สรุปปมส่งเงินฌาปนกิจ 16 ปี ตายไม่ได้สักบาท จับมือใครดมไม่ได้

เศรษฐกิจ

สรุปปมส่งเงินฌาปนกิจ 16 ปี ตายไม่ได้สักบาท จับมือใครดมไม่ได้

โดย

29 ต.ค. 2563

464 views

มีเรื่องราวของเงินกองทุนฌาปนกิจ ที่เมื่อสมาชิกเสียชีวิต แต่ครอบครัวไม่ได้รับเงินอีกแล้ว ซึ่งกรณีนี้เกิดที่บุรีรัมย์ โดย น.ส.ชลธิดา ชมภูกุล อายุ 44 ปี เปิดเผยว่า ไม่ได้รับเงินจากกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ อสม.อำเภอเมือง บุรีรัมย์ จำนวนเงิน 67,100 บาท เป็นค่าปลงศพ หลังจาก นางทองเพียร ชมภูกุล อายุ 75 ปี แม่ของตัวเองเสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อในกระแสเลือด ทั้งที่ส่งเงินเข้ากองทุนมานานกว่า 16 ปี
โดยทางลูกสาวเล่าว่า แม่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมาจากการติดเชื้อในกระแสเลือด หลังจากเสร็จงานศพแม่ ตนเองได้เอาหลักฐานเป็นสมุดกองทุนไปขอเบิกเงินค่าทำศพกับกองทุน แต่ทางเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีชื่ออยู่ในระบบ ทำให้ตนแปลกใจมากเพราะส่งเงินส่งสมทบตามปกติทุกปี และตอนนี้ตนไม่รู้จะไปพึ่งใคร เพราะเงินที่จัดงานศพแม่ก็ไปกู้มาและหวังว่าจะได้เงินจากกองทุนมาใช้หนี้ และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือ 
ต่อมานายธัญญา ประวรรณรัมย์ ประธานกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ อสม.อำเภอเมืองบุรีรัมย์ ได้ชี้แจงกับญาติผู้ตายว่า ได้จัดระเบียบให้ประธาน อสม.หมู่บ้านเป็นคนเก็บเงิน ส่งให้ประธาน อสม. ตำบลนำเงินส่งเข้ากองทุน แต่เคสนี้ไม่พบมีรายชื่ออยู่ในระบบ จึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าปลงศพให้ได้ แต่เชื่อว่าทั้งสองคน ใครคนใดคนหนึ่งเก็บเงินแล้วไม่ส่งต่อ
ทั้งนี้ การส่งเงินสงเคราะห์ล่วงหน้า ต้องส่งผ่านประธาน อสม.ระดับหมู่บ้าน แล้วส่งต่อประธานตำบล ก่อนจะรวบรวมส่งให้กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ อสม.อำเภอเมืองบุรีรัมย์ แล้วทางกองทุนฯ ก็จะออกใบเสร็จให้เป็นหลักฐาน
กรณีนางทองเพียร ที่เสียชีวิตไปนั้น จากการตรวจสอบไม่พบแม้ใบสมัคร เข้าร่วมกองทุนฯ เบื้องต้นสรุปได้ว่า มีสองคนที่รู้เรื่องนี้ดี คือประธาน อสม.หมู่บ้าน และประธาน อสม.ตำบล คือเก็บเงินสมทบไปแล้ว ไม่เอาไปเข้ากองทุน
มาฟังทางฝั่งของนางเจียม กบินรัมย์ ประธาน อสม.หมู่บ้าน ยอมรับว่า เก็บเงินของผู้ตายมาจริง แต่ได้ส่งมอบให้ประธานตำบลตามขั้นตอนแล้ว แต่งงว่าทำไมกองทุนฯ ถึงแจ้งว่า "ไม่มีชื่อในระบบ" ซึ่งก็ขัดแย้งกับนายจักรพงษ์ คะชุนรัมย์ ประธาน อสม.ตำบลบ้านยาง ยืนยันว่า ไม่ได้รับเงินจากนางทองเพียร เพราะทุกครั้งที่ได้รับเงิน ก็จะลงบัญชีอย่างละเอียด ก่อนส่งต่อเหมือนรายอื่น
ทำให้ข้อมูลจาก 2 ฝ่ายไม่ตรงกัน ก็ต้องมาตรวจสอบกันว่า ใครกันที่พูดจริง แต่ที่แน่ๆ ผู้เสียหายส่งเงินไปนานถึง 16 ปี ถ้าไม่มีชื่อในระบบ แล้วเงินที่ส่งไปนั้นไปอยู่ในกระเป๋าใคร ซึ่งจะต้องแจ้งให้ตำรวจสืบสวนหาข้อเท็จจริงและผู้กระทำผิด อาจโดนข้อหาฉ้อโกงประชาชน
และนอกจากนี้ยังต้องทำการตรวจสอบเพิ่มเติมว่า มีผู้เสียหายนอกเหนือจากนางทองเพียรอีกหรือไม่ ที่แม้ว่าตอนนี้อาจยังไม่เสียชีวิต ยังส่งเงินต่อเนื่องมาหลายปี แต่อาจไม่ทราบว่าไม่มีชื่อตัวเองในสารบบ ส่งเงินไปแล้วสูญเปล่า ซึ่งในฐานะสมาชิกจะต้องเก็บใบเสร็จรับเงินไว้ทุกครั้ง เพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบ และเรียกร้องความเป็นธรรมหากโดนโกงเงิน
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/b4m3_t3aA4A

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ