สังคม

จาก ‘ซานติก้า’ ถึง ‘เมาท์เทน บี’ บทเรียน ที่ไม่เคยเรียน ?

โดย nattachat_c

5 ส.ค. 2565

7.3K views

หมายเหตุ ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือ มีอาการซึมเศร้า ไม่ควรอ่าน


เมื่อคืนนี้ ช่วงเที่ยงคืนสี่สิบห้านาที ของคืนวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ได้เกิดเหตุการณ์น่าสลดเกี่ยวกับ ‘ไฟไหม้ผับ’ ขึ้นอีกครั้ง เมื่อผับชื่อดังของเมืองสัตหีบ จ.ชลบุรี ชื่อ ‘เมาท์เทน บี’ ได้เกิดเหตุไฟไหม้อย่างรุนแรง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 13 ราย บาดเจ็บ 36 คน


ซึ่งตอนนี้ เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ กำลังเร่งหาสาเหตุเพลิงไหม้ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร


และเมื่อพูดถึง เหตุการณ์ ‘ไฟไหม้ผับ’ หลายคนน่าจะนึกถึง ‘ซานติก้า’ อย่างแน่นอน เพราะในครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิตถึง 67 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ/บาดเจ็บสาหัสถึง 103 คน นับว่าเป็นเหตุการณ์ไฟไหม้ผับครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของเมืองไทย


เหตุการณ์ครั้งนั้น เชื่อว่า มีหลายคนยังจำได้ หลายคนเริ่มลืมเลือน หลายคนเกิดไม่ทัน เราจะพาทุกคนย้อนอดีตไปยังเหตุการณ์อันน่าหดหู่ใจนั้นอีกครั้ง และขอย้ำว่า ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือ มีอาการซึมเศร้า ควรหลีกเลี่ยงที่จะอ่านบทความนี้


คืนปีใหม่ คืนแห่งความสุข แต่กลับเป็น ‘ความทุกข์’ ของหลายครอบครัว

เมื่อพูดถึงคืนปีใหม่ ย่อมเป็นคืนที่หลายคนคาดหวังว่าจะมีความสุข บ้างสัญญากับตนเองว่าจะเปลี่ยนการดำเนินชีวิตใหม่ บ้างสวดมนต์ขอพรเพื่อให้ปีต่อไปมีแต่ความสุข บ้างออกไปสังสรรค์ตามผับบาร์ เพื่อร่วมนับเคาต์ดาวน์กับเพื่อนฝูง


‘ซานติก้า’ คือหนึ่งในผับ ที่หลายคนเข้าไปสังสรรค์ เพื่อเฉลิมฉลองปีใหม่ แต่เหตุเพลิงไหม้กลับกลายเป็นโศกนาฏกรรมสำหรับหลายคน

  • ในค่ำคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ต่อเนื่องไปวันที่ 1 มกราคม 2552 ผู้คนนับพันคน ได้เฉลิมฉลองใน ‘ซานติก้า’ อย่างสนุกสนาน (ทั้งที่ความจริงจุได้ประมาณ 500 คน)
  • ช่วงหนึ่งในการแสดงดนตรี มีการจุดพลุไฟหน้าเวที ที่มีความสูงเพียง 5 เมตร ทำให้ไฟไหม้บนเพดาน แล้วลามทั่วตัวอาคารอย่างรวดเร็ว
  • จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 67 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ/บาดเจ็บสาหัสถึง 103 คน โดยหลายศพถูกเผาไหม้เกรียมตายทั้งเป็น รวมถึงมีการเหยียบย่ำออกันหน้าประตูทางออก ซึ่งเป็นภาพที่น่าหดหู่ใจของทุกคน


เมื่อดูจาก ‘คำพิพากษาศาลฎีกา ศาลอาญากรุงเทพใต้’ ว่า นายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ (เสี่ยขาว) เป็นผู้บริหารร้านเกิดเหตุตามความเป็นจริง จะพบว่า ‘ซานติก้า’ มีความผิดตามกฎหมาย ดังนี้  

  • ไม่ได้จัดให้มีไฟฉุกเฉินของทางหนีไฟ ขณะที่ประตูเข้า-ออก ทางด้านหน้าร้าน
  • ประตูหลักเพียงประตูเดียว มีความกว้างเพียง 2 เมตร 30 เซนติเมตร ซึ่งไม่พอที่จะระบายคนเกือบ 1,000 คน ให้ทันแก่เหตุการณ์
  • เมื่อมีผู้ถึงแก่ความตายและได้รับบาดเจ็บจึงเป็นการกระทำโดยประมาท
  • ให้จำคุกเสี่ยขาว เป็นเวลา 3 ปี ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย


และ เมื่อดูจาก ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานคร ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เหยื่อไฟไหม้ซานติก้า จะพบว่า  ‘ซานติก้า’ มีความผิดตามกฎหมาย ดังนี้

  • ไม่มีระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ และป้ายทางหนีไฟ โดยชั้นใต้ดินมีทางขึ้นลงทางเดียว
  • ภายในอาคารไม่จัดให้มีป้ายบอกทางออกและทางหนีไฟ
  • ไม่พบระบบดับเพลิงอัตโนมัติ
  • มีการก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต มีการต่อเติมดัดแปลงใช้เป็นสถานบริการซานติก้าผับ


จากกรณีของ ‘ซานติก้า’ นี้ ทำให้มีการแก้กฎหมายใหม่ โดย กฎกระทรวง กำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๕๕ ออกมา


ใน หมวด ๑ บททั่วไป

ข้อ ๘ สถานบริการต้องจัดให้มีการติดตั้งแบบแปลนแผนผังของอาคารซึ่งแสดงตำแหน่งที่ติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงต่าง ๆ ทางหนีไฟ ทางออก และประตูทางออก โดยแบบแปลนแผนผังดังกล่าวให้ติดไว้ในตำแหน่งที่ชัดเจนอย่างน้อยบริเวณโถงบันไดหรือโถงลิฟต์ทุกแห่งทุกชั้น และบริเวณทางเข้าออกหลักของสถานบริการ


ซึ่งในภาพต่างๆ จะเห็นว่าในห้องโถงของ ‘เมาท์เทน บี’ ไม่มีการติดแบบแปลนแผนผังของอาคาร


ใน หมวด ๔ ระบบป้องกันเพลิงไหม้

ข้อ ๒๔ สถานบริการประเภท ค และประเภท จ ต้องจัดให้มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติเช่น ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงหรือระบบอื่นที่เทียบเท่าที่สามารถทำงานได้ด้วยตัวเองทันทีเมื่อเกิดเพลิงไหม้ โดยให้สามารถทำงานครอบคลุมพื้นที่สถานบริการทั้งหมด


ซึ่งสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า ถ้า ‘เมาท์เทน บี’ มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เพลิงคงจะไม่รุนแรงเท่าที่เกิดขึ้น


ใน หมวด ๕ ทางออก ประตูทางออก ทางหนีไฟ บันไดหนีไฟ และประตูหนีไฟ

ข้อ ๓๐ ทางออกหรือประตูทางออกจากสถานบริการ ไปสู่ทางหนีไฟหรือออกสู่ภายนอกอาคารจะต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้


(๑) เหนือทางออกหรือประตูทางออกต้องมีป้ายบอกทางหนีไฟด้วยตัวอักษรหรือสัญลักษณ์แสดงทางหนีไฟที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนตลอดเวลาโดยรายละเอียดของตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรฐานว่าด้วยป้ายบอกทางหนีไฟของกรมโยธาธิการและผังเมืองหรือมาตรฐานอื่นที่คณะกรรมการควบคุมอาคารให้การรับรอง


ซึ่งจะเห็นได้ว่า ประตูทางออกของ  ‘เมาท์เทน บี’ ไม่มีป้ายบอกทางหนีไฟด้วยตัวอักษรหรือสัญลักษณ์แสดงทางหนีไฟที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนตลอดเวลา


ทั้งนี้ อาจจะมีความผิดอื่นๆ ซึ่งต้องรอการพิสูจน์จากเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ และนักกฎหมายต่อไป


และจากเหตุกาณ์ ‘ซานติก้า’ ที่มีกฎหมายใหม่ออกมา รวมถึงการตื่นตัวของเจ้าหน้าที่ต่างๆ ซึ่งทำให้หลายคน รวมถึงครอบครัวของผู้เสียชีวิต ได้ออกมาพูดถึง ‘ความตาย’ ครั้งนั้น ว่า ขอให้เป็นครั้งสุดท้าย และเป็นบทเรียนให้สังคมไทย ในกรณีของความปลอดภัยในสถานบันเทิงต่อไป







คุณอาจสนใจ

Related News