ครป.จัดเวทีสาธารณะเสวนาแก้ รธน. ชี้ยึดหลักปี 40 เพื่อกฎหมายที่ดีกว่า

เลือกตั้งและการเมือง

ครป.จัดเวทีสาธารณะเสวนาแก้ รธน. ชี้ยึดหลักปี 40 เพื่อกฎหมายที่ดีกว่า

โดย

2 ส.ค. 2563

988 views

การจัดเวทีสาธารณะ ‘แนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทางออกเพื่อชาติบ้านเมือง’ จัดโดย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หรือครป. มีการเชิญตัวแทนทั้งฝ่ายรัฐบาล - ฝ่ายค้าน - กรรมาธิการฯศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคนรุ่นใหม่ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

โดยนายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป. ระบุว่า รัฐธรรมนูญปี 60 ไม่ได้ออกแบบสำหรับประชาชน แต่เป็นการตอบสยองความต้องการของ คสช.อาจเปรียบได้ว่าเป็นอัญมณีมีค่าที่ต้องหวงแหนไว้ จึงเห็นถึงความซับซ้อนที่ทำให้การสืบทอดอำนาจมีเสถียรภาพ ทั้ง ส.ว.ที่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี - การมียุทธศาสตร์ชาติ/แผนปฏิรูปประเทศ รวมทั้งองค์อิสระ แต่นี่อาจเป็น “ระเบิดเวลาของสังคม” เพราะท้ายที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้สังคมเกิดความแตกแยก ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ก็เริ่มเห็นสัญญาณหลายอย่างที่จะนำไปสู่จุดนั้น

ทั้งนี้เห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 60 ถือเป็นฉบับที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษ แต่วันนี้ยังไม่เห็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดซักครั้งจะมีการผลักดันแก้ไข หรือยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นธรรม ตอกย้ำว่าคนในรัฐบาล โดยเฉพาะ “3ป.” เป็นแกนนำที่ได้ประโยชน์ ไม่ฟังกระแสเรียกร้อง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ “ถ้าการแก้ไขไม่เกิดสังคมจะระเบิดแน่ และสร้างความเสียหายมาก” ดังนั้นจึงเป็นทางเลือกของ “3ป.” ที่จะถอดสลักความขัดแย้งนี้นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำได้ทั้งระยะยาว หรือระยะสั้นในการแก้ในประเด็นที่ทำได้ก่อน คือ บทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ควบคู่กับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อย่างน้อยเชื่อว่าจะคลี่คลายสถานการณ์ได้

ด้านนายโภคิน พลกุล ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของฝ่ายค้าย ชี้ให้เห็นความบกพร่องของรัฐธรรมนูญ ก่อให้เกิดปัญหาการยึดอำนาจ 2 ครั้งที่ผ่านมาทั้งในสมัยพลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่ได้แก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม แต่กลับเป็นการตอกย้ำให้หนักกว่าเดิม รวมถึงตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมขึ้นไปอีก ยิ่งยึดอำนาจประเทศก็ยิ่งถดถอย พร้อมระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นต้นเหตุหลักของปัญหา หากไม่แก้ไขก็จะเป็นระเบิดเวลา ส่วนตัวมองว่าทางออกจะต้องมีโรดแมปอันเดียวของทุกฝ่ายคือการมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่เขียนโดยประชาชนและเห็นชอบโดยประชาชนเป็นแนวทางที่ทุกคนเดินร่วมกัน ถ้าต้องจ่าย 6,000 ล้านบาทในการซื้อทางออกประเทศคิดว่าประชาชนก็น่าจะเห็นด้วย พร้อมเสนอแก้รัฐธรรมนูญโดยตั้งหมวดใหม่ให้มี สสร. สุดท้ายต้องผ่านประชามติ คาดน่าจะใช้เวลา 1 ปี 6 เดือน จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นายโภคิน ยังกล่าวว่า ตนได้ยกร่างมาตรา 256 ในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ดังนั้นในสัปดาห์หน้าตนจะนำร่างดังกล่าว ไปพูดคุยกับพรคร่วมฝ่ายค้าน ก่อนหารือกับพรรครัฐบาล เพื่อรวบรวมรายชื่อไปสู่กระบวนการแก้ไขต่อไป

ส่วนนายราเมศ รัตนเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล ย้ำว่าการแก้รัฐธรรมนูญปี 60 เป็นจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ จากเนื้อหาที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ มีข้อบกพร่องหลายอย่างที่สร้างปัญหา นอกจากประเด็นที่หลายคนพูดถึง ทั้ง ส.ว.ที่ไม่ยึดโยงประชาชน มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ประเด็นใหญ่สิทธิของประชาชน และสิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ยกตัวอย่างได้ชัด อย่างกรณีคดี “บอส อยู่วิทยา” กับคำสั่งไม่ฟ้องที่ไม่เปิดเผยรายละเอียด จึงมีคำถามว่าทำไมไม่บอกให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อร่วมกันตรวจสอบ ฉะนั้นจึงเป็นโอกาสดี เมื่อเราเห็นพ้องในการแก้รัฐธรรมนูญ สิ่งเหล่านี้ก็ควรนำมาอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ขณะที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ได้ชูไอเดีย 10 ข้อเสนอ แบ่งเป็น 5 ยกเลิก คือ 

1.ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่แก้ไม่ได้ เหมือนปี 60 ที่ต้องใช้เสียง ส.ว.1 ใน 3 คือ 84 เสียง เป็นความยากที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงเสนอแก้มาตรา 256 นำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 

2.ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ละเอียดมากเกินไป โดยเฉพาะในหมวด 6 และ 16 ที่เกี่ยวข้องนโยบายรัฐ และการปฏิรูปประเทศควรตัดออก เพราะไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในปัจจุบัน 

3.ยกเลิกการอ้างความมั่นคง ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน 

4.ยกเลิกกติกาเลือกตั้ง เปลี่ยนจากบัตรใบเดียว เป็น 2 ใบเหมือนเดิม เพื่อเลือกคน และ พรรค ตามความต้องการของประชาชน และ 5.ยกเลิก ส.ว. ที่มีสัดส่วน “ตำรวจ-ทหาร” มากถึง 40% ตอกย้ำไม่ยึดโยงประชาชน พร้อมเสนอใช้โมเดลสภาเดียว เหมือนกับประเทศประชาธิปไตย 20 ประเทศจากกว่า 30 ประเทศที่ใช้ระบบนี้ ซึ่งข้อดีนอกจากทำให้การผลักดันกฎหมายรวดเร็วมากขึ้น ยังช่วยประหยัดงบประมาณได้ 1 พันล้านบาทต่อปี

ส่วน 5.ยกระดับ คือ 1.ยกระดับโครงสร้างสวัสดิการพื้นฐาน รองรับคุณภาพชีวิตของประชาชน / 2.ยกระดับคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ผ่านประชาชนจากการเลือกตั้ง เป็น ส.ส. / 3.ยกระดับองค์กรอิสระ ให้การสรรหายึดโยงประชาชน ผ่าน ส.ส.ในสภา โดยต้องได้รับเสียงข้างมาก ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน / 4.ยกระดับประชาธิปไตยโดยตรง ที่จะเพิ่มสิทธิ์ในการเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง เช่น ส.ส. / ส.ว. หากมีพฤติกรรมการใช้อำนาจทุจริตต่อหน้าที่ และ 5.ยกระดับท้องถิ่น โดยโอนอำนาจผู้ว่าฯ ให้ผู้นำท้องถิ่น ให้สามารถออกแบบโครงการแก้ไขพื้นที่ของตัวเองได้ ทั้งนี้ย้ำว่าข้อเสนอดังกล่าว ไม่ได้หวังจะเป็นคำตอบชุดสุดท้าย แต่ขอให้เป็นทางเลือกที่จะนำไปสู่การพิจารณาแก้ไขร่วมกัน

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ บอกว่า ได้ทำแบบสอบถามประชาชน ต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และจำเป็นต้องแก้ไขอย่างไร ซึ่งพบว่าร้อยละ 96.8% เห็นว่าสมควรให้มีการแก้ไขและต้องเร่งรีบ โดยส่วนใหญ่ ขอให้แก้ไขไม่เกิน 6 เดือน มีเพียงส่วนน้อยที่ระบุ 1-2 ปี สะท้อนว่าประชาชนไม่ทนอยู่กับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอีกแล้ว “สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าประชาชนเขาคิด และต้องการอะไร”

นายสมชัย เรียกร้องความจริงใจจากรัฐบาลโดย ครม.เป็นต้นเรื่องในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องพึ่งเสียง 100 ส.ส.ในการเสนอแก้ไข ก็จะทำให้ส.ว.เห็นว่าเป็นทิศทางเป็นสัญญาณในการที่จะช่วยกันในการแก้ไขปัญหา ส่วนข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเห็นว่า แนวทางที่จะง่ายที่สุดคือการหยุดคุกคามประชาชน เพราะทุกคนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น เพิ่งเห็นว่ารัฐบาลสามารถตอบสนองได้โดยไม่ยาก

ชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/7BydL99EYv8

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ