ฉลุย! สภาฯ ลงมติผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท - นายกไม่ขัดตั้ง กมธ.ตรวจสอบการใช้เงิน

เศรษฐกิจ

ฉลุย! สภาฯ ลงมติผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท - นายกไม่ขัดตั้ง กมธ.ตรวจสอบการใช้เงิน

โดย

1 มิ.ย. 2563

556 views

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติอนุมัติให้ความเห็นชอบ พ.ร.ก.กู้เงินวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ผ่านความเห็นชอบของสภาทั้ง 3 ฉบับ บาท ประกอบด้วย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เห็นชอบ 274 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 207 เสียง
ฉบับที่ 2 พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เห็นชอบ 275 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง งดออกเสียง 205 เสียง
และฉบับที่ 3 พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ เห็นชอบ 274 เสียง ไม่เห็นชอบ 195 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง ไม่ออกเสียง 1 เสียง

เมื่อวานนี้ (31 พ.ค.) นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน อภิปรายปิดเป็นคนสุดท้าย สำหรับการพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ พร้อมตั้งคำถาม 5 ข้อถึงความจำเป็นในการกู้เงิน หากจำเป็นต้องกู้ ต้องกู้เท่าไหร่ กู้เพื่อทำอะไร กู้เพื่อหวังผลอะไร กู้แล้วจะสำเร็จหรือไม่ และหากกู้แล้ว ถ้าทำไม่สำเร็จ แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ พร้อมขอให้นายกรัฐมนตรีตอบคำถามว่า หากทำไม่ได้ จะทำให้ประเทศไทยมีสภาพเหมือนกับการบินไทยหรือไม่

ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นด้วยกับการกู้เงินของรัฐบาล แต่ก่อนจะกู้ ควรจะเกลี่ยงบประมาณจากปี 2563 ก่อน เพื่อเป็นการเช็คเงินในกระเป๋า และกู้เท่าที่จำเป็น เพราะไม่เห็นด้วยกับการกู้เต็มวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่ทราบแหล่งเงินทุนที่รัฐบาลจะไปกู้ ไม่มีแผนงานการใช้งบ และกังวลว่า การออกพันธบัตรของรัฐบาล ที่ให้ดอกเบี้ยสูง 3 เท่า ที่อาจจะเกิดความเหลื่อมล้ำ และส่งผลต่อเศรษฐกิจ ขณะยืนยัน ยืนยันด้วยว่า ฝ่ายค้าน จะไม่ยื่นพระราชกำหนดที่เกี่ยวข้องกับเงินกู้ทั้ง 3 ฉบับ ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ตามที่ก่อนหน้านี้เคยยื่นคำขู่ไว้ก็ตาม

หลังจากนี้จะขอให้มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญตรวจสอบการใช้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท และเสนอให้มีการแก้ไขการประมูล จากเดิมที่จะไม่ใช้การประกวดราคาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-biding) ต้องให้ประกวดราคาผ่าน e-bidding เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเสนอให้มีการรายงานในรายละเอียดการใช้เงินต้องมารายงานสภาฯ 3 เดือนต่อครั้ง

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ยินดีให้ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ และการดำเนินการ ตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ อีกทั้งยืนยันว่าการใช้จ่ายเงินกู้นั้น มีการตรวจสอบทุกขั้นตอน เพราะเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ถือเป็นเงินแผ่นดิน เป็นการเบิกจ่ายเงินเช่นเดียวกับงบประมาณปกติ และมีการกล่าวถึงมาตรการการดูแลช่วยเหลือของรัฐบาลซึ่งประกอบด้วย 5 มิติ ได้แก่

- การลดภาระค่าใช้จ่าย ทั้งค่าไฟฟ้า-ประปา ค่าโทรศัพท์-อินเทอร์เน็ต ค่าเชื้อเพลิง การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน เป็นต้น
- การเพิ่มสภาพคล่อง อาทิ การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า-น้ำประปา การชะลอเลื่อนการชำระภาษี การเลื่อนส่งเงินกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- การเยียวยาทุกคน เช่น กลุ่มแรงงานในระบบประกันสังคม การเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การเยียวยาเด็กที่ครัวเรือนยากจน การช่วยเหลือฉุกเฉินเป็นค่าอาหารแก่นักเรียนยากจนกว่า 7.5 แสนคนตามกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาครอบคลุมสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ศธ. ตชด. ทั่วประเทศ ดูแลเด็กนอกระบบ นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งรัดการจัดเก็บข้อมูลด้วยระบบ Big Data เพื่อการบริหารในอนาคตด้วย ซึ่งประชาชนต้องร่วมมือด้วย
- การชะลอหนี้สินเดิม อาทิ การพักเงินต้น การปรับโครงสร้างหนี้ การลดดอกเบี้ยผ่านธนาคารต่าง ๆ ทั้งธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ซึ่งอยู่ในขอบเขตอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ดูแลอยู่ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถสั่งการ
- การเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินเพิ่มเติม การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินในการดำเนินธุรกิจ  รวมทั้งจะมีกองทุนจัดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนที่เป็นหนี้เสีย เอ็นพีแอลหรือมีศักยภาพน้อย แต่คำนึงถึงการใช้เงิน เพราะทุกบาททุกสตางค์ เป็นเงินของพี่น้องประชาชน

นายสุทิน กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าจะไม่ให้ผ่าน พ.ร.ก. ก็สงสารชาวบ้าน ถ้าผ่านง่ายก็เป็นห่วงลูกหลานในอนาคต รู้ว่าผ่านแน่ๆ แต่ก็อยากอภิปรายเพื่อบันทึกไว้ในสภาฯ ให้คนรุ่นหลังได้รู้ การงดออกเสียงคือการเปิดไฟเขียวให้ผ่านอย่างขมขื่น ขอให้ประชาชนเข้าใจ ไม่ใช่ฝ่ายค้านชกไม่สุดหมัดแต่ทำมาแล้วทุกอย่าง ยืนยันว่าไม่ท้อ ทำเต็มที่เท่าที่หนทางมี ยังมีข้อมูลอีกมากที่พูดได้ไม่หมด พร้อมขอโทษพี่น้องประชาชนที่พูดได้เพียงเท่านี้

ในส่วนของ พ.ร.ก. ฉบับแรกแม้จะเห็นด้วยในหลักการที่นำไปเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีข้อบกพร่องคือระบบการตรวจสอบที่ยังไม่ดีพอ และไม่เชื่อว่ามาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะทำได้จริง จึงเห็นว่าการงดออกเสียง เช่นเดียวกับพ.ร.ก.ฉบับที่ 2 ที่งดออกเสียงแม้จะมุ่งช่วยเหลือกลุ่มSME ผู้ประกอบการรายย่อย แต่วิธีการยังไม่ถูกต้อง ยังมีความไม่ชอบมาพากล และระบบตรวจสอบก็ยังไม่มีเช่นเดียวกันกับฉบับแรก

ส่วน พ.ร.ก.ฉบับที่ 3 นั้น กลุ่มเป้าหมายยังไม่ใช่ผู้เดือดร้อนที่จะต้องเร่งรีบในการออก พ.ร.ก. ผู้ประกอบการรายใหญ่แม้จะได้รับกระทบเดือดร้อน แต่ยังมีเวลาในการช่วยเหลือรูปแบบอื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนนอกจากนี้ยังมีความกังวลในหลายข้อ จึงไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ดังกล่าวนี้

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ทั้งวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านตกลงร่วมกันจะใช้เวลาอภิปราย 2 วัน ระหว่างวันที่ 4-5 มิ.ย.นี้ โดยจะเป็นการพิจารณา 3 วาระ

รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/S1eFToq54lE

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ