กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงาน Thailand International Science Fair 2021 รูปแบบออนไลน์

พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงาน Thailand International Science Fair 2021 รูปแบบออนไลน์

โดย

7 ม.ค. 2564

209 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จลง ณ ห้องประชุม วังสระปทุม ทรงเปิดงาน Thailand International Science Fair 2021 ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เต็มรูปแบบ ถ่ายทอดสด และสื่อสารกับนักเรียนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เป็นการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลง ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จัดงานขึ้น เป็นครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 6-8 มกราคมนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษา ที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แสดงความสามารถทางวิชาการ และศิลปวัฒนธรรม ผ่านการนำเสนองานและกิจกรรม ภายใต้แนวคิด "เสริมสร้างสังคมที่ยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี"
โอกาสนี้ ทรงมีพระราชดำรัสเปิดงาน แล้วทอดพระเนตรพิธีเปิดแบบออนไลน์ และการแนะนำโรงเรียน ที่ร่วมเสนอผลงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นสถานที่หลัก ในการรับสัญญาณออนไลน์จากที่ต่างๆ ถ่ายทอดให้ผู้ที่เข้าร่วมงานได้รับชม ปีนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 300 คน ประกอบด้วย ผู้บริหาร ,ครู และนักเรียน จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำในต่างประเทศ 28 โรงเรียน จำนวน 124 คน , โรงเรียนวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย 21 โรงเรียน จำนวน 73 คน และนักเรียนจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ อีก 240 คน กิจกรรมหลัก คือ การนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ ของนักเรียน 140 โครงงาน และมีกิจกรรมสันทนาการ ที่เปิดโอกาสให้นักเรียน ได้ฝึกทักษะการทำงานร่วมกัน ได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมผ่านการศึกษาดูงานเสมือนจริง ณ มิวเซียมสยาม ,วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และศูนย์การค้าไอคอนสยาม
จากนั้น ทรงฟังบรรยายพิเศษ หัวข้อ "การวิจัยค้นพบยาใหม่ เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างยั่งยืน" โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ ฉัตรชัย เหมือนประสาท นักเรียนเก่าดีเด่น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ รุ่นที่ 7 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายการศึกษาหลังปริญญาและวิจัย สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นผู้เชี่ยวชาญ คิดค้นยารักษาโรค อหิวาตกโรค มีสิทธิบัตรทั้งในประเทศ และระดับนานาชาติ
นอกจากนี้ มีการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนที่ได้รับคัดเลือก 4 ผลงาน ได้แก่ โครงงานสาขาวิชาชีววิทยา เรื่อง การทำนาย และคัดเลือกเปปไทด์ ต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่ จากข้อมูลเปปทิโดม ของเห็ดถังเช่าสีทอง ด้วยเทคนิคชีวสารสนเทศ ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เพื่อหาทางเลือกใหม่ ในการรักษามะเร็ง, โครงงานสาขาวิชาเคมีเรื่อง การปรับปรุงประสิทธิภาพการดูดซับแก๊ซ ของวัสดุโครงข่ายสารอินทรีย์พอร์ไฟริน ของ Korea Science Academy of KAIST (ไคส) สาธารณรัฐเกาหลี จากการวิจัยพบว่า การใช้วิธีเขย่าในการกำจัดตัวทำละลาย ทำให้มีรูพรุนเพิ่มมากขึ้น และสามารถใช้ในการดูดซับแก๊สได้ , โครงงานสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ เรื่อง การศึกษาและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรม ของดาวเทียมขนาดเล็ก สำหรับทดลองในชั้นบรรยากาศระดับสูง โดยใช้บอลลูนของโรงเรียนวิทยาศาสตร์ จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี จากการวิจัยพบว่า ภารกิจของดาวเทียมประสบความสำเร็จดี ข้อมูลที่ได้เป็นประโยชน์ นำไปพัฒนาต่อได้ในอนาคต , และโครงงานสาขาวิชาเคมี เรื่อง การพัฒนาเซนเซอร์ชนิดพอลิไดอะเซทิลีน สำหรับการตรวจจับฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นโครงงานที่พัฒนาร่วมกันระหว่าง นักเรียนจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ กับนักเรียนจาก National Junior College สาธารณรัฐสิงคโปร์
สถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน เกิดวิฤกตหลายอย่าง ที่ส่งผลกระทบครั้งใหญ่ ต่อสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการดำรงชีวิต องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะช่วยผลักดัน ให้เกิดการพัฒนา และขับเคลื่อนให้มนุษย์มีความ สามารถในการรับมือและปรับตัว ต่อความเปลี่ยนแปลงต่างๆ การจัดงานนี้ จึงมีส่วนสำคัญช่วยให้ผู้บริหาร และครู ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การสอน และองค์ความรู้ด้านการศึกษา และช่วยให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษา ที่สนใจการทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ได้สร้างเครือข่าย มิตรภาพ และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง