กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่ จ.นครนายก

พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่ จ.นครนายก

โดย

26 ธ.ค. 2563

668 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่จังหวัดนครนายก
วันนี้ เวลา 9 นาฬิกา 56 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังศาลาวงกลม โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ในการนี้ ทรงวางพานพุ่มดอกไม้ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังหอประชุมทรงเป็นประธาน 'งานรำลึกวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว' ทรงเปิดโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม ครบ 111 ปี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานกำเนิด 'คะเด็ด สกูล' เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2430 เพื่อให้การศึกษาวิชาการและวิชาทหาร แก่พระบรมวงศานุวงศ์ และบุตรข้าราชการ ต่อมานักเรียนนายร้อยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงแบ่งนักเรียนนายร้อยเป็นนักเรียนชั้นปฐม และชั้นมัธยม แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สร้างโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม ที่ถนนราชดำเนินนอก 
ส่วนโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม ใช้บริเวณหลังพระราชวังสราญรมย์เช่นเดิม เมื่อก่อสร้างโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมแล้วเสร็จ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2452 เมื่อแรกตั้งพระราชทานนามว่า ’โรงเรียนทหารสราญรมย์’ จากนั้น มีการปรับ ปรุงหลักสูตรและเปลี่ยนนามโรงเรียนมาเป็นระยะ โดยปี 2491 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระ ราชทานนามใหม่ว่า ’โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า’ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบัน มีนักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 1 ถึง 5 รวม 1 พัน 173 คน
จากนั้น เวลา 12 นาฬิกา 26 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน ของโรงเรียนปิยชาติพัฒนา ในพระราชูปภัมภ์ฯ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริ เพื่อให้บุตรหลานข้าราชการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รวมทั้ง บุตรหลานของประชาชนในตำบลใกล้เคียง มีสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษา ปัจจุบันมีนักเรียน 578 คน ครู 36 คน
ในการนี้ พระราชทานสิ่งของแก่ผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้แทนนักเรียนชาย-หญิง, พระราชทานพันธุ์ไม้ผล และเมล็ดพันธุ์ผัก แก่ผู้แทนชาวบ้าน แล้วพระราชทานพระราชวโรกาสให้ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบบังคมทูลลา ในโอกาสที่จะสำเร็จการศึกษา โอกาสนี้ นักเรียนในพระราชานุเคราะห์ นักเรียนบ้านพัก คณะนักเรียน ครู และบุคลากรของโรงเรียน รวมทั้ง นักเรียนในพระราชานุเคราะห์ ที่ได้รับทุนพระราชทานไปศึกษาต่อที่สาธารณรัฐอินเดีย ร่วมเฝ้าทูลละอองพระบาทด้วย
โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาท เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติตน แก่คณะครูและนักเรียนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
จากนั้น ทอดพระเนตรโครงงานพัฒนาลิฟท์โดยสาร โครงงานชุดอุปกรณ์โซล่าเซลล์เคลื่อนที่ โครงงานระบบล็อคประตูอัตโนมัติ โครงงานเครื่องผลิตน้ำจากอากาศอัจฉริยะ และโครงงานเครื่องคัดแยกมะนาว ซึ่งโรงเรียนได้พัฒนาทักษะด้านอิเล็กทรอนิกส์ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมทั้ง พัฒนาความสามารถด้าน 3D-Printing ให้กับนักเรียน โดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ มาให้ความรู้, กิจกรรมการปลูกผักปลอดสารพิษ มีการทำน้ำหมักจากมูลวัว หมักดินด้วยปุ๋ยคอก การเพาะต้นกล้า ปลูกผัก และเก๊กฮวยปลอดสารพิษ มีการต่อยอดนำผลผลิตมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น เก๊กฮวยตากแห้ง ที่ได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค จากสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืน จังหวัดนครนายก, โครงการฟื้นฟูสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ดำเนินงานตามแนวทางโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มีการสำรวจสภาพแวดล้อมทางกายภาพของระบบนิเวศ การแบ่งพื้นที่ สำรวจชนิดพันธุ์ไม้ การวิเคราะห์คุณภาพดินดำ ที่เนินงานโดยนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 มีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้ามาอบรมให้ความรู้ด้านงานพฤกษศาสตร์ ปัจจุบันพบพันธุ์ไม้ 22 ชนิด อาทิ ต้นกระบก ต้นตะแบกนา ต้นสัตบรรณ และต้นเสลา ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำโรงเรียน
จากนั้นเวลา 14 นาฬิกา 7 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการจัดการเรียนการสอน ของโรงเรียนนครนายกวิทยาคม อำเภอเมืองนครนายก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา เขต 7 เปิดทำการสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 มีนักเรียน 2 พัน 703 คน ,ครู และบุคลากร 168 คน โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมผู้เรียนทั้ง 8 กลุ่มสาระ อาทิ กลุ่มการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ได้เตรียมความพร้อมผู้เรียนสำหรับศตวรรษที่ 21 ซึ่งบูรณาการกับวิชาวิทยาศาสตร์ , เทคโนโลยี,วิศวะกรรมศาสตร์ , ศิลปะ และคณิตศาสตร์ โดยมีห้องเรียนต้นแบบทางวิศวกรรม ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้พื้นฐานวิศวกรรม อาทิ การทำงานของมอเตอร์ , เครื่องกำเนิดไฟฟ้า , วงจรไฟฟ้า ตลอดจนโครงสร้างกลไก และการป้อนคำสั่งหุ่นยนต์ ที่ผู้เรียนสามารถทดลอง พิสูจน์ทราบ และแก้ปัญหาด้วยตนเอง
ด้านการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรม ส่งเสริมให้ผู้เรียนรัก ภาคภูมิใจในวัฒนธรรม และภูมิปัญญาของท้องถิ่น ด้วยการสืบสานศิลปะการแสดงโขน และนาฏศิลป์พื้นบ้าน นอกจากนี้ได้จัดสรรพื้นที่ในโรงเรียน ซึ่งติดแม่น้ำนครนายก ปลูกผักสวนครัว และพืชสมุนไพร เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะการทำเกษตร และสามารถเก็บไปบริโภคได้
โอกาสนี้ ทรงปล่อยพันธุ์ปลา 9 ชนิด เพื่อขยายพันธุ์ ในแม่น้ำนครนายก ได้แก่ ปลาตะเพียนขาว , ปลาตะเพียนทอง , ปลายี่สกไทย , ปลาแก้มช้ำ , ปลาสร้อยขาว , ปลากระแห , ปลาชะโอน , ปลาโพง และปลาบึก
จากนั้น ทรงติดตามกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ของโรงเรียนมัธยมเครือข่ายรวม 9 โรงเรียน ซึ่งได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นหลักในการจัดกิจกรรม อาทิ ตุ๊กตา เปเปอร์มาเช่ สิ่งประดิษฐ์จากลัง หนังสือพิมพ์ และวัสดุเหลือใช้ ของโรงเรียนเขาเพิ่มนารีผลวิทยา ,ไก่ไข่อารมณ์ดี ผลผลิตจากกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียง ของโรงเรียนปากพลีวิทยาคาร , “เครื่องปั่นปุ๋ย” นวัตกรรมถังขยะสร้างปุ๋ย เพื่อจัดการเศษอาหารที่พบมากในชีวิตประจำวัน ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ จากโรงเรียนองครักษ์ ซึ่งทุกโรงเรียนล้วนมีผลการดำเนินงานที่ดี นักเรียนสามารถต่อยอด เป็นอาชีพเสริมในชีวิตประจำวันได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง