นิทรรศการ 'แขวน' บันทึก 44 ปี เหตุการณ์ '6 ตุลา 19' ประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ถูกทำให้ลืม

เลือกตั้งและการเมือง

นิทรรศการ 'แขวน' บันทึก 44 ปี เหตุการณ์ '6 ตุลา 19' ประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ถูกทำให้ลืม

โดย

1 ต.ค. 2563

7.1K views

โครงการ บันทึก 6 ตุลา เปิดนิทรรศการ แขวน 6 ตุลา On site Museum หลักฐานข้อเท็จจริง พื้นที่และเทคโนโลยี เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งปีนี้จะครบรอบ 44 ปี ที่คาดหวังจะมีการเปิดพื้นที่สาธารณะ เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะจากเหตุการณ์ที่ถูกทำให้ลืม มา 44 ปี 
ณ ที่แห่งนี้ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 กมล แก้ว ไกรไทย ถูกยิงเสียชีวิต กระสุนปืน ทะลุช่องปอด ร่างของกมล ถูกนำไปแขวนที่ต้นไม้บริเวณสนามหลวง ศพของกมลถูกทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า  เป็นข้อความแรกที่ถูกจัดแสดงในนิทรรศการ แขวน แขวน 6 ตุลา On site Museum หลักฐานข้อเท็จจริง พื้นที่และเทคโนโลยี ที่โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์6 ตุลาได้นำมาจัดแสดงที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 44 ปี 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากการจัดทำข้อมูล โครงการบันทึก 6 ตุลา ที่รวบรวมหลักฐาน บุคคล ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ที่ถูกทำให้ลืม
ประตูแดง นครปฐม เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์หนึ่งที่กลายมาเป็นจุดเริ่มต้น ของการ แขวน ครั้งที่ 1 จากเหตุที่ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และชุมพร ทุมไมย สองเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า นครปฐม ถูกฆ่าแขวนคออย่างปริศนาในวันที่ 24 กันยายน 2519 หลังจากติดโปสเตอร์ประท้วงการกลับมาของจอมพล ถนอม กิตติขจร ที่เดินทางกลับเข้ามาประเทศหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
ภายในนิทรรศการยังนำข้อมูลที่โครงการบันทึก 6 ตุลาได้ค้นพบด้วยว่า ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 5 คน ไม่ใช่ 2 คนจากที่เห็นในภาพของนีล ยูเลวิช ช่างภาพของสำนักข่าวเอพี ที่บันทึกภาพฟาดเก้าอี้ ที่สนามหลวง ซึ่งจนถึงวันนี้ ยังไม่มีคำตอบว่า เกิดอะไรขึ้นในวันนั้น และใครคือผู้สั่งการ
อดีตรองนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเคยจัดงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลา 19 เป็นครั้งแรก เมื่อ 24 ก่อน ยอมรับว่า การพูดถึง 6 ตุลามากขึ้นในปัจจุบันรวมถึงความสนใจของขบวนการนักศึกษา เพราะมีความคล้ายคลึงของเหตุการณ์ ที่มีความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม และการถูกกดทับจากอำนาจเผด็จการ
นิทรรศการยังบอกเล่าถึงเหตุการณ์ก่อน 6 ตุลาที่นำมาซึ่งการสร้างความเกลียดชังของคนไทย และที่มาของฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา การปลุกระดมผ่านสื่อ การจัดตั้งมวลชน และการใช้กำลังเข้าปราบปรามนักศึกษา ที่ไม่เคยมีการนำมาสืบสวน หาผู้กระทำผิด ซึ่งทั้งหมดถูกบอกเล่าผ่าน หลักฐาน วัตถุพยาน และเทคโนโลยี เออาร์ ที่สามารถชมภาพเสมือนจริงจากจุดเกิดเหตุทั้งภายในสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสนามหลวง รวมทั้งหลักฐานจากผู้เสียชีวิต และการออกแบบพิพิธภัณฑ์ของนักศึกษา ที่คาดหวังกันว่า สักวันหนึ่ง จะมีการสร้างพิพิธภัณฑ์ที่ถูกลืมนี้ขึ้น โดยนิทรรศการแขวน 6 ตุลา จะจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ ถึง 11 ตุลาคม ตั้งแต่เวลา 10 นาฬิกา ถึง 19 นาฬิกา ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ