สังคม
บุกตรวจโรงเรียน จ.ตรัง พบชื่อนักเรียนผี ไร้ตัวตนกว่าครึ่งห้อง ซ้ำข้าวเที่ยงไม่ตรงปก ไร้เนื้อสัตว์
โดย nut_p
12 ก.ย. 2567
3.9K views
ป.ป.ช.ตรัง ร่วม ศึกษาธิการจังหวัด บุกตรวจโรงเรียนเอกชนฯ เมืองตรัง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ สอนศาสนาควบคู่สายสามัญ พบมีรายชื่อนักเรียนผีไร้ตัวตนโผล่กว่าครึ่งห้อง แยกนักเรียนไปสอนศาสนานอกโรงเรียนขณะที่การจ่ายเงินเดือนครูไม่โปร่งใส ซ้ำร้ายเจออาหารกลางวันเด็กปฐมวัยไม่ตรงปก มีเพียงแค่ผัดถั่วงอก ไร้เนื้อสัตว์ เพียงเมนูเดียว
วันนี้ 12 ก.ย. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำ จ.ตรัง มอบหมายให้ นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง พร้อมด้วย หัวหน้ากลุ่มงานตรวจสอบทรัพย์สิน สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง เจ้าหน้าที่สำนักงานศึกษาธิการ จ.ตรัง นายอดิศร แก้วเซ่ง รองศึกษาธิการ จ.ตรัง และเครือข่ายภาคประชาชน ชมรมตรังต้านโกง ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบการบริหารจัดการของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ หมู่ 1 ต.ควนปริง อ.เมืองตรัง
ซึ่งเป็น 1 ในโรงเรียนเอกชนใน จ.ตรัง ที่ได้รับเงินอุดหนุน สนับสนุนจากภาครัฐ ภายหลังจากที่ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง พบเบาะแสว่าโรงเรียนดังกล่าว 1.มีนักเรียนไร้ซึ่งตัวตน แต่มีรายชื่อขอเบิกงบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐ 2.การบริหารจัดการการเรียนการสอน 3.การจ่ายเงินเดือนครู ไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงฯ รวมทั้ง 4.อาหารกลางวันไม่เป็นไปตามหลักโภชนาการ
โดยโรงเรียนดังกล่าวเปิดสอนในระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แบ่งจำนวนนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 31 คน ระดับชั้นประถม 101 คน และระดับชั้นมัธยม 422 คน มีคณะครูทั้งหมด 40 คน ครูที่ได้รับเงินเดือนสนับสนุนจากภาครัฐจำนวน 24 คน และโรงเรียนจัดจ้างเอง 16 คน
จากนั้นได้มีการลงสุ่มตรวจสอบอาหารกลางวันนักเรียนระดับชั้นอนุบาล หรือปฐมวัย และประถมศึกษาของโรงเรียนรวมแล้วจำนวน 132 คน ที่ทางภาครัฐได้ให้เงินอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวันอยู่ที่หัวหรือรายละ 22 บาทต่อวันนั้น โดยในรายชื่อเมนูอาหารของวันนี้ที่ทางโรงเรียนได้ติดระบุไว้มีเมนู ไข่พะโล้ , องุ่นเขียว , ปูอัดทอด แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมนูอาหารไม่ตรงไปตามที่โรงเรียนได้ระบุไว้ โดยนักเรียนระดับชั้นปฐมวัยได้รับเพียงแค่ ข้าวสวย ผัดถั่วงอกใส่เต้าหู้และแครอท ซึ่งไม่ปรากฏพบเห็นเนื้อสัตว์ กับขนมอบกรอบไส้ช็อกโกแลตคนละ 1-2 แท่ง ส่วนเมนูอาหารนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ตามที่ติดระบุไว้มีเมนู ไข่พะโล้ , ผัดเผ็ดลูกชิ้น ซึ่งเมื่อเข้าไปตรวจสอบถึงภายในครัวกลับพบว่ามีเมนูไข่พะโล้ แต่ไม่ได้มีการนำมาให้เด็กระดับชั้นอนุบาลหรือปฐมวัยได้รับประทานด้วย
ภายหลังจากนั้นได้มีการสุ่มตรวจภายในห้องเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา เป็นห้องระดับชั้น ม.2/3 มีนักเรียนซึ่งเรียนอยู่เป็นประจำภายในห้องเรียนเป็นหญิงล้วน จำนวน 15 คน ขาดลา 3 คน แต่กลับพบว่ารายชื่อของนักเรียนทั้งหมดห้องดังกล่าวที่มีการส่งชื่อของบอุดหนุนจากภาครัฐจริงมีจำนวนถึง 30 คน ส่วนห้องเรียนระดับชั้น ม.2/2 มีนักเรียนที่เรียนอยู่เป็นประจำจำนวน 13 คน แต่มีรายชื่อในระบบจริงจำนวน 31 คน และระดับชั้น ม.1/2 มีนักเรียนเรียนจริงอยู่จำนวน 14 คน แต่ในรายชื่อกลับมีถึง 31 คน ซึ่งรวมๆแล้วในแต่ละห้องแล้วมีนักเรียนที่มีรายชื่อแต่ไม่ได้เรียนในโรงเรียนหายไปจำนวนกว่าครึ่งห้องเรียน
โดยเจ้าหน้าที่พยายามขานชื่อและให้นักเรียนยกมือหากปรากฏชื่อตัวเอง ส่วนที่มีรายชื่อแต่ไม่มีตัวตนนั้น นักเรียนที่เรียนประจำอยู่ภายในห้องเรียน บอกว่า ไม่เคยพบเจอ ไม่ทราบชื่อ ไม่รู้จัก หรือเห็นหน้านักเรียนเหล่านั้นมาก่อน โดยทางโรงเรียนฯ อ้างเหตุผลว่านักเรียนที่มีชื่อแต่ไม่อยู่ในห้องเรียนนั้น ได้ไปเรียน “ฮาฟิร” ซึ่งเป็นการเรียนการสอนของศาสนาอิสลาม เช่นการท่องจำคัมภีร์อัลกุรอาน รวมทั้งโรงเรียนจำนวนประมาณ 150 คน ที่ สถาบันมัดรอซะฮ์ อารอบียะห์ ชัมซุลอูลูม พื้นที่ หมู่ 1 ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ตั้งแต่วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ ส่วนวันเสาร์ และอาทิตย์จะมาเรียนสายสามัญที่โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนยังอ้างเหตุผลว่าเป็นเจตนารมณ์ของผู้ปกรองนักเรียนเองที่จะเน้นให้นักเรียนได้ศึกษาเกี่ยวกับศาสนาโดยตรง ส่วนนักเรียนที่ยังคงเรียนอยู่ภายในห้องเรียนก็เรียนเฉพาะวิชาสามัญ
ต่อทางเจ้าหน้าที่ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง และเจ้าหน้าที่ สำนักงานศึกษาธิการ จ.ตรัง ได้เดินทางไปตรวจสอบตามที่โรงเรียนอ้างเหตุผลว่าได้ส่งนักเรียนไปเรียน “ฮาฟิร” ที่สถานที่ซึ่งอ้างว่าเป็นสถาบันมัดรอซะฮ์ อารอบียะห์ ชัมซุลอูลูม พื้นที่ หมู่ 1 ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ซึ่งระยะทางห่างกับโรงเรียนไปกว่าประมาณ 40 กิโลเมตร ก่อนจะพบว่าสถานที่ดังกล่าวถูกปลูกสร้างอยู่ติดกับมัสยิด ลักษณะเป็นคล้าย ๆ ห้องแถวถูกปลูกติดกันจำนวนหลายห้อง มีทั้งห้องพักนักเรียน ห้องพักครู ห้องเรียน มีห้องโถง มีสนามหญ้า ลานกิจกรรมกลางแจ้ง และพบว่ามีการแขวนชุดเสื้อผ้าทั้งกลางแจ้งและในที่ร่ม
เบื้องต้นจากการสอบถามผู้ที่ระบุว่าตนเองเป็นครูผู้สอนศาสนาอิสลามในสถานที่ดังกล่าว ให้ข้อมูลว่า ครูใหญ่ของที่นี่ได้ไปแสวงบุญที่ต่างประเทศ นักเรียนที่มาเรียนที่นี่ ส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด ส่วนหนึ่งมาจากโรงเรียนแสงธรรมวิทยาตรังมูลนิธิ เป็นผู้ส่งมา เมื่อสอบถามว่าการเปิดสถานที่แห่งนี้มีการรับรองจากหน่วยงานใด การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นอย่างไร แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ขณะเดียวกันยังพบว่าทางสถานที่แห่งนี้ไม่ได้รายชื่อ สกุลจริงของนักเรียน มีเพียงแค่เลขประจำตัว และชื่อเล่นอิสลามเท่านั้น และยังไม่พบหลักฐานเอกสารการส่งตัวจากทางโรงเรียนแสงธรรมวิทยาตรังมูลนิธิมาด้วยแต่อย่างได
ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้มีการสุ่มเรียกรายชื่อนักเรียนที่ทางโงเรียนอ้างเหตุผลว่าได้มาเรียนที่แห่งนี้ โดยพบว่านักเรียนที่มีอยู่ประมาณ 90-100 คน บางส่วนมีชื่อตรงกับทางโรงเรียน บางส่วนอ้างว่ากลับบ้านไปแล้ว และบางส่วนก็กลับไม่มีตัวตนอยู่จริงทั้งสองสถานที่ โดยนักเรียนให้ข้อมูลว่า มาเรียนที่แห่งนี้วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ ส่วนวันเสาร์ และอาทิตย์ จะกลับไปเรียนวิชาสามัญที่โรงเรียนแสงธรรมวิทยาตรังมูลนิธิ แต่บางส่วนก็ไม่ได้กลับไปเรียนแต่อย่างได ส่วนการเดินทางก็จะนั่งไปกับรถครูบ้าง ชาวบ้านบ้าง
นายอดิศร แก้วเซ่ง รองศึกษาธิการ จ.ตรัง กล่าวว่า ในฐานะของสำนักงานศึกษาธิการ จ.ตรัง ซึ่งรับผิดชอบดูแลโรงเรียนเอกชนในจังหวัด วันนี้ได้ลงมาดูโรงเรียนพร้อมกับ ป.ป.ช.ตรัง ซึ่งผลที่เราประสบพบเจอ ก็คิดว่านักเรียนทั้งหมดของโรงเรียนก็มีบางส่วนที่มาเรียนกับศูนย์การเรียนข้างนอก ก็คิดว่าโรงเรียนในระบบจริง ๆ แล้ว ก็สามารถที่จะเปิดการเรียนการสอนได้ 3 ระบบ ด้วยกัน 1.ในระบบโรงเรียน 2. นอกระบบโรงเรียน 3.ตามอัธยาศัย คิดว่านักเรียนบางส่วนที่มาเรียนอยู่ที่ศูนย์การศึกษาที่ อ.ปะเหลียน ก็น่าจะเป็นการเรียนนอกระบบ โดยเฉพาะในเรื่องของศาสนา แต่ทีนี้ตามที่สอบถามคุณครูอยู่ที่ศูนย์การเรียน ที่ อ.ปะเหลียน ก็พบว่าเด็กมาเรียนศาสนาตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ส่วนวันเสาร์ และอาทิตย์ จะกลับไปเรียนสายสามัญที่โรงเรียน การที่โรงเรียนเขามีการเรียนการสอนแบบนี้ ทางสำนักงานศึกษาธิการ จ.ตรัง ก็จะไปศึกษารายละเอียดอีกรอบว่าจะทำแบบนี้ได้หรือไม่ ว่ามาเรียนที่ศูนย์ข้างนอกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ไกลับไปเรียนในระบบวันเสาร์ วันอาทิตย์จะได้หรือไม่ จะไปดูรายละเอียดของข้อกฎหมายอีกรอบหนึ่ง
เมื่อถามว่าสัดส่วนการเรียน 5:2 จะเหมาะสมหรือไม่ วันทำการมาอยู่ที่นี่ทั้งหมด ตนมองว่าจริงๆ ถ้าโรงเรียนขอระบบทำการสอนในระบบโรงเรียนอย่างเดียวได้หรือไม่ ตอบว่าไม่ได้ จริงๆ แล้วเด็กต้องอยู่ในโรงเรียนเท่านั้น เผอิญว่าโรงเรียนแสงธรรมวิทยาฯ เขาสอนแบบควบคู่สอนศาสนาอิสลามคู่กับสายสามัญก็มีบางส่วนที่เขาจะเรียนข้างนอกได้ เขาเรียนแบบตามอัธยาศัย ซึ่งข้อกฎหมายดังกล่าวจะไปดูรายละเอียดอีกรอบว่าจะได้หรือไม่ การที่อ้างว่าเป็นความประสงค์ของผู้ปกครอง จริง ๆ แล้วไม่สามารถอ้างได้ การอ้างได้ต้องอ้างด้วยข้อกฎหมายเท่านั้นเองว่าจะเปิดการเรียนการสอนตามอัธยาศัยได้หรือไม่ ในส่วนหลักเกณฑ์หลักการเรื่องจำนวนเด็กที่หายไป มันมีบางส่วนเหมือนกันที่เรามาตรวจสอบดูแล้วว่าไม่มีชื่อของเด็กที่อยู่ในระบบ เดี๋ยวอย่างไรก็แล้วแต่เราจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนต่อไปว่านักเรียนที่หายไปเป็นอย่างไร
ขณะที่ นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงเรียนเอกชนที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ก็ปรากฏในเรื่องของอาหารกลางวัน ในเรื่องปริมาณและคุณภาพเพราะว่าเด็กอนุบาลได้รับการจัดสรรงบประมาณหัวละ 22 บาท ซึ่งดูเบื้องต้นน่าจะไม่คุ้มค่าตามหลักโภชนาการ ก็ต้องให้ทางศึกษาธิการจังหวัด ที่เป็นผู้จ่ายเงินอุดหนุนต้องตรวจสอบต่อไป ส่วนเรื่องของจำนวนนักเรียนจากการตรวจสอบเบื้องต้น ก็ไม่ปรากฏชื่อนักเรียนที่อยู่ในห้องของโรงเรียนแสงธรรมวิทยา มูลนิธิ ซึ่งทางโรงเรียนได้ให้ข้อมูลว่าได้ส่งเด็กนักเรียนมาเรียนโรงเรียนศาสนา แต่ตามระเบียบแล้วเด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนก็ต้องเรียนทุกวันที่โรงเรียนเอกชน ที่รับเงินอุดหนุน ไม่สามารถที่จะส่งไปเรียนที่อื่นได้ ซึ่งพอมาสุ่มตรวจที่โรงเรียนสอนศาสนาก็พบว่ามีบางรายที่ไม่ปรากฏชื่ออยู่ในโรงเรียนที่โรงเรียนแสงธรรมส่งมา
ซึ่งเขาเข้าใจว่าส่งเด็กมาเรียนต่อที่โรงเรียนศาสนา ซึ่งตามระเบียบแล้วต้องเรียนที่โรงเรียนเอง ไม่สามารถที่จะไปส่งต่อเรียนที่อื่นได้ และในเรื่องของการสอนหลักสูตรสามัญต่าง ๆ ที่จะต้องมีการเรียนการสอนการสอบการประเมิน เดี๋ยวทางศึกษาธิการต้องไปตรวจสอบต่อไปอีกครั้ง เงินอุดหนุนเป็นเงินของรัฐ ทางศึกษาธิการก็ต้องตรวจสอบว่าอุดหนุนต่างๆ ไปเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่อย่างไร
รวมทั้งรายบุคคลที่รับเงินอุดหนุนเงินเดือนของครูที่เขาชี้แจงมาว่ามีการจ่ายเงินเดือนครูเป็นเงินสด ซึ่งตามระเบียบต้องจ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ไม่สามารถที่จะจ่ายเป็นเงินสดได้ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของศึกษาธิการจังหวัดจะต้องไปดำเนินการตามระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป หากไม่ดำเนินการ ปรากฏว่ามีการเบิกเท็จมีหัวไม่ตรงกับรายชื่อจำนวนต่าง ๆ ก็ต้องมีการเรียกเงินคืนต่อไปหรือดำเนินการทางอาญาต่อไป
ด้าน ว่าที่พันเอกหญิง ดร.ส้าหลี้เฝาะ โต๊ะหลี ผู้รับใบอนุญาต และผู้อำนวยการโรงเรียนฯ กล่าวว่า ประเด็นที่ 1. กรณีมีรายชื่อเด็กนักเรียน แต่ไม่ปรากฏตัวตนนั้น ตามปกตินักเรียนอยู่กันครบ และนักเรียนไปเรียนวิชาศาสนาไปเข้าคอร์สเหมือนกับเราไปเรียนสารพัดช่างหรือการอาชีพ แต่ทางโรงเรียนให้เรียนชดเชย เสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้เวลาได้ครบและได้สอบได้เป็นนักเรียนปกติ แต่นักเรียนอยู่ปกติที่นี่ ซึ่งเด็กนักเรียนมาอยู่ที่นี่ประจำ แต่ไม่ได้เรียนร่วมกับเพื่อนร่วมชั้น คนที่ไปเรียนศาสนาจะมาเรียนอีกห้อง เฉพาะพวกที่ไปไม่ได้เกี่ยวข้องกับเพื่อนร่วมชั้น และครูที่สอนนักเรียนเหล่านี้เป็นครูต่างหาก
ส่วนรายชื่อนักเรียนที่มีไม่ใช่นักเรียนทิพย์มีตัวตนจริง ๆ วันไหนที่เด็กไม่ไปเรียนจะอยู่ครบ ส่วนเด็กที่มีรายชื่อเรียนจริง ๆ ที่โรงเรียนตอนแรกเขาก็มาสมัครเรียนที่โรงเรียนอยู่ปกติ แต่มีช่วงหนึ่งที่ผู้ปกครองเขาต้องการให้ลูกได้ศาสนาเยอะ เลยส่งไปเรียนคอร์สพิเศษ อยากให้สบายใจว่า โรงเรียนจะโปร่งใสทุกอย่าง หากบกพร่องส่วนไหนพร้อมยินดีแก้ไข ส่วนประเด็นโครงการอาหารกลางวัน ตรงนี้ปกติ ไม่ได้แก้ตัววันอื่นที่ไปดูมันมีพร้อมตามนั้น วันนี้ตนเองก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ชี้แจงตามหัวหน้าที่รับผิดชอบ แต่วันนี้ยอมรับว่าเมนูของอาหารไม่ตรงจริง ๆ ทั้งนี้จะปรับปรุงแก้ไขและจะลงไปดูเอง พร้อมที่จะปรับปรุงตรงนี้