'หญิงหน่อย' ไม่เห็นด้วยปราศรัยหมิ่นสถาบัน หวั่นเกิดรัฐประหารอีกหน - 'สมชาย' เสนอใช้ไม้แข็ง จี้อธิการบดี รับผิดชอบหากมีนศ.ชุมนุม

เลือกตั้งและการเมือง

'หญิงหน่อย' ไม่เห็นด้วยปราศรัยหมิ่นสถาบัน หวั่นเกิดรัฐประหารอีกหน - 'สมชาย' เสนอใช้ไม้แข็ง จี้อธิการบดี รับผิดชอบหากมีนศ.ชุมนุม

โดย

12 ส.ค. 2563

978 views

วันที่ 11 ส.ค. 2563 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีมีการปราศรัยหมิ่นสถาบันตามที่เป็นข่าว ว่า ตลอดชีวิตการทำงานการเมืองของตนมีจุดยืนเดียวมาตลอด คือการทำงานการเมืองภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 
ส่วนตัวเห็นด้วยกับการต่อสู้กับเผด็จการ ที่บริหารประเทศล้มเหลวทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ทุกข์ยาก ตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภา และหยุดคุกคามประชาชน เพราะถือว่าเป็นข้อเรียกร้องที่สมเหตุผล และอยู่ในวิสัยที่ทุกฝ่ายจะแสวงหาความร่วมมือกันได้ แต่ไม่ควรก้าวล่วงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่จะนำมาซึ่งความขัดแย้งแตกแยกของคนในชาติ จนอาจเป็นเหตุของการยึดอำนาจอีกครั้ง
ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ออกเตือนระบุว่า หากคนต้องการประชาธิปไตย เดินเลยเส้นทาง อาจจะกลายเป็นชนวนเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันกับ 6 ตุลา 2519 ปิดฉากแบบรัฐประหาร
นอกจากนี้ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม  โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. หารือว่า รู้สึกอึดอัด คับข้องใจ และเชื่อว่าประชาชนก็ตกอยู่ในสภาวะเช่นเดียวกัน หลังจากติดตามข่าวการชุมนุมทางการเมือง 3 ครั้งในรอบ 7 วันที่ผ่านมา ตั้งแต่เมื่อวันที่  3 ส.ค. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 9 ส.ค. ที่จังหวัดเชียงใหม่ และล่าสุดวันที่ 10 ส.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และยิ่งอึดอัดยิ่งขึ้นเมื่อทราบว่าตอนจบมีการประกาศจะชุมนุมในลักษณะเดียวกันในวันพรุ่งนี้ (12ส.ค.)ที่สวนลุมพินี ซึ่งอยู่ใกล้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก่อนจะถึงวันชุมนุมที่กำหนดไว้ วันที่ 16 ส.ค. ที่จะถึงนี้
นายคำนูณ กล่าวว่า การชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา มีเนื้อหารุนแรงที่สุดเท่าที่เคยฟังมาในชีวิต มีข้อเรียกร้องที่ไม่มีคนไทยคนไหนเรียกร้องในการชุมนุมสาธารณะ เพราะเลยเถิดเกินการขับไล่รัฐบาล เกินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยกร่างใหม่ทั้งฉบับ และชวนให้คิดได้ว่าการไม่ยอมรับเพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยขอแต่เพียงยกร่างใหม่ทั้งฉบับนั้นเป้าหมายสูงสุดคืออะไร สรุปคือเกินขอบเขตการต่อสู้ทางการเมืองตามปกติที่คนไทยเคยเห็น
และเสนอให้รัฐบาลดำเนินมาตรการทางการเมืองด้วยการรับฟังความเห็นข้อเสนอจากสมาชิกรัฐสภาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 โดยเร็ว แม้สมาชิกของทั้ง 2 สภาจะมีความเห็นหลากหลายแตกต่างกันในหลายกรณี
“เชื่อว่าทั้ง 2 สภา มีความเห็นร่วมกันว่าการกระทำบางอย่างของผู้ชุมนุมบางคนในการชุมนุม 3 ครั้งที่ผ่านมาเกินขอบเขตที่ควรจะเป็นไป ทำให้ข้อเรียกร้องปกติของประชาชนส่วนใหญ่ต้องถูกทำให้เสียหาย สุ่มเสี่ยงจุดชนวนความรุนแรง ซ้ำรอยเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 อันจะสร้างแผลลึกส่งต่อลูกหลานต่อไป โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้จะซ้ำเติมประเทศไทยจมดิ่งลงสู่หุบเหวแห่งหายนะ หากแก้ไขไม่ทัน ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐสภาควรเป็นเวทีที่หาทางออกให้บ้านเมืองก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่า 6 ตุลา ภาค 2 ขึ้นมาในเร็วๆนี้ และหากถึงวันนั้นรัฐสภาและรัฐธรรมนูญยังคงอยู่ ก็แก้ไม่ได้” นายคำนูณ กล่าว
ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เสนอให้ใช้ไม้แข็งกับหัวโจกผู้ชุมนุม อย่างเช่นการถอนประกันตัวดำเนินการถอนประกัน นายอานนท์ นำภา และไมค์ ระยอง เพราะผิดเงื่อนไขการประกัน ซึ่งเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหลักฐาน และขอให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ที่จะจัดการชุมนุม รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจากการชุมนุม เพราะการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองอธิการบดีออกมาขอโทษไม่เพียงพอ ต่อจากนี้หากมีการชุมนุม ทั้งอธิการบดีและผู้บริหารต้องรับผิดชอบสิ่งที่ชุมนุมเกินขอบเขต พร้อมขอให้สื่อหยุดสื่อสารข่าวสารของการชุมนุม เพราะทำให้การชุมนุมที่มิชอบ ฮึกเหิมและบานปลาย
นอกจากนี้มีรายงานว่า ายอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เข้าแจ้งความที่สภ.เมืองเชียงใหม่ ให้ดำเนินคดี นายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เนื่องจากละเมิดคำสั่งศาลร่วมปราศรัยในการชุมนุม
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/4bm-QQ6m1Q4

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ