สังคม

‘แม่น้องแมงปอ’ โอดโดนภาษีย้อนหลัง 8 หลัก สรรพากรยันทำตาม กม. แนะโดนแบบนี้ให้มาคุยกัน

โดย petchpawee_k

30 พ.ย. 2565

1.5K views

เปิดใจแม่น้องแมงปอ  ไลฟ์ขายของออนไลน์หาค่ายาลูก  โอด “ตายไปสามชาติก็ใช้ไม่หมด”   หลังถูกเก็บภาษีย้อนหลัง 5 ปี เป็นเงินกว่า 8 หลัก กำหนดจ่าย 15 ธ.ค.นี้ – ด้านโฆษกกรมสรรพากร เผย ได้เจรจากับผู้เสียภาษีแล้ว ยืนยัน จนท.ทำตามกฎหมาย พร้อมให้ความรู้ผู้ค้าขาย หากโดนแบบนี้ให้มาคุยกัน เพราะมีเงื่อนไขผ่อนภาษีได้


จากกรณีที่คุณจันทกร อายุ 54 ปี คุณแม่ของน้องแมงปอ วัย 14 ปี ซึ่งเคยเป็นข่าวโด่งดัง ไลฟ์ขายของเพื่อหาเงินดูแลลูกสาวที่พิการมา 14 ปี ก่อนพบว่าคุณจันทกร จะโดนทางสรรพากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง 5 ปี จำนวนเงินกว่า 8 หลัก และมีรายงานว่าต้องจ่ายให้ครบภายในวันที่ 15 ธ.ค.นี้


ซึ่งวานนี้ (29 พ.ย. 65) คุณจันทกร คุณแม่ของน้องแมงปอ เปิดเผยว่า ตนถูกเก็บภาษีย้อนหลังตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน รวม 5 ปี มูลค่ามากถึง 8 หลัก หรือมากถึงสิบล้านบาท


คุณจันทกร ยอมรับว่า การเป็นพลเมืองดีต้องเสียภาษี ซึ่งทำผิดกฏหมายเองโดยไม่ตั้งใจ โดยที่ผ่านมา มีการคิดว่าจะไปเสียภาษี แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ไปเนื่องจากติดที่ต้องดูแลลูกที่ป่วย


โดยการมาของสรรพากรคือการสุ่มตรวจ และตนได้ยื่นเอกสารไปทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกัน ยอมรับไม่รู้ข้อกฎหมายว่าค่าปรับที่คิดออกมาหักต้นทุนหรือยัง ซึ่งตนไม่ได้มีเงินมากมายขนาดนั้น ที่ผ่านมาใช้จ่ายไปกับครอบครัวและลูกที่ป่วยติดเตียง พร้อมให้ตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งสรรพากร แจ้งว่าต้องชำระภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2565 หากยังไม่ชำระจะต้องเสียค่าปรับอีกจำนวนมาก


คุณจันทกร ยังกล่าวว่า หากจะมาเอาเงินก้อนกันขนาดนี้ ให้ตนตายไปสามชาติก็ใช้ไม่หมด อย่างไรก็ตามยินยอมที่จะเสียภาษีย้อนหลัง แต่ถ้าต้องใช้หนี้ทั้งหมดภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2565 นี้ ก็คงต้องขายที่ ที่พักอาศัยอยู่ทั้งหมด แล้วสุดท้ายตนก็จะไม่มีที่ซุกหัวนอน หรือถ้าหากให้ขายของต่อไปก็จะขอให้ทุกคนมาอุดหนุน แต่ถ้าสรรพากร จะมายึดทรัพย์สินตนเองก็ต้องไปหาเช่าบ้านอยู่ และต้องดื้นรนต่อไป


ขณะเดียวกันวานนี้ นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ ถึงกรณีดังกล่าวซึ่งได้ยืนยันก่อนว่า สำหรับการเก็บภาษีทำตามกฎหมายเหมือนกันทุกราย  ซึ่งรายนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ทางกรมสรรพากรก็มีหน้าที่ในการไปติดตาม ให้มาจ่ายภาษี


เบื้องต้นตามกฏหมายเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลของการเสียภาษีของผู้เสียภาษีได้ แต่ว่าทางกรมสรรพากร ได้ประสานไปยังสรรพากรในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ให้ทำความเข้าใจกับผู้เสียภาษีว่ากฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ยังมีข้อสงสัยอยู่มีอะไรบ้าง ซึ่งก็ได้อธิบายและให้ข้อมูลไป รวมทั้งข้อกังวลต่าง ๆ ที่ถูกเผยแพร่มาทางสื่อ ทางกรมสรรพากรได้ทำความเข้าใจ และเจรจากันเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะประเด็นที่มีความเข้าใจคาดเคลื่อนในเรื่องของการคำนวณภาษี ยืนยันว่ามีการเจรจา ทำความเข้าใจหมดแล้วทั้งสิ้น ซึ่งทางผู้เสียภาษีเข้าใจมากขึ้นแล้ว


เมื่อถามว่าอีกฝั่งยังมีความกังวลในเรื่องการจ่ายภาษี ซึ่งครบกำหนดจ่ายทั้งหมดในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ แต่หากมีความประสงค์เช่นว่าจ่ายเกิดกำหนดได้หรือไม่ นายวินิจ กล่าวว่า จริงๆแล้วเป็นหนึ่งในเรื่องที่พูดคุยกัน ว่าสามารถมาติดต่อขอผ่อนภาษีได้ ซึ่งทางกรมสรรพากรมีระเบียบตรงนี้ แต่ขึ้นอยู่กับจำนวนมากน้อย และระยะเวลา ต้องดูเป็นรายกรณีไป ยกตัวอย่างเช่นว่า หากระยะยาวก็ต้องมีหลักฐานมาวางประกัน แต่ระยะสั้นก็มีต้องมี พูดง่ายๆคือ “ให้มาพูดคุยกัน” แต่เคสนี้คุยกันไปแล้ว


นายวินิจ ยังได้อธิบายถึงภาษีการค้าขายออนไลน์ด้วยว่า จริงๆแล้วการค้าขายออนไลน์มีการเก็บภาษีเหมือนคนค้าขายปกติ แต่หลักการหากเป็นบุคคลธรรมดาที่มีเงินเดือน หรือมีรายได้จากการค้าขายก็เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่เงินได้บุคคลธรรมดา เป็นการซื้อมาขายไป ตรงนี้กฎหมายกำหนดว่าต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายมีหลักฐานต้นทุน ถ้าไม่มีกฎหมายบอกว่าต้องหักแบบเหมา หมายความว่าไม่มีหลักฐานก็ได้ แต่จะหักต้นทุนได้แค่ 60% แต่อาจจะเป็นต้นทุนที่ต่ำกว่าความเป็นจริงในบางกรณี 


เพราะฉะนั้นกรมสรรพากรจึงพยายามประชาสัมพันธุ์และแนะนำกับผู้เสียภาษีโดยเฉพาะผู้ที่ค้าขายออนไลน์ว่าอยากให้ทำบัญชี เก็บหลักฐานต่างๆไว้ให้ครบถ้วน พอไปดูในเรื่องของเงินได้ จะได้รู้และมีหลักฐานชัดเจนว่ามีต้นทุนเท่าไหร่  ขายได้เท่าไหร่ และกำไรเท่าไหร่


อีกกรณีคือคนที่ค้าขายแล้วมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งต้องมีการเข้ามาจดทะเบียน ถ้ายังไม่จดทะเบียนก็จะเสียสิทธิ์ไปหลายอย่าง เช่น การมาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าได้ และประโยชน์อีกอย่างคือสามารถนำต้นทุนภาษีซื้อมาใช้ได้ ก่อนจะย้ำอีกรอบว่าการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย สำคัญมาก ซึ่งถ้ามีข้อมูลตรงนี้จะสามารถบรรเทาภาระและสะท้อนนความเป็นจริงสำหรับการประกอบการได้


หากในกรณีที่ไม่มีหลักฐาน นายวินิจ บอกว่าถ้าเป็นภาษีเงินได้ ย้อนกลับไปตรงกฎหมายที่ว่า หักต้นทุนได้ไม่เกินแค่ 60% ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้ายังไม่จดทะเบียนไม่สามารถเอาซื้อมาใช้ได้  ซึ่งจะเป็นปัญหา และเมื่อถึงเวลาต้องเสียภาษีอาจจะมีภาระได้เรื่องของเบี้ยปรับเงินเพิ่ม ซึ่งมีแนวทางในการลดเบี้ยปรับเงินเพิ่มให้ได้แต่ต้องมาพูดคุยกัน


ขณะที่ช่วงนี้มีตัวอย่างของเคสการเก็บภาษีผู้ขายออนไลน์ย้อนหลังให้เห็นเรื่อยๆ ทั้งเคสล่าสุดคุณแม่ของน้องแมงปอ ที่มีกระแสบอกว่า ย้อนหลัง 5 ปี เป็นเงินกว่า 8 หลัก และเคสของสาวจังหวัดพิษณุโลก 4 ปี 4 ล้านบาท เมื่อถามว่าในประเทศไทยมีบุคคลที่ค้าขายอนนไลน์แล้วเข้าข่ายในลักษณะนี้มีอีกหรือไม่


นายวินิจ ระบุว่า ยังคงมี แต่ไม่สามารถระบุได้ว่ามีเท่าไหร่ แต่มองว่าตั้งแต่โควิดที่ผ่านมา ทุกอย่างเปลี่ยนไปเป็นการขายแบบออนไลน์ ซึ่งยืนยันว่า ทั้งการขายแบบออนไลน์และมีหน้าร้าน ในทางภาษี กรมสรรพากรก็ยังคงดำเนินการ และอยู่ภายใต้กฎหมายภาษีเหมือนกัน ซึ่งทางกรมสรรพากรก็ยังคงมีการติดตามตรวจสอบเสมอและมีหลากหลายวิธี แต่อยากให้ทุกคนมีความรู้ จะได้มาเสียภาษีอย่างถูกต้องดีกว่าไปตรวจสอบกันย้อนหลัง ซึ่งสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลได้เลยในเว็บไซต์ของกรมสรรพากร หรือตามลิงก์คู่มือภาษีนี้


https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/SMEs/infographic/e-Commerce_EP1.pit.pdf 


หรือหากมีข้อสงสัย สามารถเข้าไปปรึกษาเจ้าหน้าที่สรรพากรได้ทันเลยทั่วประเทศ



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/LUEVFwflHVg

คุณอาจสนใจ

Related News