สังคม
ราชทัณฑ์แถลงไทม์ไลน์ก่อน 'บุ้ง' เสียชีวิต สุดงง พูดไม่ตรงกันหลายจุดหลังถูกจี้ถาม
โดย panwilai_c
15 พ.ค. 2567
76 views
วันนี้กรมราชทัณฑ์ตั้งโต๊ะแถลงข่าว ถึงขั้นตอนการดูแล น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง นักกิจกรรมการเมือง กลุ่มทะลุวัง นับตั้งแต่เข้าเรือนจำ จนถึงการเสียชีวิต ยืนยัน "บุ้ง" กินข้าวได้ แต่ไม่รับสารอาหารเสริม ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตต้องรอผลการชันสูตร
การแถลงข่าววันนี้ (15 พ.ค. 67) เริ่มขึ้นในเวลา 11 โมงตรง ที่ชั้น 2 กรมราชทัณฑ์ จ.นนทบุรี โดยใช้เวลาแถลงและตอบข้อซักถามสื่อมวลชนนานกว่า 1 ชั่วโมง เพราะมีบางประเด็นที่ชี้แจงไม่ได้ โดยการแถลงข่าววันนี้มี นายแพทย์ สมภพ สังคุตแก้ว ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้แถลงหลัก พร้อมด้วยนาง อาจารี ศรีสุนาครัว ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง และ นายแพทย์ พงศ์ภัค อารียาภินันท์ ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
ในช่วงต้นของการแถลงข่าวนายแพทย์ สมภพ ได้แสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า ในนามของรัฐบาลโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.กระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว ส่วนกรณีการเสียชีวิตอยู่ระหว่างการชันสูตรศพ และถ้าผลชันสูตรออกมาแล้วจะชี้แจงตามขั้นตอนอีกครั้ง
จากนั้นได้เปิดไทม์ไลน์ตั้งแต่รับตัว "บุ้ง" มาที่ทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 ขณะนั้นบุุ้งได้เริ่มอดอาหารแล้ว 29 กุมภาพันธ์ 2567 และเข้ารับรักษา ที่ รพ.ราชทัณฑ์ 8 วัน จากอาการอ่อนเพลีย และนำส่งรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ 27 วัน ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม - 4 เมษายน 2567
ซึ่งวันที่ 4 เมษายน 2567 แพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ทำหนังสือส่งตัวกลับมารักษาที่ทัณฑสถานฯ หลัง บุ้ง กลับมากินอาหารได้บ้างแล้ว โดยให้พักที่ห้องผู้ป่วยรวม ซึ่งมี น.ส.ทานตะวัน เพื่อนสนิทพักอยู่ด้วย ตอนนั้นพบว่ารู้สึกตัวดี ไม่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
กระทั่งเช้าวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา 6 โมงเช้า บุ้ง วูบและหมดสติ ขณะกำลังพูดคุยกับ น.ส.ทานตะวัน จึงช่วยเหลือโดยการกระตุ้นหัวใจโดยทันที และส่งตัวไปรักษาที่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือด้วยการกระตุ้นหัวใจ และทำซีพีอาร์ต่อเนื่องจนถึง รพ.ธรรมศาสตร์ฯ และเสียชีวิตในเวลา 11.22 น.
ด้านนายแพทย์ พงศ์ภัค บอกว่า ตอนที่มาอยู่ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ บุ้งก็กลับมากินอาหารได้บ้างแล้ว เช่น ข้าวต้ม ไข่เจียว มากน้อยก็แล้วแต่อาการในแต่ละวันว่าแน่นท้องมากหรือไม่ ซึ่งอาหารที่ "บุ้ง" กินในแต่ละวันจะมีการบันทึกเอาไว้ ซึ่งอาจจะต้องไปดูรายละเอียด ส่วนที่ตรวจพบว่ามีภาวะโลหิตจาง ก็ให้ยาบำรุงเลือด และเกลือแร่ แต่บุ้งแสดงเจตจำนงค์ไม่รับวิตามินใดๆ
เมื่อนักข่าวถามว่า "บุ้ง" กลับมากินอาหารตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะเธอประกาศอดอาหารมาตลอด นายแพทย์ พงศ์ภัค ไม่ได้ตอบประเด็นนี้ รวมถึงสาเหตุการเสียชีวิตเบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุ ต้องรอผลการชันสูตร
เมื่อนักข่าวถามว่า หลังจาก บุ้ง ปฏิเสธวิตามินบำรุงหรือสารอาหารเสริม ทางแพทย์ได้ให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำหรือไม่ ผู้ตรวจราชการกรมกล่าวว่า โดยปกติ ถ้าสามารถรับประทานอาหารได้ ก็จะตรวจสภาพร่างกายโดยทั่วๆ ไป การให้สารอาหารทางน้ำและหลอดเลือด ปกติเราจะให้ในภาวะเสียน้ำอย่างรุนแรง เหมือนคนท้องเสีย หรือคนที่อยู่ในภาวะของสารน้ำที่ไม่พอ เพราะสารน้ำที่ให้ทางเลือดก็คือน้ำเกลือ ไม่ได้มีสารอาหารเช่นโปรตีน หรืออะไรอยู่ในนั้น
ส่วนเรื่องแนวทางการดูแลผู้ต้องขังที่มีอุดมการณืเรื่องออดอาหารทางเรือนจำมีแนวทางการปฏิบัติเหมือนกันทั้วประเทศ คือ ตรวจร่างกายทันที สำหรับผู้ต้องขังเข้ามาใหม่ และมีทีมนักจิตวิทยาประเมินและให้เปลี่ยนแนวคิดในการอดอาหาร แต่ถ้าเขาไม่เปลี่ยนใจก็จะมีการรักษา และประเมินสถานะทุกๆ วันในกลุ่มผู้ต้องขังและแยก
สำหรับการแถลงข่าววันนี้ นอกจากการชี้แจงเรื่องความเป็นอยู่ของ "บุ้ง ทะลุวัง" ยังมีการไล่เรียงเหตุการณ์และการช่วยชีวิตบุ้งด้วย ที่น่าสนใจคือมีหลายช่วงที่ข้อมูลการแถลงข่าวขัดแย้งกันเอง
นายแพทย์สมภพ สังคุตแก้ว ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์,นางอาจารี ศรีสุนาครัว ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง, และนายแพทย์พงศ์ภัค อารียาภินันท์ ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทั้ง 3 คน ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
ปรากฎว่า มีหลายจังหวะที่ข้อมูลขัดแย้งกันเอง ทีมข่าวเราสรุปมา เริ่มที่ ประเด็นเรื่องการลุกไปเข้าห้องน้ำ การแถลงข่าวช่วงแรก มีการระบุว่า ก่อนบุ้งจะหมดสติ เธอลุกไปเข้าห้องน้ำและมีการพูดคุยกับนางสาวทานตะวัน ว่า ปวดท้องหรือไม่ และกลับมานอนข้างกัน
แต่ช่วงท้ายของการแถลงข่าว กลับมีการบอกข้อมูลว่า ตะวัน เป็นผู้ลุกไปเข้าห้องน้ำ และบุ้งนอนอยู่ที่เตียง
ข้อมูลที่ขัดแย้งกันนี้ ทำให้ นายแพทย์พงศ์ภัค อารียาภินันท์ ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ต้องแก้ไขข้อมูลกับผู้สื่อข่าว บอกว่า ไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนลุกไปเข้าห้องน้ำกันแน่ แต่หลังกลับจากเข้าห้องน้ำแล้วบุ้งและตะวันมีการพูดคุยกัน
ประเด็นถัดมา เรื่อง ตะวันหลับหรือตื่นตอนที่บุ้งหมดสติ รวมไปถึง ตะวัน เห็นตอนที่ บุ้ง ล้มลงและกระตุกหรือไม่ ตอนแรก ให้ข้อมูลว่า เกิดเหตุขณะขณะ ตะวัน หลับอยู่ แต่เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นไปได้อย่างไรเมื่อมีคนหนึ่งไปเข้าห้องน้ำอยู่ ผอ.รพ.จึงให้ข้อมูลใหม่ว่าตะวันเองก็วัดความดันอยู่เช่นกันขณะที่บุ้งเกิดอาการกระตุก
ส่วนประเด็น สัญญาณชีพของ บุ้ง นายแพทย์พงศ์ภัค ให้ข้อมูลในตอนต้น บอกว่า เมื่อวานตอนเกิดเหตุ "ไม่พบสัญญาณชีพ จึงได้ฉีดยากระตุ้นหัวใจ"
ขณะที่อีกท้าย นายแพทย์พงศ์ภัค พูดใหม่อีกครั้งบอกว่า "บุ้งมีสัญญาณชีพอ่อน ผู้ต้องขังที่ได้รับการฝึกให้เป็นผู้ช่วยพยาบาลจึงได้ cpr ที่เตียงนอน จนมีสัญญาณชีพกลับมา จากนั้นเจ้าหน้าที่จะพยุงบุ้งลงไปห้องรักษาพยาบาล"
จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาวัดความดัน หลังจากนั้นหนึ่งถึง 2 นาทีบุ้งกระตุก 1-2 ครั้ง เจ้าหน้าที่ตรวจไม่พบสัญญาณชีพ
ความสับสนระหว่างการแถลงข่าว นพ.พงศ์ภัค อธิบายจาก เพราะดูข้อมูลที่ได้ เป็นแค่การดูจากกล้องบันทึกภาพขณะเกิดเหตุการณ์เท่านั้น แต่ช่วงอื่นๆนั้นไม่ทราบ จึงไม่สามารถให้รายละเอียดที่ชัดเจนได้ ทั้งนี้การซักถามดุเดือดมาก เพราะ ตอบคำถามสับสน
ทำให้ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ตำหนิ ผอ.รพ. ว่า ผอ.ยังสับสนในคำถาม ไม่เข้าใจและไม่สามารถลงลึกในรายละเอียดได้ ก่อนที่ผู้ตรวจราชการ จะย้ำว่า ได้ดำเนินการตามมาตรฐานการการกู้ชีพทั้งหมด เป็นไปตามจรรยาบรรณของแพทย์ ส่วนคำถามที่เป็นข้อมูลที่ลึกเกินไป ยังให้รายละเอียดไม่ได้ ยืนยันว่า ไม่ใช่ความพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริง แน่นอน
แท็กที่เกี่ยวข้อง กรมราชทัณฑ์ ,ราชทัณฑ์ ,บุ้งทะลุวัง ,แถลงข่าว ,พูดไม่ตรงกัน