กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดย

22 ก.ย. 2563

1.8K views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส 
วันนี้ เวลา 9 นาฬิกา 5 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปยังกรมทหารราบที่ 152  ค่ายสิรินธร อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาค่ายสิรินธร ครบรอบปีที่ 40 ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดป้ายค่ายสิรินธร เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2523 ดังนั้นกองทัพบกจึงกำหนดให้วันที่ 22 กันยายนของทุกปี เป็นวันสถาปนาค่ายสิรินธร ซึ่งมีภารกิจหลักในการปฏิบัติหน้าที่ด้านการทหาร เพื่อความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ตลอดจนสนับสนุน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ในการนี้ ทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทาน ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ออกหน่วยไปตรวจรักษาโรค แก่ประชาชนในพื้นที่ 
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรผลการดำเนินงานต่างๆ ภายในค่ายสิรินธร ได้แก่ ความคืบหน้าโครงการทหารพันธุ์ดี ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ด้านการเกษตร และด้านปศุสัตว์แก่กำลังพลที่ใกล้ปลดประจำการ และชุมชนรอบค่าย ให้นำความรู้ไปต่อยอดประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัว ด้วยมีพื้นที่จำกัด จึงขอใช้พื้นที่ภายในค่ายพญาเดชานุชิต จังหวัดยะลา จำนวน 85 ไร่ จัดทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตร ปศุสัตว์ และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีแปลงสาธิตการเกษตรต่างๆ เช่น แปลงปลูกพืชพระราชทาน,พืชท้องถิ่น เป็นต้น ด้านปศุสัตว์ มีโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ เป็ด และโค ,ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีการเลี้ยงปลากินพืช ซึ่งได้ผลผลิตดี สามารถนำมาประกอบอาหารสำหรับเลี้ยงกำลังพล และส่งจำหน่ายในตลาดชุมชนรอบค่าย ส่วนพื้นที่โครงการทหารพันธุ์ดี ภายในค่ายสิรินธร ปัจจุบัน เป็นศูนย์สาธิตการเลี้ยงแพะพันธ์แบล็คเบงกอล กับพันธุ์พื้นเมือง และสาธิตการปลูกกาแฟโรบัสต้า โกโก้สายพันธุ์ชุมพร 
ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ได้พระราชทานสิ่งของแก่ผู้แทนเด็กเล็ก และของใช้ที่จำเป็นภายในศูนย์ ปัจจุบันมีเด็กอยู่ในความดูแล 39 คน ทุกคนได้รับการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา และเจริญเติบโตตามวัย ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา นอกจากจัดอาหารให้เด็กได้รับประทานครบทั้ง 3 มื้อแล้ว ยังจัดกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้ปกครอง และกิจกรรมการเรียนรู้นอกสถานที่ ทำให้ได้รับรางวัล ครูศูนย์พัฒนาชายแดนใต้ ระดับดีมาก สำหรับการดำเนินงานของศูนย์ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกนั้น มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์ ให้มีความสวยงาม ทันสมัยโดยใช้ลวดลายกราฟฟิก ใช้สีธรรมชาติแทนสีเคมี เช่น ฝักคูณ ฝักสะตอ และใบมังคุด ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกที่นี่จึงโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ และส่งผ้าให้ชุมชนรอบค่ายตัดเย็บ พร้อมรับซื้อผลิตภัณฑ์กระจูดมาร่วมตัดเย็บกับผ้าบาติก เป็นกระเป๋า เพื่อต่อยอดผลงาน ให้มีความหลากหลาย ช่วยกระจายรายได้แก่ชุมชน 
เวลา 12 นาฬิกา 41 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปยัง อาคารสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และครอบครัว เฝ้าทูลละอองพระบาท พลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 พร้อมภริยา เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบถวายบังคมลา ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พลตรีเกรียงไกล ศรีรักษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 พร้อมภริยา เฝ้าทูลละอองพระบาท ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง แม่ทัพภาคที่ 4  นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นำข้าราชการระดับสูงของจังหวัดยะลาที่จะเกษียณอายุราชการ เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบถวายบังคมลา  นายศุภกร ปานแจ่ม รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคปัตตานี พร้อมครอบครัว เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบถวายบังคมลา ในโอกาสเกษียณอายุราชการ และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย และนายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นำ คณะบุคคล เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตาม พระราชอัธยาศัย
เวลา 14 นาฬิกา 38 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปห้องประชุม 1 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมืองนราธิวาส พระราชทานพระราชวโรกาส ให้นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะเกษียณอายุราชการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และข้าราชการกรมวิชาการเกษตรที่จะเกษียณอายุราชการ เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบถวายบังคมทูลลา 
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปลานหน้าอาคารแปดเหลี่ยม ทรงติดตามการผลการดำเนินงาน ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดย ช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ปรับปรุงข้อมูลงานวิจัยด้านวิชาการ และนำเข้าระบบออนไลน์ เพื่อให้ง่ายต่อการสืบค้น และจัดสื่อการเรียนรู้ลงในยูทูป ด้านการส่งเสริมและขยายผล ได้ปรับวิธีการ ด้วยการอบรมให้ความรู้เน้นการอบรมเชิงปฏิบัติการ ในปี 2563 มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ จากการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของศูนย์ฯ กว่า 9 พันราย สำหรับความก้าวหน้าผลการดำเนินงานสนองพระราชดำริตามโครงการการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในยามวิกฤต ได้จัดทำโครงการฯในพื้นที่ 42.35 ไร่ ในปีงบประมาณ 2563 ได้ดำเนินกิจกรรมสนองพระราชดำริ ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผัก เช่น พริกหยวก 4 กิโลกรัม ,ถั่วฝักยาว 1 กิโลกรัม ,กระเจี๊ยบเขียว 20 กิโลกรัม และเมล็ดพันธุ์พืชไร่ ได้แก่ ถั่วหรั่ง 13 กิโลกรัม ,มันขี้หนู 162 กิโลกรัม รวมทั้งเมล็ดพันธุ์ข้าวได้แก่ ข้าวซีบูกันตัง 5 จำนวน 1 พัน 20 กิโลกรัม และข้าวหอมกระดังงา จำนวน 1 พัน 100 กิโลกรัม ซึ่งได้แจกจ่ายให้แก่เกษตรกร ที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 2 พัน 500 ซอง และแจกจ่ายให้เกษตรกรช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จำนวน 5 พัน 695 ซอง 
ด้านโครงการส่งเสริมไก่ไข่พระราชทานเขตพื้นที่ภาคใต้ ได้นำไข่ไก่จากศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มาฟักแล้วนำไปเลี้ยงทดสอบ เพื่อศึกษาการปรับตัวเข้ากับสภาพพื้นที่ที่โรงเรียนโคกศิลา จำนวน 50 ตัว และที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จำนวน 55 ตัว ผลการทดสอบอัตราการออกไข่ระยะเวลา 49 สัปดาห์ พบว่าให้ไข่ไม่แตกต่างกัน และมีการทดสอบนำไก่สาวอายุ 20 สัปดาห์ มาเลี้ยงที่โรงเรียนบ้านปลักปลา โรงเรียนบ้านโคกสยา  โรงเรียนบ้านหัวเขา แห่งละ 50 ตัว และที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จำนวน 25 ตัว พบว่าพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ให้ไข่เฉลี่ยสูงสุด นอกจากนี้ยังมีการผลิตลูกไก่ และนำไก่สาวที่ผลิตได้ในระยะที่ 1 สนับสนุนให้แก่โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน จำนวน 15 โรงเรียนๆ ละ 50 ตัว และเกษตรกร จำนวน 21 ราย - ส่วนการดำเนินงานเกี่ยวกับโรคเท้าช้าง หลังการกำจัดโรคสำเร็จ ทำให้ในพื้นที่ปลอดจากการแพร่เชื้อของพยาธิโรคเท้าช้าง แต่ยังคงเฝ้าระวังการเกิดโรคอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังจัดทำโครงการสาธิตการปลูกพริกไทยค้างยอป่า เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเพิ่มผลผลิต และคุณภาพให้แก่เกษตรกรใน 2 พื้นที่ คือ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จำนวน 432 ค้าง และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส จำนวน 512 ค้าง โดยใช้พันธุ์ซาราวัค เนื่องจากให้ผลผลิตสูง โตเร็ว ต้านทานโรครากเน่าได้ดี พบว่าผลผลิตทั้ง 2 แห่ง ไม่แตกต่างกัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง