ท่องเที่ยวพัทยาพังยับ 8 องค์กรภาคธุรกิจท่องเที่ยว ขอรัฐสั่งปิดโรงแรม ยื่น 6 มาตรการเยียวยา

เศรษฐกิจ

ท่องเที่ยวพัทยาพังยับ 8 องค์กรภาคธุรกิจท่องเที่ยว ขอรัฐสั่งปิดโรงแรม ยื่น 6 มาตรการเยียวยา

โดย

10 ม.ค. 2564

1.2K views

ที่โรงแรมแบล็ควู้ด พัทยาซอย 7 อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยว รวม 8 องค์กร เปิดแถลงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับกรณีปัญหาผลกระทบด้านการท่องเที่ยว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในระลอกที่ 2 นี้ ส่งผลอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ประกอบการเกือบทุกประเภทในพื้นที่เมืองพัทยาไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ และต้องปิดตัวลงไปแล้วกว่า 80%
ด้วยปัญหาการแพร่ระบาดในพื้นที่รุนแรง จนรัฐประกาศให้เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ร่วมกับอีก 4 จังหวัด ที่ต้องมีการคุมเข้มในการเดินทางเข้าออกและขนย้ายแรงงาน พร้อมงดการจัดกิจกรรมและให้มีการปิดกิจการตามมาตรการของรัฐ จนทำให้ปัจจุบันพัทยาซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักกลายเป็นเมืองร้าง ที่มียอดนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์
ขณะที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระและช่วยเหลือตัวเอง โดยรัฐไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือเยียวยาหรือดูแลแต่อย่างใด บอกแต่เพียงหากมีการล็อกดาวน์ ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม เหมือนเป็นการเลี่ยงและผลักภาระให้ผู้ประกอบการแต่เพียงอย่างเดียว
นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกับกรณีของการติดเชื้อในระลอกแรกช่วงต้นปี 2563 ซึ่งถือเป็นเหตุสุดวิสัยเพราะมีการติดเชื้อมาจากประเทศจีน และครั้งนั้นรัฐก็มีมาตรการเข้มข้นจนสถานการณ์ดีขึ้น รวมทั้งยังเยียวยาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการสั่งปิดกิจการและให้เงินชดเชยแก่พนักงานในอัตรา 62% ของเงินเดือนเป็นเวลา 3 เดือน การลดภาษี ค่าธรรมเนียมสาธารณูปโภค จนปัญหาเริ่มคลี่คลายมีการออกมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศหลายโครงการ ซึ่งก็พอจะทำให้ผู้ประกอบการประคับประคองไปได้บ้าง เพื่อรอวันกลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง
แต่แล้วในช่วงปลายปี 63 ที่ผ่านมา กลับเกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศ ซึ่งปัญหานี้คงตอบได้ว่ามาจากการคอร์รัปชัน หรือการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะมีการแพร่ระบาดอย่างหนักมาจากบ่อนพนัน และการขนย้ายแรงงานเถื่อน ที่รัฐปล่อยปละละเลยให้เจ้าหน้าที่ในส่วนที่รับผิดชอบเรื่องนี้มีการเรียกรับผลประโยชน์กันจนเป็นปัญหาตามที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
ซึ่งเรื่องนี้รัฐควรรับผิดชอบ และให้ความสำคัญในการเยียวยาและดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ของ 5 จังหวัดที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่อันตรายและสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เพราะเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศด้านการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก
ทุกวันนี้เมืองพัทยากลายเป็นเมืองร้าง ด้วยนักท่องเที่ยวไม่กล้าเดินทางเข้ามาพักผ่อน เพราะแม้รัฐจะพยายามเลี่ยงไม่ให้มีการล็อกดาวน์ โดยระบุว่าอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้น แท้จริงแล้วเศรษฐกิจที่เป็นอยู่มันพังพินาศและเดินต่อไปไม่ได้อยู่แล้ว ด้วยจำนวนตัวเลขของนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์ แต่รัฐกลับไม่มีมาตรการที่จะเข้ามาดูแลหรือเยียวยา กลับผลักภาระให้ผู้ประกอบการแต่เพียงอย่างเดียว จนขณะนี้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวในภาพรวมต้องปิดกิจการไปแล้วกว่า 70-80% ส่วนแรงงานต่าง ๆ ก็ต้องรับผล กระทบต่อการดำรงชีวิตและการว่างงานอีกนับหมื่นราย
ขณะที่ นายพิสิทธิ์ แซ่คู นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก ระบุว่า ที่ผ่านที่ผู้ประกอบการพยายามทำตัวเป็นเด็กดี ที่ปฏิบัติตนตามมาตรการของรัฐอย่างเข้มข้น แต่รัฐกลับไม่เหลียวแลหรือให้ความช่วยเหลือ ซึ่งหากยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปผู้ประกอบการที่มีความจำเป็นอาจต้องทำตัวเป็นเด็กดื้อ ด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมหรือทำทุกหนทางเพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาพักผ่อน เพื่อให้สามารถเลี้ยงตัวไปได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็อาจเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น แต่อาจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ตอนนี้ 8 องค์กรภาคธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ได้ทำหนังสือยื่นตรงต่อผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี เพื่อเสนอขอให้สั่งปิดกิจการโรงแรมในเขตเมืองพัทยา ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิ์ในการรับเงินชดเชยค่าแรงตามกฎหมายใหม่ของกระทรวงแรงงาน เพราะการปิดกิจการเองโดยรัฐไม่มีคำสั่งจะไม่มีสิทธิ์ในการได้รับเงินชดเชยเหมือนเดิม ซึ่งแม้ว่าจะมีการปรับลดการชดเชยลงเหลือเพียง 50% ของรายได้ในอัตราไม่เกิน 15,000 บาท แต่ก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลือในช่วงที่เกิดวิกฤตรุนแรง จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ซึ่งคาดว่าจะกินเวลาไปจนถึงปี 2565
ทั้งนี้ หนังสือที่ยื่นเสนอต่อภาครัฐ ขอรับความช่วยเหลือ 6 มาตรการหลัก ประกอบด้วย
1. ขยายเวลากองทุนประกันสังคมจ่ายเงินทดแทนลูกจ้างไปอีก 200 วัน 
2. ลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนายจ้างและลูกจ้างเหลือ 1% 
3. ลดหย่อนค่าน้ำประปา ไฟฟ้า ต่อไปถึงสิ้นปี 2564 
4. ยกเว้นอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวขนาดใหญ่โดยให้เก็บค่าใช้จ่ายตามจริง 
5. ยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดิน ภาษีป้าย ภาษีบำรุงท้องที่ และค่าธรรมเนียมผู้เข้าพักในโรงแรม 
6. ออกมาตรการขยายเวลาการพักชำระหนี้ โดยไม่เก็บดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน หรือจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ทั้งนี้เพราะผู้ประกอบการไม่มีรายได้ รายรับใด ๆ และขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง
ดูยูทูป : https://youtu.be/3H_GLoq9gnk

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ