สังคม
ถอดบทเรียนภัยออนไลน์ของแต่ละประเทศ ร่วมถกแนวทางรับมือในอนาคต
โดย panwilai_c
24 พ.ย. 2566
69 views
การหลอกลวงออนไลน์เป็นปัญหาใหญ่ที่หลายประเทศในเอเชียกำลังเผชิญ โดยมิจฉาชีพจะหาวิธีการหลอกลวงที่แยบยลขึ้นเรื่อยๆ และใช้ฐานที่ตั้งในการก่อเหตุในต่างประเทศ เพื่อให้เจ้าหน้าที่จับกุมยาก ทำให้เหยื่ออาชญากรรมออนไลน์ต้องสูญเงินมหาศาล ในการประชุม "การต่อต้านการหลอกลวงในเอเชีย" จึงมีการถอดบทเรียนการหลอกลวงออนไลน์ของประเทศต่างๆ เพื่อร่วมกันหาทางรับมือกับอาชญกรรมออนไลน์ในอนาคต คุณประวีณมัย บ่ายคล้อย รายงานจากไต้หวัน
"ตัดสาย" ร้องโดย โจอี้ ภูวศิษฐ์ อนันต์พรสิริ เป็นเพลงที่ผู้พัฒนาแอพพลิเคชัน Whoscall ร่วมกับ GMM Grammy สร้างสรรค์ขึ้น เป็นหนึ่งในวิธีการสื่อสาร หวังให้คนไทยปลอดภัยจากการถูกหลอกลวงทั้งทางโทรศัพท์และทางออนไลน์ ข้อมูลจาก Gogolook ผู้พัฒนาแอพ Whoscall ระบุว่า ปีที่ผ่านมา คนไทยรับสายมิจฉาชีพไปแล้วถึง 17 ล้านครั้ง
ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่อาชญากรรมออนไลน์กลายเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศในเอเชีย โดยพันธมิตรองค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก (GASA) และบริษัท Gogolook จัดทำรายงาน Asia Scam 2023 โดยการศึกษาใน 11 ประเทศพบว่า ประชากรของประเทศในเอเชียกว่าร้อยละ 60 เจอการหลอกลวงอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
ช่องทางที่มิจฉาชีพใช้หลอกลวงมากที่สุด คือ โทรศัพท์ การส่งข้อความ SMS และแอพลิเคชั่นในโซเชียลมีเดีย เช่น Whatsapp Line Telegram Facebook Instagram
Jeff Kuo ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Gogolook กล่าวว่า สถานการณ์การหลอกลวงที่หลายประเทศในเอเชียเจอ คือ การขโมยข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ ( Identity theft) เช่น บัตรเครดิต บัญชีธนาคาร อีเมล์ การหลอกให้ซื้อของ และการหลอกให้ลงทุน แม้ว่าหลายคนจะมีความรู้เรื่องภัยจากการหลอกลวงออนไลน์ แต่ก็ยังถูกหลอก
อย่างแรกผู้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพจะถูกหลอกล่อด้วยสิ่งจูงใจที่เลิศมาก ต่อมาคือเขาตัดสินใจใจยอมเสี่ยง และเรายังเห็นว่า หลายคนตอบมิจฉาชีพเร็วเกินไป และสุดท้ายคือ การใช้เอไอ ที่บอกได้ยากว่าเป็นการหลอกหรือไม่
การหาทางรับมือกับการหลอกลวงสารพัดรูปแบบที่ซับซ้อนและแยบยลจึงเป็นสิ่งจำเป็น
มีตัวแทนของหน่วยงานประเทศต่างๆ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลถึงสถานการณ์การหลอกลวงออนไลน์ วิธีการจัดการ และที่สำคัญคือ หลังจากนี้ แต่ละประเทศจะมีความร่วมมือในการจัดการภัยไซเบอร์ได้อย่างไรบ้าง
พลตำรวจโทธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมเสวนาเรื่องการรับมือภัยการหลอกลวงกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ จากหลายประเทศ กล่าวว่า การหลอกลวงของมิจฉาชีพในหลายประเทศเป็นองค์กรอาชญากรรม ใช้ฐานที่ตั้งในการหลอกลวงในต่างประเทศ ทำให้การเข้าถึงหรือการจับกุมคนร้ายมีข้อจำกัด ในอนาคตประเทศต่างๆ จึงควรมีกลไกต้านภัยการหลอกลวงร่วมกัน
ความร่วมมือระหว่างประเทศสำคัญมาก วันนี้ที่เรามาสัมมนา ผมเห็นหลายๆ ประเทศเริ่มต้นสร้างจุดเชื่อมโยงต่าง ๆ ผมคิดว่าสำหรับประเทศไทยแล้ว เราต้องมีแพลตฟอร์ม ต้องมีการพัฒนา Center อาจจะมีแพลตฟอร์มขึ้นมา เพื่อจะเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศต่างๆ ผมคิดว่าตรงนี้มีความสำคัญมาก
เวทีนี้ยังมีการพูดถึงการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น AI Bigdata มาช่วยสกัดกลลวงของมิจฉาชีพ
อย่างเมื่อก่อนมิจฉาชีพอาจอยู่แค่ในสายโทรศัพท์โทรมาหลอก ในอนาคตเริ่มส่งลิงก์ SMS ปลอมมาหลอก มีเว็บไซด์ปลอมส่งมาหลอก หรือหลอกให้กดแอพพลิเคชั่นผ่านมือถือ Whoscall เราก็พัฒนาการป้องกันทั้งสายมิจฉาชีพ สามารถพัฒนาไปจนถึงสามารถระบุ SMS ได้ แล้วตอนนี้เรามี Feature สามารถเช็คลิงก์ URL ได้ด้วย เราก็สามารถแค่ Copy Link URL เข้ามา และมาเช็คความปลอดภัยของลิงก์ได้เลย ก่อนที่เราจะเข้าไป
ตัวแทนหน่วยงานจากประเทศต่างๆ มีข้อเสนอในเวทีนี้ ให้มีการการพัฒนาเทคโนโลยีที่เท่าทันกลลวงของมิจฉาชีพ และสร้างความตระหนักรู้ต่อเนื่องผ่านสื่อที่หลากหลาย เพื่อปกป้องประชาชนในแต่ละประเทศไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ