องคมนตรี ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงาน มูลนิธิโครงการหลวง ที่จังหวัดเชียงใหม่

พระราชสำนัก

องคมนตรี ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงาน มูลนิธิโครงการหลวง ที่จังหวัดเชียงใหม่

โดย

10 ก.ค. 2563

604 views

วันนี้ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ไปติดตามความก้าวหน้า การดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง อําเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งขึ้น เพื่อลดการบุกรุกทำไร่เลื่อนลอย จากพืชเสพติด ด้วยการส่งเสริมการเกษตร เพื่อสร้างรายได้ทดแทน ปัจจุบันมีพื้นที่ปฏิบัติงานครอบคลุมเขตอำเภอแม่วาง และอำเภอแม่แจ่ม รวม 4 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นชนเผ่าปกาเกอะญอ และม้ง รวม 477 ครัวเรือน
โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชเขตหนาว ภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย รวม 28 ชนิด อาทิ ผักตระกูลสลัด กะหล่ำปลีหัวใจ บร็อคโคลี่ อะโวคาโด ชา เห็ดปุยฝ้าย และกลุ่มไม้ดอก ให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเอง ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และส่งเสริมการอนุรักษ์สืบทอดวัฒนธรรมท้องถิ่น หัตถกรรมชนเผ่า เป็นอาชีพเสริม 
ทั้งร่วมประสานกับหน่ายงานในพื้นที่ ในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร ดำเนินโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ และพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ การสร้างอ่างเก็บน้ำ บ่อพักน้ำ และระบบกระจายน้ำสู่แปลงเกษตรกร เพื่อใช้ในฤดูแล้ง หลังจากการประชุม ได้เยี่ยมชมแปลงวิจัยมะเขือเทศ ด้วยระบบปลูกในวัสดุปลูกแบบไม่ใช้ดิน เพื่อลดปัญหาโรคแมลง พร้อมกันนี้ ได้พูดคุยกับกลุ่มอนุรักษ์ผ้าทอชนเผ่า และยุวเกษตรกรโครงการหลวง ผู้ได้รับทุนฝึกปฏิบัติงานการเกษตรที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทางโครงการหลวง ได้ส่งเสริมให้เยาวชนชาวไทยภูเขา ได้ไปศึกษาเรียนรู้ ฝึกประสบการณ์เพื่อนำความรู้ กลับมาพัฒนาบ้านเกิด ตามแนวทางพระราชทาน คือ ช่วยเขาให้ช่วยตนเอง
ในตอนบ่าย องคมนตรี และคณะ ได้ไปติดตามการดำเนินงานของ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง บ้านห้วยตอง ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2521 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหายาเสพติด ด้วยการส่งเสริมให้ราษฎรชาวไทยภูเขา เผ่าปกาเกอะญอ และม้ง ปลูกพืชผัก สร้างรายได้ทดแทนการปลูกพืชเสพติด ปัจจุบันมีสมาชิก 558 ราย มีผลผลิตหลัก ได้แก่ มันเทศญี่ปุ่น กระเทียมต้น เสาวรสหวาน สตรอว์เบอร์รี องุ่นดำไร้เมล็ด ดอกแอสเตอร์ สนช่อดาว เป็นต้น โดยได้รับการส่งเสริมอาชีพภายใต้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และมาตรฐานอาหารปลอดภัย 
นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการวิจัย คัดเลือก และปรับปรุงพันธุ์เฮมพ์ หรือ กัญชง โดยสามารถคัดเลือกสายพันธุ์ RPF3 หนึ่งใน 4 สายพันธุ์เฮมพ์ ที่โครงการหลวงขึ้นทะเบียนพันธุ์เป็นครั้งแรกของไทย และสามารถนำไปส่งเสริมแก่เกษตรกรอย่างถูกต้องต่อไป รวมถึงมีการศึกษาวิจัยการปลูกข้าวนาหยอด การทดสอบพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมทนทานต่อแมลง การทดสอบพันธุ์และเทคโนโลยีการ ปลูกกระเทียมอินทรีย์ ที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่สูง และงานทดสอบเบญจมาศพันธุ์ใหม่เคอร์คูม่าลูกผสม และมาลีรัตน์ จากการดำเนินงานที่ผ่านมา สามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ของราษฎรชาวเขา ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง