สังคม

แรงงานไทยแบกหนี้หลังแอ่น เพิ่มจากปีก่อน 26.4% รายได้ไม่พอจ่าย จี้รัฐปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ

โดย chutikan_o

1 พ.ค. 2567

49 views

ม.หอการค้าไทย เผยสถานการณ์แรงงานไทยปี 67 แบกหนี้หลังแอ่น มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ 344,522 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 26.4% จี้รัฐปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ลดค่าครองชีพ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทยว่า กลุ่มผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท จำนวน 1,259 ตัวอย่างทั่วประเทศ รายได้เฉลี่ยต่อเดือน ส่วนใหญ่ 80.5 % อยู่ที่ 10,001-15,000 บาท รองลงมา 19.4% อยู่ที่ 5,000-10,000 บาท และ 0.1% รายได้ ต่ำกว่า 5,000 บาท

และหากดูรายได้ครัวเรือน จะพบว่า ส่วนใหญ่อยู่ที่ 30,001-60,000 บาทต่อเดือน รองลงมา สูงกว่า 60,000 บาทขึ้นไป และอันดับ 3 อยู่ที่ 15,001-30,000 บาท และแรงงานส่วนใหญ่ยอมรับว่าไม่มีเงินออม มีเพียง 33.8% ที่มีเงินออม

ขณะที่ในฝั่งหนี้สิน แรงงานไทยมีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือน 344,522 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 26.4% แยกเป็นหนี้สินในระบบ 64.8% และนอกระบบ 35.2% ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต ใช้คืนเงินกู้ ที่อยู่อาศัย เป็นต้น

หนี้ส่วนบุคคล หรือ หนี้บัตรเครดิต ส่วนใหญ่นำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค และเป็นที่น่าสังเกตว่า ที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ และการหมุนเวียนธุรกิจ เป็นประเภทหนี้ส่วนบุคคล 3 อันดับแรก ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากที่สุดเมื่อเทียบกับปี 66

และในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา แรงงานมากถึง 45.7% ประสบปัญหาผิดนัดการผ่อนชำระหนี้ เหตุเพราะรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และเมื่อเทียบระหว่างรายได้ต่อหัว กับการผ่อนชำระต่อเดือน จะพบกลุ่มที่น่าห่วง คือ มีหนี้สินสูงกว่ารายได้

รูปแบบของการใช้หนี้ ส่วนใหญ่ 60.3% เลือกแบ่งชำระบางส่วน รองลงมา 36.2% ชำระเต็มจำนวน มีเพียง 3.5 % ที่ขาดหรือผ่อนผันการชำระ

ภาระหนี้ ทำให้มีการใช้จ่ายลดลงประมาณ 48% แล้ว 3 เดือนข้างหน้าก็ยังมีผลอยู่ประมาณ 41.6% เนื่องจากราคาสินค้าแพงขึ้น ภาระหนี้มากขึ้น ดอกเบี้ยสูงขึ้น โดยการแก้ปัญหารายได้ไม่พอจ่าย จะเลือกกู้ยืมเงินในระบบ 30.9% หาอาชีพเสริม 17% ขอความช่วยเหลือจากญาติพี่น้อง 16.6% กู้ยืมเงินนอกระบบ 15.7% ซึ่งเป็นระดับที่สูงขึ้นกว่าปี 2566 ที่อยู่ประมาณ 9.7% ด้วย

แรงงานต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลในเรื่องของการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและค่าครองชีพ การเงินช่วยเหลือในกรณีที่ตกงาน และหนี้ของแรงงาน

คุณอาจสนใจ