผล่อวดโฉมที่อุทยานฯ แก่งกระจาน

โดย

24 ม.ค. 2564

414 views

นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เปิดเผยถึงกรณีภาพจากกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าว่า กรณีดังกล่าว นายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้นำภาพถ่ายจากกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า (Camera Trap)ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มาทำการตรวจสอบพบภาพสัตว์ป่าที่หายยากมากในธรรมชาติและกำลังจะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ คือ “จระเข้น้ำจืด”หรือ “จระเข้สายพันธุ์ไทย” (Crocodylus siamensis)ในต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี เหนือบ้านโป่งลึกและบ้านบางกลอย ยืนยันสถานะภาพ ยังคงอยู่ได้ 
ซึ่งจากการตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวไม่พบภาพจระเข้มานาน แต่ในการพบครั้งนี้ยืนยันได้ว่ามีมากกว่าหนึ่งตัวที่เจ้าหน้าที่สามารถบันทึกภาพได้ จากที่เฝ้าติดตามมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา 
ซึ่งปัจจุบันในอนุสัญญาของไซเตสได้ขึ้นบัญชีจระเข้น้ำจืดไว้อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix 1) จระเข้น้ำจืด, จระเข้บึง, จระเข้สยาม หรือ จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย (Crocodylus siamensis) มีถิ่นกำเนิดในบริเวณประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม กาลีมันตัน ชวา และสุมาตรา จัดเป็นจระเข้ขนาดปานกลางค่อนมาทางใหญ่ (3–4 เมตร) มีเกล็ดท้ายทอด มีช่วงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 10–12 ปี จระเข้ชนิดนี้วางไข่ครั้งละ 20–48 ฟอง โดยมีระยะเวลาฟักไข่นาน 68-85 วัน เริ่มวางไข่ในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม โดยขุดหลุมในหาดทรายริมแม่น้ำ ใช้เวลาเฉลี่ยราว 80 วัน ชอบอยู่และหากินเดี่ยว
โดยปกติจระเข้น้ำจืดจะกินปลาและสัตว์อื่นที่เล็กกว่าเป็นอาหาร จะไม่ทำร้ายมนุษย์หากไม่ถูกรบกวนหรือมีอาหารเพียงพอ ในอดีตในประเทศไทยเคยพบชุกชุมในแหล่งน้ำทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะในแถบที่ราบลุ่มภาคกลาง เช่น บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ได้ชื่อว่าเป็นสถานที่จระเข้ชุม เคยมีรายงานว่าพบจระเข้ถึง 200 ตัว หรือในวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องต่าง ๆ เช่น ไกรทอง ของจังหวัดพิจิตร เป็นต้น 
แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปจนหมดแล้ว แต่ในต่างประเทศยังคงพบอยู่เช่นที่ทะเลสาบเขมร ประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะทิวเขาพนมกระวาน ซึ่งช่วงแรกค้นพบเพียง 3 ตัว จนนำไปสู่การค้นพบจระเข้นับร้อยตัวที่อาศัยโดยไม่พึ่งพาอาศัยมนุษย์ แต่ที่นี่ก็ประสบปัญหาการจับจระเข้ไปขายฟาร์มจำนวนมาก
การสำรวจครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย เพื่อไปตรวจสอบกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ไปที่ติดตั้งไว้เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 (ประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา) เมื่อไปถึงจุดที่ตั้งกล้องดังกล่าว ทีมสำรวจพบร่องรอยจระเข้ขึ้นที่หาดทรายที่อยู่ติดโค้งน้ำ หน้ากล้องดักถ่ายที่ติดตั้งไว้ ซึ่งภาพถ่ายที่ได้จากกล้องดักถ่าย ยืนยันว่าเป็นจระเข้ขนาดโตเต็มวัย และจากการตรวจสอบพื้นที่รอบหาด 
ทีมสำรวจยังได้พบขี้จระเข้ขนาดใหญ่ 2 กอง เส้นผ่าศูนย์กลางวัดได้ 53.4 มม.ซึ่งยืนยันว่าจระเข้ที่พบเป็นจระเข้ที่มีขนาดใหญ่ (ซึ่งความยาวจากปลายจมูกถึงปลายหางสำหรับจระเข้น้ำจืดที่โตเต็มที่อาจจะยาวได้ถึง 3 เมตร) ต่างจากที่เคยมีรายงานไว้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ที่วัดความยาวจากปลายปากถึงปลายหางได้ 239 เซนติเมตรเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ขนาดที่แท้จริงของจระเข้ที่พึ่งได้ภาพมานี้อาจจะยังไม่สามารถยืนยันได้ในเวลา เพราะต้องรอการคำนวนที่ละเอียดจากภาพถ่าย และทีมสำรวจยังต้องต้องรวมอัตราการเติบโตของจระเข้ชนิดนี้เข้ามาคำนวนเพื่อยืนยันว่าเป็นจระเข้คนละตัวกับที่บันทึกไว้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว
แม้เรื่องประเด็นการพบครั้งจะเป็นจระเข้ตัวใหม่ เป็นความหวังของหวังใหม่ของการอนุรักษ์จระเข้ชนิดนี้หรือไม่อย่างไรนั้นยังคงต้องรอยืนยันด้วยข้อมูลทางวิชาการ การค้นพบครั้งนี้ย้ำให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติและสัตว์ป่าของแม่น้ำเพชรตอนบน ความสำคัญของผืนป่าแก่งกระจานในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
อ่านข่าวเพิ่มเติม : https://youtu.be/fZ0prgJJfJk

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ